‘Lisztomania’ ความคลั่งไคล้ก่อนกาล สู่เพลงฮิตของวง Phoenix
หากพูดถึงวงดนตรีสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Phoenix เชื่อว่าเพลงแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงคือ ‘Lisztomania’ แทร็กจากอัลบั้ม Wolfgang Amadeus Phoenix ที่ปล่อยให้ฟังเมื่อปี 2009 อีกทั้งยังถูกนำไปใช้ประกอบซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่อง เช่น Entourage, Mozart in the Jungle และภาพยนตร์เรื่อง Where the Wild Things Are
‘Lisztomania’ เป็นคำแสลงที่มีความหมายตามพจนานุกรม Urban Dictionary หมายถึง ‘คนที่ชอบฟังเพลงตลอดเวลา’ คำศัพท์แปลกๆ คำนี้ไม่ได้ถูกใช้ครั้งแรกโดยวง Phoenix แต่กลับมีบริบททางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนานเกือบ 200 ปี
คำนี้เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1841 โดย Heinrich Heine นักกวีชาวเยอรมัน เพื่อบรรยายถึงปรากฏการณ์ความคลั่งไคล้ของแฟนๆ ที่มีต่อ ‘ฟรันทซ์ ลิสท์’ (Franz Liszt) นักเปียโนและคอมโพสเซอร์ชาวฮังการี ระหว่างที่เขาทำการแสดงเปียโน ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เขาได้กลายเป็นนักเปียโนชื่อดังในยุโรปและมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ดนตรีแห่งศตวรรษที่ 19
ฟรันทซ์ ลิสท์ เริ่มเล่นเปียโนครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ มีพ่อเป็นคนสอน เขาฉายแววศิลปินตั้งแต่เด็ก วัยเพียง 11 ขวบก็เริ่มมีโชว์ครั้งแรก โดยสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน ไวโอลิน เซลโล่ และกีตาร์ อีกทั้งยังเติบโตเป็นนักดนตรีและคอมโพสเซอร์มืออาชีพ ที่มีความสนิทสนมกับศิลปินชื่อดังอีกหลายคน อาทิ Joseph Haydn, Johann Nepomuk Hummel รวมถึง Ludwig van Beethoven
จนกระทั่งปี 1839 ฟรันทซ์ ลิสท์ ได้ทัวร์ยุโรปและได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากแฟนๆ เสมอ ช่วงนี้นี่เองที่เริ่มมีแฟนๆ ติดตามชมการแสดงอย่างเหนียวแน่น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในราวเดือนธันวาคม 1841 เมื่อลิสท์ในวัย 30 ปี ไปเยือนเยอรมนี และต้องเล่นเพลง "Rheinweinlied" ร่วมกับกลุ่มนักเรียนราว 30 คน เกิดกระแสชื่นชมแบบปากต่อปาก จนทำให้หลายๆ คนเริ่มอยากมาชมการแสดงสดของศิลปินคนนี้
วันที่ 27 ธันวาคม 1841 เขาได้เปิดการแสดงเดี่ยวต่อหน้าผู้ชมที่สมาคม Sing-Akademie zu Berlin ในค่ำคืนนั้น การแสดงของฟรันทซ์ ลิสท์ ถูกพูดถึงอย่างมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ ‘Lisztomania’ นำไปสู่การเดินสายทัวร์ทั่วยุโรป พร้อมๆ กับสร้างความคลั่งไคล้ให้ผู้ชม
การแสดงของเขาทำให้ผู้ชมฟินถึงขั้นเปี่ยมปิติอย่างสูงสุด (ecstasy) แฟนๆ ถึงขั้นแย่งผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ และถุงมือของเขามาเก็บไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนี้บางคนถึงขั้นติดเข็มกลัดหรือห้อยจี้รูป ‘ฟรันทซ์ ลิสท์’ มีการบรรยายว่าแฟนๆ ผู้หญิงคลั่งไคล้มากขนาดขอเก็บสายเปียโนที่เขาทำขาดระหว่างการแสดงไว้ทำสร้อยข้อมือ บางคนก็นำขวดแก้วไปเก็บกากกาแฟเลยด้วยซ้ำ
Dana Gooley นักดนตรีวิทยา (Musicologist) อธิบายว่า ‘Lisztomania’ ไม่ได้ถูกใช้ในแง่เดียวกับคำว่า ‘Beatlemania’ ซึ่งใช้เรียกปรากฏการณ์ที่แฟนเพลงมีความรู้สึกชื่นชอบต่อวงดนตรี The Beatles อย่างมาก ในขณะที่ ‘Lisztomania’ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า ‘Liszt fever’ เป็นคำที่รุนแรงกว่ามาก ซึ่งในอดีตคำว่า ‘mania’ (บ้าคลั่ง, คลั่งไคล้) เคยถูกใช้ในทางการแพทย์
แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คำว่า ‘mania’ ถูกนำมาใช้ในป๊อปคัลเจอร์ เช่น ในวงการแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่นเกิดคำว่า ‘Beatlemania’ ขึ้น ส่งผลให้ mania ถูกใช้อย่างแพร่หลาย จนความหมายเดิมบิดเบือนและใช้ได้ในหลายบริบทมากขึ้น
Source:
• How Franz Liszt Became The World's First Rock Star
• Phoenix "Lisztomania"
Story By: ตติ