รีวิวอัลบั้ม Taylor Swift - The Tortured Poets Department แด่คณะกวีชีช้ำแสนทุกข์ทรมาน
‘The Tortured Poets Department’ (2024) คือชื่ออัลบั้มลำดับที่ 11 ของ Taylor Swift โดยเธอเผยว่าเป็นการรวบรวมเพลงที่เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต สะท้อนผ่านความเห็น มุมมอง และอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละห้วงเวลา มีทั้งช่วงที่สะเทือนใจและโศกเศร้า จนร้อยเรียงออกมาเป็นบทเพลงจำนวน 31 แทร็ก โดยยังคงร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ Jack Antonoff และ Aaron Dessner
ย้อนกลับไปในปี 2022 หลังจากที่อัลบั้ม Midnights ทำออกมาเสร็จสมบูรณ์ เทย์เลอร์ก็เริ่มคิดถึงการทำอัลบั้มใหม่ที่บอกเล่าเส้นทางชีวิต ซึ่งต่อมาก็คือ ‘The Tortured Poets Department’ (เรียกสั้นๆ ว่า ‘Tortured Poets’) เธอบอกว่าจำเป็นต้องทำอัลบั้มชุดนี้ให้ได้ ไม่มีอัลบั้มไหนที่ต้องใช้ทักษะการเขียนเพลงมากเท่านี้มาก่อน
ระหว่างที่ทัวร์คอนเสิร์ต The Eras Tour ปี 2023 เทย์เลอร์ก็เผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อเลิกรากับโจ อัลวิน (Joe Alwyn) นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษที่คบหามานานกว่า 6 ปี “ฉันคลั่งรักมาก จนไม่สามารถหยุดเขียนเพลงเกี่ยวกับเขาได้เลย” คือสิ่งที่เทย์เลอร์เคยพูดถึงอดีตคนรัก โดยนับตั้งแต่อัลบั้ม ‘Reputation’ (2017) เป็นต้นมา เพลงรักฮิตๆ แทบทุกเพลงก็ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากโจนั่นเอง เช่น Delicate, Gorgeous, Lover, Cruel Summer, London Boy, Invisible String, Lavender Haze, Sweet Nothing และอีกมากมาย
แน่นอน, หลายคนจึงพุ่งเป้าว่าอัลบั้ม ‘Tortured Poets’ จะต้องเต็มไปด้วยอารมณ์ดิ่งเศร้าและความรู้สึกต่างๆ ที่สื่อไปถึงคนรักเก่าให้สมกับชื่ออัลบั้มคณะกวีชีช้ำแสนเศร้าระทม แม้จะมีการพูดถึงโจ และแฟนคนปัจจุบันอย่าง ‘ทราวิส เคลซ์’ (Travis Kelce) ทว่าสิ่งที่เซอร์ไพรส์กว่าก็คือ ยังมีเรื่องราวของชายหนุ่มอีกคนที่เทย์เลอร์เคยเดตด้วยในระยะเวลาสั้นๆ แต่ดูเหมือนจะสร้างความทรงจำให้เธอกลับมารำพันบทเพลงถึงเขา จนแทบจะกลายเป็นธีมหลักของอัลบั้มชุดนี้ โดยแฟนๆ เชื่อว่าผู้ชายคนนั้นก็คือ ‘แมตตี้ ฮีลีย์’ (Matty Healy) ฟรอนต์แมนชาวอังกฤษแห่งวง The 1975
อัลบั้มชุดนี้เปิดตัวด้วยแทร็กแรกอย่าง ‘Fortnight’ ที่ได้ร่วมงานกับ Post Malone ในส่วนของมิวสิกวิดีโอสีขาวดำ เทย์เลอร์ได้แรงบันดาลใจมาจาก Clara Bow นักแสดงภาพยนตร์เงียบที่เคยโด่งดัง และอัลบั้มนี้ก็ยังมีเพลงที่ใช้ชื่อว่า ‘Clara Bow’ อีกด้วย เปรียบเทียบชีวิตหญิงสาวที่ต้องรับมือกับความโด่งดัง โดนสื่อตามติดชีวิตส่วนตัว รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเผชิญ (ลูกหลานของ Clara Bow ได้ขอบคุณเทย์เลอร์ที่ให้เกียรติในการตั้งชื่อเพลงนี้)
ในเพลง ‘Fortnight’ มีท่อนหนึ่งที่บอกว่า “All my mornings are Mondays stuck in an endless February” ทุกๆ เช้าราวกับชีวิตของเธอยังคงวนเวียนอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ไม่จบสิ้น ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 เป็นช่วงที่มีข่าวลือว่าเทย์เลอร์เลิกรากับโจ ส่วนในเพลงบอกลาอย่าง ‘So Long, London’ ก็เชื่อมโยงถึงโจเช่นเดียวกัน เพราะในปี 2019 เธอก็เคยปล่อยเพลงชื่อ ‘London Boy’ เป็นเพลงอินเลิฟที่พูดถึงการตกหลุมรักหนุ่มลอนดอน ซึ่งก็คือโจ อัลวิน
ส่วนแทร็กที่สอง ‘The Tortured Poets Department’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอัลบั้ม แฟนๆ ค่อนข้างมั่นใจว่าสื่อถึงแมตตี้แห่ง The 1975 อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นประโยคแรกของเพลงอย่าง “You left your typewriter at my apartment” แมตตี้เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาชอบใช้พิมพ์ดีด รวมถึงบทสนทนาที่คุยกันว่า “Charlie Puth ควรจะโด่งดังกว่านี้” ซึ่งแมตตี้เคยโพสต์บน X ว่าเขาเป็นแฟนเพลงของศิลปินคนนี้
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายๆ เพลงที่พูดถึงชายหนุ่มที่มีรอยสัก มีพฤติกรรมย้อนแย้ง โดนสื่อรุมถล่ม ถูกวิจารณ์ด้านพฤติกรรม ฯลฯ รวมถึงเคยมีกระแสแอนตี้จากแฟนๆ ที่ไม่เห็นกับการเดตผู้ชายคนนี้ ทว่าอารมณ์ศิลปินและความขัดแย้งบางอย่างของเขา ก็ได้มอบความทรงจำโรแมนติกกลับไปให้เธอ โดยหนึ่งในเพลงที่เราชอบที่สุดของอัลบั้มนี้คือ ‘Guilty as Sin?’ เล่าถึงหนุ่มที่ส่งเพลง “Downtown Lights” ของวง Blue Nile มาให้เธอฟัง (แมตตี้เคยโพสต์เพลงของศิลปินวงนี้บน X)
แม้เทย์เลอร์จะรู้ว่าเขาเป็นคนที่ไม่แน่นอนและค่อนข้างขัดแย้งในตัวเอง และการเดตกับคนนี้อาจนำเรื่องยุ่งยากมาให้เธอ แต่บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าทั้งคู่จะเป็นอย่างไรหากตัดสินใจคบกันจริงๆ เหมือนในเนื้อเพลงท่อนนี้ “He's a paradox, I'm seeing visions. Am I bad or mad or wise?” เขาเป็นพวกย้อนแย้ง ฉันมองเห็นภาพข้างหน้าแล้วล่ะ (หากคบกับเขา) นี่ฉันเป็นคนไม่ดี คนบ้า หรือคนฉลาดกันแน่นะ?
“What if he's written "mine" on my upper thigh only in my mind?
One slip and fallin' back into the hedge maze
Oh, what a way to die”
“หากเขาเขียนคำว่า ‘ของผม’ (ชื่อเพลงของวง The 1975) ลงบนต้นขาฉันล่ะ นี่คิดเล่นๆ ในหัวนะ
ก้าวพลาดไปก้าวหนึ่งก็เหมือนตกลงไปในเขาวงกต
นี่มันหนทางสู่หายนะชัดๆ”
สังเกตว่าเนื้อเพลงของอัลบั้มนี้มีความเป็นส่วนตัวมาก และมีการหยิบบทสนทนาเฉพาะตัวมาใส่ไว้ด้วย หลายเพลงจะมีการพูดถึงชื่อศิลปิน นักแสดง นักกวี บทกวี ภาพยนตร์และเพลงยุคเก่า โดยใช้สิ่งเหล่านี้มาเปรียบเปรยให้เข้ากับเนื้อหาในแต่ละบทเพลง ทำให้คนฟังต้องไปหาความเชื่อมโยงและตีความกันเองอีกครั้ง ในอีกแง่หนึ่งภาพรวมของเนื้อหาค่อนข้างเน้นไปทางความรู้สึกสิ้นหวังในความสัมพันธ์ที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนของผู้คนศตวรรษนี้
ส่วนตัวมองว่า ‘Tortured Poets’ คืออัลบั้มที่เทย์เลอร์ใช้ระบายความรู้สึกเพื่อบันทึกเรื่องราวส่วนตัวไว้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่อัลบั้มอกหัก แต่สะท้อนมุมมองชีวิตที่เติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้น ไม่ได้ฟูมฟายหรือมานั่งก่นด่าความผิดหวังเหมือนสมัยวัยรุ่นอีกต่อไป ทว่าเป็นพาร์ทของการเรียนรู้ที่จะรับมือและดื่มด่ำกับความรู้สึกปวดร้าวนั้น ราวกับเทย์เลอร์ได้หยิบ ‘ความชีช้ำ’ มาใช้เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรี
ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นอัลบั้มเรียบๆ ที่ไม่ได้มีเพลงไหนโดดเด่น ใครที่คาดหวังว่าจะได้ฟังเพลงที่แหวกแนว ดนตรีฉูดฉาด อาจจะผิดหวัง เพราะภาพรวมของ ‘Tortured Poets’ ให้ความรู้สึกว่าแต่ละบทเพลงมีเมโลดี้คล้ายๆ กันหมด อีกทั้งยังมีถึง 31 แทร็ก ซึ่งเป็นจำนวนเพลงที่เยอะมาก ต้องใช้เวลาฟังกว่า 2 ชั่วโมง นานพอๆ กับการชมภาพยนตร์สักเรื่อง จนทำให้เหนื่อยในการไล่ฟังจนครบทุกเพลง แถมยังต้องตีความเนื้อหาไปด้วย
ในอีกแง่หนึ่ง ‘Tortured Poets’ ก็ไม่ใช่อัลบั้มที่ต้องการให้ทุกคนโฟกัสที่ดนตรีหรือเพลงแนวใหม่ๆ ทว่าเป็นการเน้นโชว์ความสามารถด้านการแต่งเพลงของเทย์เลอร์เสียมากกว่า จุดเด่นจึงอยู่ที่ ‘เนื้อเพลง’ สังเกตว่ามีการใช้คำศัพท์ยากและชื่อเฉพาะที่ต้องเชื่อมโยงไปถึงบทกวี นวนิยาย หรือวรรณกรรม อาจถูกใจคนที่ชื่นชอบการตีความ จนแฟนๆ ยังแซวกันเองว่า ต้องเปิดดิกชันนารีควบคู่ไปกับการฟังเพลง
คิดว่าจุดที่ต้องใช้ความอดทนอย่างมากในการฟังเพลงอัลบั้มนี้คือ ปริมาณเพลงที่มีจำนวนมากถึง 31 แทร็ก แต่ละเพลงก็มีเมโลดี้เรียบๆ คล้ายคลึงกัน ต้องฟังหลายๆ รอบ หลายคนยังตัดสินใจไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะเลือกเพลงไหนเป็นเพลงโปรด บ้างก็ยังไม่ได้ตามไปอ่านเนื้อเพลงหรือตีความหมายแต่ละแทร็กให้ลึกซึ้ง
แต่จะว่าไปก็คล้ายๆ กับการอ่านหนังสือบทกวีสักเล่มนั่นแหละ เราอาจไม่ได้อ่านรวดเดียวจบ อาจสุ่มเปิดบางหน้าขึ้นมา เจอทั้งบทที่ชอบและไม่ชอบ บทนี้อิน บทนี้ไม่อิน เพราะประสบการณ์หรือความรู้สึกแต่ละแบบมันมีจังหวะเวลาที่เดินทางมาทักทายชีวิตแต่ละคนไม่พร้อมกัน
จริงอยู่ที่ว่าคนเรามักเลือกที่ซ่อนเรื่องราวของใครบางคนไว้ในความทรงจำ เพราะที่นั่นสงบ ปลอดภัย และเป็นนิรันดร์ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ แต่สำหรับเทย์เลอร์แล้ว เธอเลือกที่จะย้ายเรื่องราวในความทรงจำนั้น มาบรรจุไว้ในบทเพลงที่เปรียบเสมือนสมุดบันทึกบทกวีฉบับของตัวเอง
อัลบั้มนี้พิสูจน์แล้วว่า ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ เป็นศิลปินป๊อบสตาร์ที่มีความหลงใหลในบทกวีโรแมนติก และหากเธอเป็นนักกวี ก็เชื่อได้เลยว่าเธอจะไม่ยอมปล่อยให้ความทรงจำใดหล่นหายไปจากปลายปากกาแน่นอน
ยืนยันได้ด้วย 31 เพลงใน 1 อัลบั้ม ที่แฟนๆ ต้องใช้เวลามากถึง 2 ชั่วโมง 2 นาที ถึงจะจบหลักสูตรหนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็น ‘คู่มือคลายเศร้า’ ให้แก่เหล่าสมาชิกแห่งคณะกวีชีช้ำแสนทุกข์ทรมาน แต่ขณะเดียวกันก็คล้ายๆ กับ ‘อัลบั้มทดลองตามใจฉัน’ ที่ไม่ได้มีความ Commercial Pop
สุดท้ายนี้ อัลบั้มบทกวีของเทย์เลอร์ที่เต็มไปด้วยตัวละครมากมาย ก็น่าจะมีสักเสี้ยวนาทีที่ชวนให้คนฟังได้ครุ่นคิดว่า คงจะเป็นเรื่องที่โรแมนติกดี หากพบว่าเพียงสักครั้งหนึ่งที่เรื่องราวของเรา ได้ไปปรากฏในบทกวี บทเพลง บทภาพยนตร์ หรือแม้แต่งานเขียนของใครสักคน...
- เพลงแนะนำ
1. Guilty as Sin?
2. Florida!!!
3. Down Bad
4. The Alchemy
5. The Tortured Poets Department
คะแนน: 3.5/5
Story by ตติยา แก้วจันทร์