จุดเริ่มต้นและประวัติศาสตร์ของร็อกแอนด์โรล
ทุกวันนี้คนชอบกล่าวหรือกระทั่งเถียงกันในประเด็นว่า “ดนตรีร็อคตายแล้ว” ปัญหาคือแล้ว “ความตาย” ที่ว่า มันมี “นิยามเชิงปฏิบัติการ” ยังไง หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ อะไรต้องเกิดขึ้นถึงจะเคลมว่าดนตรีร็อคตายไปแล้ว แน่นอน นี่เป็นสิ่งที่เถียงกันได้ไม่จบ
อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ดูจากจะเกิดจากการที่เราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากกว่า เพราะถ้าเราคิดนิดหน่อยถึงตอน “การเกิด” ของร็อคแอนด์โรลมันจะตอบง่ายขึ้นมาก เพราะ “การเกิด” ของร็อคแอนด์โรลนั้นในแง่หนึ่งก็คือ “ความตาย” ของดนตรีแจ๊ส ที่เป็นดนตรียอดนิยมก่อนหน้าร็อคแอนด์โรล
---เมื่อนักดนตรีแจ๊สไม่อยากให้คุณเต้น---
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน ในทศวรรษ 1920s ดนตรี “แจ๊ส” มันยิ่งใหญ่มาก คือมันขยายตัวในวงกว้างสุดๆ ในอเมริกาและในโลก เรียกได้ว่าเป็นดนตรีวัยรุ่นโดยสมบูรณ์ ซึ่งแจ๊สทุกวันโน้นก็ไม่ได้หน้าตาเหมือนทุกวันนี้ที่เราเข้าใจกัน และดนตรีแจ๊สยุคนั้นทุกวันนี้เขาจะเรียกว่า “สวิงแจ๊ส” (Swing Jazz)
อย่าเข้าใจผิดว่าเพลงแจ๊สยุคนั้นคนจะนั่งฟังนักดนตรีอิมโพรไวซ์กันอย่างทุกวันนี้ เพราะบรรยากาศของดนตรีแจ๊สยุคนั้นมันคือดนตรียอดฮิต “ดนตรีร้านเหล้า” ที่คนฟังเขาไม่มานั่งเฉยๆ เขาเต้นกัน
และพอดนตรีแบบนี้ได้รับความนิยมมากๆ มันก็ต้องเล่นในที่ใหญ่ขึ้น เพื่อคนจะได้เต้นกันมากขึ้น แต่ยุคนั้นเทคโนโลยีขยายเสียงมันไม่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วงแจ๊สมันเลยต้องขยายใหญ่เพื่อให้เล่นเสียงดังขึ้น และนั่นคือที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “บิ๊กแบนด์” ซึ่งเป็นช่วงที่แจ๊สบูมสุดๆ ในช่วง 1930s ในอเมริกา
ที่นี้พอเข้ามา 1940s นักดนตรีแจ๊สในอเมริกาที่โคตรยิ่งใหญ่ทั้งหลายเริ่มมีความรู้สึกว่าพวกเขาเบื่อที่จะเล่นดนตรีให้คนออกมาเต้น เพราะดังที่หลายๆ คนรู้กัน นักดนตรีแจ๊สนั้นชอบการอิมโพรไวซ์ และการอิมโพรไวซ์ยาวๆ นี่คือเรื่องปกติตอนเล่นจริง (แต่เราจะไม่เห็นอะไรพวกนี้ในงานบันทึกเสียงยุคแรก เพราะ “แผ่นเสียงมาตรฐาน” สมัยโน้นมันอัดเพลงได้ฝั่งละ 2-3 นาที เพลงมันเลยยาวเท่านั้น)
แต่ทีนี้ถ้าคนมันจะฟังแจ๊ส แล้วจะกินเหล้ากัน จะเต้นกัน ใครมันจะสนใจเพลง? หรือพูดอีกแบบจะตั้งใจเล่นไปทำไมถ้าคนไม่ตั้งใจฟัง? ซึ่งตรงนี้จะบอกว่ามันถึงจุดของประวัติศาสตร์ที่นักดนตรีแจ๊สคนดำอเมริกันเริ่มมองตัวเองว่าเป็น “ศิลปิน” ไม่ใช่ “นักดนตรีร้านเหล้า”
และตั้งคำถามว่าทำไมคนมันไม่นั่งตั้งใจฟังเพลงของพวกเขาแบบที่ฟังเพลงคลาสสิคของคนขาว? หรืองานของพวกเขาไม่ใช่ “ศิลปะ” พอ? ทำไมพอมันเป็นดนตรีคนดำ คนมันจะต้องฟังแล้วเต้นแร้งเต้นกาควบคุมตัวเองไม่ได้เสมอไป?
ในแง่นี้ นักดนตรีแจ๊สชื่อดังทั้งหลาย ก็เริ่มพยายามจะทำเพลงให้มัน “อาร์ต” ขึ้น คือเต้นยากขึ้นเพราะจังหวะเร็วเกินบ้าง หา “จังหวะตก” ไม่เจอบ้าง ใส่เมโลดี้ประหลาดๆ ที่ไม่ติดหูและอิมโพรไวซ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บ้าง
โดยยุคที่นักดนตรีแจ๊สทำแบบนี้คือยุค 1940’s ที่ถูกขนานนามว่า “ยุคบีบ็อป” หรือยุคที่เกิด “บีบ็อปแจ๊ส” () ที่ต้องหาคอร์ดประหลาดๆ โน๊ตประหลาดๆ มาเล่น จังหวะก็ห้ามเล่นจังหวะตกให้มัน “โยก” ได้ ไม่งั้นมันไม่แจ๊ส (ซึ่งก็คือวิธีคิดแบบ “แจ๊ส” ที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้นี่แหละ)
ตอนแรกคนฟังก็ดื้อ จะเต้นตามดนตรีประหลาดๆ นี้ แต่นักดนตรี ก็ดื้อเช่นกัน เล่นให้มัน “เต้นตามยาก” ขึ้น จนในที่สุดคนฟังก็ยอมแพ้ยอม “นั่งฟัง” ดนตรีแจ๊สแบบทุกวันนี้ในช่วงปลาย 1940’s
จะบอกว่านั่นคือ “ความตาย” ของดนตรีแจ๊สในฐานะดนตรียอดฮิตก็ได้ แต่นั่นก็เป็น “ความตาย” แบบ “จงใจ” คือนักดนตรีที่เรียกตัวเองว่าแจ๊สมันไม่เอาแล้วเล่นดนตรีมวลชนให้คนกินเหล้าเมาแล้วเต้น แต่มันอยากเล่นอะไร “อาร์ตๆ” ให้คนที่ตั้งใจฟังเท่านั้นฟัง แต่ปัญหาคือ แล้วคนจะเต้นกับอะไรล่ะ?
---จากจัมป์บลูส์สู่ริธึ่มแอนด์บลูส์---
กระแสการจงใจทำเพลงยากๆ เพื่อให้คนเต้นตามไม่ได้ของนักดนตรีแจ๊สอเมริกันเริ่มในช่วงต้น 1940s และไปหนักข้อมากๆ ตอนกลาง 1940s ซึ่งผลก็คือทำให้พวกร้านเหล้านั้นปวดกบาลมาก เพราะพวกนักดนตรีแจ๊สที่ยุคนั้นเป็น “บิ๊กแบนด์” มันเริ่มเล่นอะไรที่คนไม่อยากเต้นกันมากขึ้น
และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบในปี 1945 บรรยากาศมันไม่หดหู่แล้ว คนมันเริ่มมองโลกในแง่ดีและออกมาสังสรรค์กันร้านเหล้ามากขึ้นแล้ว เศรษฐกิจกำลังจะทะยานแล้ว แต่วงแจ๊สตามร้านเหล้ายันไม่อยากเล่นดนตรีแบบเดิมอีกแล้ว แต่ถ้ามีเงินให้ มันก็มีนักดนตรีที่จะเล่นดนตรีให้คนเต้นแหละ
ในความเป็นจริงยุคนั้น ในขณะที่นักดนตรีกลุ่มหนึ่งพยายามจะทำแจ๊สให้ซับซ้อนขึ้น ให้ออกห่างจากบลูส์ที่เป็นรากฐานมากขึ้น และเรียกว่านี่แหละ “แจ๊สของแท้” ที่คู่ควรกับการนั่งตั้งใจฟัง
แต่นักดนตรีอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามทำกลับกัน คือจะทำให้ดนตรีแจ๊สให้มันเรียบง่ายขึ้น กลับไปหารากฐานแบบบลูส์ขึ้น มีจังหวะซ้ำๆ เมโลดี้ซ้ำๆ จังหวะกระแทรกๆ เพื่อให้คนเต้นได้ง่ายๆ
และพวกนักดนตรีกลุ่มหลังนี่แหละที่เขาเรียกว่า “จัมป์บลูส์” (Jump Blues) ในยุคนั้น โดยชื่อนี้มันได้มาเพราะว่า คนฟังยุคนั้นมันรู้สึกว่าเพลงมัน “มันส์จนคุณต้องกระโดด” อันเป็นทิศทางตรงข้ามกับพวก “แจ๊สของแท้” ในยุคเดียวกันที่พยายามจะทำเพลงให้มันฟังยากจนคุณต้องนั่งฟัง ซึ่ง “จัมป์บลูส์” ถ้าคุณฟังทุกวันนี้ คุณก็จะรู้สึกว่ามันคือดนตรีร็อคแอนด์โรลที่เครื่องดนตรีหลักเป็นแซ็กโซโฟน และเสียงเบสเป็นดับเบิลเบสดีๆ นี่เอง
พูดง่ายๆ ก็คือมันคือ ดนตรี “โปรโตร็อคแอนด์โรล” แท้ๆ เลย แค่เขาไม่เรียกกันแบบนั้น เพราะยุคนั้น ไปบอกว่าเล่น “ร็อคแอนด์โรล” มันไม่มีใครเข้าใจว่าหมายความว่ายังไง คำว่า “จั๊มบลูส์” มันตรงไปตรงมากว่ามากว่าคุณเล่นบลูส์ แต่บลูส์คุณไม่เศร้า และมันสนุกจนคนฟังฟังแล้วต้องกระโดดโลดเต้น
ดนตรีจัมป์บลูส์เริ่มฮิตช่วงครึ่งหลัง 1940s แต่ปัญหาคือ ชื่อมันไม่เท่พอ ทางค่ายเพลงก็เลยรีแบรนด์ดนตรีแนวนี้ใหม่โดยตอนแรกเรียกว่า “บลูส์แอนด์ริธึ่ม” (Blues & Rhythm) หรือพูดง่ายๆ ก็เรียกมันว่าบลูส์ที่มีจังหวะสนุกๆ
แต่ชื่อนี้ นิตยสาร Billboard คิดว่ามันฟังดูไม่ไพเราะ ก็เลยเปลี่ยนชื่อใหม่สลับคำหน้าหลังเรียกว่าริธึ่มแอนบลูส์ (Rhythm & Blues) พร้อมๆ กับเปิดตัวชาร์ตเพลงริธึ่มแอนบลูส์ในปี 1949 โดยชื่อมันยาว ก็เลยเรียกว่า R&B
ใช่ครับจั๊มบลูส์กับ R&B ในยุคโน้นมันคือสิ่งเดียวกัน อุตสาหกรรมดนตรีมันแค่ “เปลี่ยนชื่อเรียก” คุณไปฟัง มันคือสิ่งเดียวกันเลย มันคือ “เพลงคนดำสนุกๆ” ที่ฮิตในช่วงปลายทศวรรษ 1940s ที่โครงสร้างพื้นฐานมันคือบลูส์ แต่จังหวะมันสนุก ดนตรีรวมๆ เรียบง่าย สั้นๆ
แต่ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่ามันคือเพลงแบบไหน ก็ต้องรอดนตรีแนวนี้ถูก “เปลี่ยนชื่อ” ครั้งต่อไปเป็นชื่อที่คุณคุ้นกันแบบ "ร็อคแอนด์โรล"
---จากริธึ่มแอนบลูส์สู่ร็อคแอนด์โรล---
ร็อคแอนด์โรลคือ R&B มันไม่มีอะไรต่างกัน และเราก็สามารถได้ยินคำยืนยันจาก “นักดนตรี R&B อเมริกันช่วงต้นและกลางยุค 1950s” แทบทุกคนที่ภายหลังถูกมองว่าเป็นนักดนตรีร็อคแอนด์โรล เรียกได้ว่าตั้งแต่ Bo Diddley, Chuck Berry ยัน Elvis Presley ยืนยันตรงกันหมด
และถ้าดนตรี จัมป์บลูส์คือ R&B ดังที่เล่ามาแล้ว ดังนั้นพูดง่ายๆ ดนตรีร็อคแอนด์โรล มันเกิดตั้งแต่กลาง 1940s กับดนตรีจัมป์บลูส์แล้ว แค่คนยังไม่เรียกมันแบบนั้น แต่ทำไมคนยังยืนยันว่าร็อคแอนด์โรลเกิดกลาง 1950s?
แน่นอน “ชื่อแนวดนตรี” มันเพิ่ง “ฮิต” กลาง 1950s แน่ๆ จากฝีมือของ Alan Freed ดีเจคนขาว ที่ประวัติศาสตร์มักจะจดจำว่าเป็น “ผู้บัญญัติคำว่าร็อคแอนด์โรล” (ซึ่งไม่จริง เพราะคำนี้เป็นคำที่ใช้พูดถึงดนตรีดนดำสนุกๆ ในช่วงครึ่งหลัง 1940s อยู่แล้ว แค่มันไม่ฮิต) แต่ที่สำคัญกว่านั้นมันคือเรื่องของ “เชื้อชาติ”
ในตอนแรก สิ่งที่เรียกว่าดนตรีแนว R&B มันไม่ได้หมายความถึงดนตรีรูปแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มันใช้เรียกรวมๆ ถึง “ดนตรีคนดำยุคใหม่” สนุกๆ และในทางประวัติศาสตร์ก็รู้กันว่าเวลาพูดถึงชาร์ต R&B ของ Billboard ความหมายคือ “เพลงที่คนดำฮิตกัน” ชาร์ตนี้ตอนแรกมันเรียกว่า Harlem Hit Parade หรือชาร์ต “เพลงฮิตจากย่านคนดำ” ด้วยซ้ำก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อชาร์ตเป็นเป็น R&B ในปี 1949 ในที่สุด
ดังนั้นในแง่นี้ แม้ว่าดนตรีแบบ “จัมป์บลูส์” R&B ในสไตล์ 1940s จะฮิตในหมู่วัยรุ่นคนดำอเมริกันแล้วในช่วงต้น 1950s แต่นี่ไม่ใช่อะไรที่ “คนขาว” ฟัง และมันเป็นแบบนั้นก็เพราะในอเมริกาช่วงนั้น “เส้นแบ่งทางสีผิว” มันชัดมาก คือการที่คนขาวฟังเพลงคนดำ หรือคนดำฟังเพลงคนขาว มันไม่ใช่เรื่องปกติเลย และคนที่ทำแบบนั้นก็ต้องมี “ความขบถ” ในระดับหนึ่ง
ซึ่งถ้าย้อนไป ก็จะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตอนแรกเลยคนขาวก็ไม่ฟังเพลงแจ๊สในยุคที่คนดำเล่น แต่มันเริ่มมาฟังเพลงพวกนี้แพร่หลายในยุคที่คนขาวเล่นน่ะแหละ R&B ก็เช่นกัน สมัยที่มันเป็น “เพลงคนดำ” คนขาวแทบไม่ฟัง แต่พอคนขาวเริ่มเล่นนั่นแหละ คนขาวถึงจะฟัง
และคนที่มีบทบาทนำเพลง R&B ไปให้คนขาวฟังก็คือดีเจคนขาวนามว่า Alan Freed แน่ๆ แต่สิ่งที่เขาเพิ่มเติมและ “รีแบรนด์” ดนตรีแนวนี้ก็คือ เขา “เปลี่ยนชื่อ” (อีกแล้ว) เป็น ร็อคแอนด์โรล (Rock & Roll)
ซึ่งพอมันฮิต คนขาวทุกคนก็เลยเรียกดนตรีแบบนี้ว่า “ร็อคแอนด์โรล” และทำให้เหล่าสุดท้ายพวกนักดนตรีออกมายืนยันตรงกันว่า เฮ้ย ดนตรีแบบนี้มันมีนานแล้ว แค่สมัยก่อนมันเรียกว่า R&B
---บทส่งท้าย---
ที่เล่ามาทั้งหมด สิ่งที่อยากให้เห็นภาพก็คือจริงๆ มันมีความต่อเนื่องกันของดนตรีคนดำกลาง 1940s กับสิ่งที่เรียกว่าร็อคแอนโรลของคนขาวช่วง 1950s มากๆ ในระดับที่เรียกว่าในทางดนตรีมันคือสิ่งเดียวกัน แต่ประเด็นที่อยากจะเน้นเพื่อปิดท้ายก็คือมิติความเป็น “เพลงแดนซ์” ของดนตรีร็อคที่เราลืมไปแล้ว ใช่ครับ เพลงร็อคแอนด์โรลมันเอาไว้เต้น เพลงร็อคแอนโรลยุคแรกไม่มีใครไม่เต้นกับมัน และเอลวิสคือราชาเพลงแดนซ์ของยุคนั้น
ซึ่งถามว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ก็กลับไปที่เล่าตอนแรกแหละครับ คือพวกนักดนตรีแจ๊สยุค 1940s เริ่ม “ไม่อยากให้คนเต้น” ก่อน คนดำอีกกลุ่มเลยพยายามจะสร้าง “ดนตรีแนวใหม่” เพื่อตอบสนองคนอยากเต้น ดนตรีพวกนี้ตอนแรกฮิตในหมู่คนดำ ตอนแรกมันเรียกจั๊มบลูส์ และถูกเปลี่ยนชื่อให้เท่ห์ขึ้นเป็นริธึ่มแอนด์บลูส์ และสุดท้ายพอคนขาวเอาดนตรีแบบนี้ไปเล่น มันก็ชื่อว่าร็อคแอนด์โรล
แต่อยากให้ช่างหัวชื่อแนวเพลงไปก่อนครับ เพราะที่พยายามสื่อมาทั้งบทความก็คือ ไม่ว่าจะเรียกอะไร ดนตรีคนดำสนุกๆ ในสไตล์ยุค 1940s มันคือดนตรีแบบเดียวกับดนตรีที่คนขาวฮิตๆ กันช่วงกลาย 1950s น่ะแหละ
และมิติที่ดนตรีพวกนี้มีร่วมกันก็คือ มันเป็นดนตรีเอาไว้เต้น และเมื่อนักดนตรีแจ๊สไม่อยากจะเล่นดนตรีให้คนเต้นอีกแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นช้าๆ ดนตรีมันส์ๆ พวกนี้ค่อยๆ แทนที่แจ๊สในพวกร้านเหล้า และคนก็ค่อยๆ เรียนรู้จะเต้นกับมัน
และมันก็มีจุดพีคตอนที่เอลวิสนั้นขึ้นเป็นราชาร็อคแอนโรลและพัฒนาท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์นี่แหละครับ ถ้ายังจำกันได้เอลวิสนี่คือ “นักร้องคัฟเวอร์” เน้นๆ นะครับ ไม่ได้มีเพลงตัวเองดังเลย คัฟเวอร์ล้วน เขาดังเพราะความสามารถในการร้องและเต้นบนเวที (และแน่นอนความหล่อด้วย)
ซึ่งที่ยกมาให้เห็นก็อยากจะย้ำในข้อเท็จจริงที่คนลืมกันไปแล้วว่า จริงๆ ร็อคแอนโรล มัน “ดัง” มาได้เพราะมันสามารถเป็น “เพลงแดนซ์” หลักของวัยรุ่นที่แทนที่เพลงแจ๊สครับ ไม่ว่านั่นจะเป็นวัยรุ่นคนดำหรือคนขาว
และในแง่นี้ “ความตาย” ของเพลงร็อคจริงๆ มันเริ่มมาตั้งแต่คนมัน “เลิกเต้น” กับเพลงร็อคแล้วครับ ซึ่ง “ความตาย” ตรงนี้จะไปสุดตรงไหนไม่รู้ แต่ข้อเท็จจริงที่ตลอดศตวรรษที่ 20 บอกเราก็คือ ถ้าจะดูว่าดนตรีอะไรคือดนตรียอดนิยมอันดับ 1 ของวัยรุ่น สิ่งที่ต้องดูไม่ใช่ว่าคนมัน “ฟัง” อะไร แต่ต้องดูว่าถ้าจะเต้นคนมัน “เต้น” กับอะไร
Guest Writer : FxxkNoEvil