สัมภาษณ์: Violette Wautier ถึงอัลบั้มเต็มชุดแรก ‘Glitter and Smoke’ เพราะชีวิตมีทั้งโทนมืดและสว่าง
เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วนับจากวันที่ ‘วิโอเลต วอเทียร์’ ก้าวขึ้นเวทีประกวดร้องเพลงในรายการ The Voice Thailand (Season 2) ซึ่งการแจ้งเกิดของเธอในครั้งนั้น ทำให้เราได้เห็นเด็กสาวแววตามุ่งมั่นที่พกความฝันมาพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้จะมีหลายบทบาทในวงการบันเทิง แต่การเป็นศิลปินดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่วิโอเลตมุ่งหวังไว้ตั้งแต่แรก
แน่นอนว่าเรารู้จักเธอในฐานะศิลปินภายใต้ชื่อ Violette Wautier ที่ก่อนหน้านี้ได้ปล่อยผลงานซิงเกิ้ลต่างๆ ออกมาให้ฟังกัน และหลังจากทุ่มเทเวลากับงานเพลงเป็นกว่า 2 ปีครึ่ง ในที่สุดศิลปินหญิงคนนี้ก็ได้ปล่อยอัลบั้มแรกในชีวิต โดยใช้ชื่อว่า ‘Glitter and Smoke’ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวทั้งโทนมืด-สว่าง และมุมมองด้านต่างๆ ที่เธอได้เรียนรู้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงประสบการณ์ชีวิตที่วิโอเลตได้ก้าวผ่านและเติบโตจนกระทั่งเป็นตัวเธอในวันนี้
อัลบั้ม ‘Glitter and Smoke’ ไม่เพียงแต่ติดชาร์ตอันดับ 1 บน iTunes และ Apple Music ของประเทศไทย แต่เพลงในอัลบั้มนี้ยังฮิตติดท็อปชาร์ตถึง 12 ประเทศทั่วโลก ทางเสพย์สากลได้มีโอกาสพูดคุยกับวิโอเลตเกี่ยวกับผลงานอัลบั้ม เบื้องหลังการทำเพลง รวมถึงมุมมองเรื่องต่างๆ ที่จะทำให้เรารู้จักเธอมากขึ้น
เล่าถึงคอนเซปต์อัลบั้ม ‘Glitter and Smoke’ ให้ฟังหน่อย
จริงๆ ตอนแรกไม่ได้วางคอนเซปต์หรอกค่ะ ทำด้วยเซนส์เลย คิดว่ามู้ดแอนด์โทนมันน่าจะประมาณนี้นะ แต่พอมาดูภาพรวมของอัลบั้มทุกอย่างแล้วมันคือการเก็บสะสมความทรงจำไว้ แล้วชื่นชมมันค่ะ เป็นการรวมเรื่องราวต่างๆ หลากหลายมุมที่เติบโตขึ้นผ่านอัลบั้มชุดนี้ พอทำอัลบั้มเสร็จทำให้วีเห็นว่าจริงๆ แล้ว ทุกๆ เรื่องเราควรจดจำไว้เพื่อเป็นความทรงจำที่ดีค่ะ
ปล่อยอัลบั้มในช่วงสถานการณ์ COVID-19 พอดี ต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่ก็ทำผ่านออนไลน์นี่แหละค่ะ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีทีมพีอาร์และมาร์เกตติ้งของทาง Universal Music Thailand ที่คอยช่วยวางแผน ซึ่งเราก็พยายามครีเอทคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น อย่างล่าสุดก็มีทำ Visual Live Performance ของ Apple Music ออกมาให้ดูกัน และก็มีโปรโมตออนไลน์กับทางต่างประเทศ ใช้วิดีโอคอลหรือโปรแกรม zoom เข้ามาช่วย ก็ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกันค่ะ
อัลบั้มชุดนี้ได้ ‘โหน่ง-วิชญ วัฒนศัพท์’ มาช่วยด้านโปรดิวเซอร์ กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร
พี่โหน่งถือเป็นอาจารย์ของวีเลยค่ะ อัลบั้มนี้เราทำประมาณ 2 ปีครึ่ง ช่วงนั้นวียังเป็นศิลปินอิสระอยู่ ต้องเรียนรู้หลายอย่าง แล้วงานแสดงก็ยังทำอยู่ เราเลยบอกตัวเองว่าใจเย็นๆ อย่าเร่ง เพราะงั้นก็จะกดดัน แต่สุดท้ายก็เร่งอยู่ดี (หัวเราะ) ซึ่งพี่โหน่งได้เข้ามาช่วยเยอะมาก ปกติเวลาวีเขียนเนื้อเพลง วีเป็นคนที่ใช้คอมฯ เขียนไม่เป็น เวลาแต่งเพลงจะแต่งเนื้อร้องและ ทำนองไว้ แล้วค่อยมาหาพี่โหน่ง มาขึ้นดนตรีกัน
สิ่งหนึ่งที่วีรู้ว่าทำยากมากก็คือเรื่องบีท ไม่ค่อยแม่นจังหวะการทำบีทต่างๆ ทางพี่โหน่งจะถามวีว่าอยากได้เสียงประมาณไหน ไปคิดมาแล้วมานั่งคุยกันเพื่อหาสิ่งที่ใช่ วีบอกได้ยินเสียงแบบนี้นะ ต้องพยายามอธิบายให้พี่โหน่งฟัง แล้วเขาจะนำสิ่งที่วีบอกไปเติมเพิ่ม โดยเพิ่มในสิ่งที่เป็นของพี่โหน่งเองด้วย วีกับพี่โหน่งนั่งอยู่ในสตูแคบๆ ที่บ้านพี่โหน่งตลอดเวลา 2 ปีครึ่ง ช่วยกันทำเพลง พี่โหน่งให้ไอเดีย วีก็เห็นภาพขึ้นมาเลย เสียงไม่ใช่สิ่งที่อธิบายได้ง่ายขนาดนั้น ต้องใช้เซนส์ประกอบด้วย ยิ่งวีใช้คอมฯ ไม่เป็น ก็ต้องหาวิธีอธิบายให้ดีกว่าเดิม เพราะวีไม่รู้เรื่องวิธีหรือเทคนิคอะไรแบบนั้น ต้องปรับจูนขึ้น-ลง เท่านั้นเท่านี้ คัตดาวน์โทนยังไงก็ไม่ได้มีความรู้ วีจะใช้เซนส์ ส่วนพี่โหน่งจะช่วยในเรื่องเทคนิคค่ะ ความรู้แน่นมาก
ต้องกลั่นกรองทุกเรื่องราวมาจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งหมดเลยมั้ย จึงจะออกมาเป็น 9 แทร็กในอัลบั้ม
เพลงมีความเป็นส่วนตัวหมดเลยค่ะ แต่เพลงที่รู้สึกว่าเผยความรู้สึกเยอะสุด น่าจะเป็น “I’d Do It Again” ที่เผยทุกอย่างออกมา วีว่าทุกๆ คนน่ะเก็บความทรงจำและเรียนรู้จากความทรงจำของตัวเอง วีเป็นคนหนึ่งที่มีความโรแมนติก มีความมโน เพ้อฝันบางอย่าง วีเป็นคนดื่มด่ำกับความเป็นมนุษย์ มวลสารอารมณ์ทุกอย่าง และก็พลังงานที่ขับเคลื่อนชีวิตเรา บางครั้งเจอเรื่องจริงอะไรมา ก็นำมาเขียนเพลงไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็แต่งเติม วีคิดว่ามันไม่มีกฎตายตัวเลย
เพลงไหนใช้เวลาเขียนเร็วที่สุด
เพลง “Love and Money” เพราะมันสั้นมาก เนื้อร้องสั้นมากค่ะ เป็นเพลงที่แจมกับพี่โหน่ง เล่นเฉยๆ ในสตูดิโอ พี่โหน่งวางคอร์ดมา เดี๋ยวหนูเขียนสั้นๆ พอพี่โหน่งเริ่มขึ้นคอร์ด เราร้อง เฮ้ย! เวิร์ค ทำดนตรีต่อเลย ไม่ต้องมาหลายท่อน เขียนเสร็จภายใน 15-20 นาที รวมถึงการสร้างโครงเพลงแล้ว ถือเป็นการแจมที่สนุกมากค่ะ
แล้วเพลงไหนที่ใช้เวลาเขียนช้าที่สุด เค้นเท่าไรก็ยังหาคำลงไม่ได้
มี 2 เพลงค่ะ “I’d Do It Again” ไม่ได้เขียนยาก แต่ตอนแรกที่เริ่มเขียนนั้น เฮิร์ทมาก เขียนต่อไม่ได้เลย เพราะนั่งสมเพชตัวเองเกินไป (ยิ้ม) ก็เลยเก็บไว้ พอหนึ่งปีต่อมา กลับมาดูเนื้อเพลง ทีนี้แต่งได้เร็วเลยค่ะ ประมาณ 20-30 นาทีก็เสร็จ เหมือนเราตกตะกอนในเรื่องนั้น ส่วนเพลงที่แต่งยากมากคือ “All That I Can Do” เป็นโทนใหม่ที่เราต้องหาดนตรีที่มันพอดีกับความเป็นเรา เพราะที่ผ่านมาวีหาซาวนด์ความเป็นตัวเองในเพลงโทนดาร์กได้แล้ว
แต่สำหรับโทนสว่างวียังไม่รู้ เพราะปกติเพลงไทยที่เป็นโทนสว่างจะมีคนอื่นทำมาให้เลย แต่พอมาทำอัลบั้มเองทำให้ต้องค้นหาเองค่ะ วีเขียนท่อนเวิร์สมาได้แล้ว แต่หาคอรัสไม่ได้สักที เพลงนี้คอนเซปต์คือการสรุปความทรงจำ มันคือเพลงสุดท้ายของอัลบั้มที่สรุปเรื่องราวทั้งหมดในเพลงๆ เดียว เลยรู้สึกว่าเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่แต่งยากที่สุด
ทำไมถึงหยิบเพลง "Unstoppably" ที่เคยแต่งร่วมกับ ‘แม็กซ์ เจนมานะ’ เมื่อ 5-6 ปีก่อนมารวมไว้ในอัลบั้มด้วย
รู้สึกว่าเป็นเพลงที่เพราะมากๆ วีคิดว่าสาเหตุที่เพลง “Unstoppably” มันฮุคคน เพราะมันคลีนมาก เพียวมาก เล่าเรื่องจริงๆ โดยที่ไม่ได้เอาอะไรมาตกแต่งเลย เล่าโดยเนื้อแท้ เสียงร้อง เมโลดี้ ทำนอง โดยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว บางๆ แค่นั้นเลยจริงๆ ทำให้วีรู้สึกว่ามันพิเศษ ตอนที่วีเขียนเพลงนี้ เขียนไปได้ครึ่งนึงแล้ว บอกพี่แม็กซ์ว่าเขียนต่อไม่ได้ว่ะ พี่แมกซ์เลยมาช่วยเขียน แล้วเขาบอกว่า “เฮ้ย! เพราะ ขอร้องด้วย” วีเลยรู้สึกว่าเป็นเพลงที่หากเราไม่ปล่อยให้ฟังกันก็คงเสียดาย เป็นหนึ่งในเพลงที่เราชอบมากๆ พอได้ไอเดียที่จะทำอัลบั้ม รู้สึกว่าอยากให้เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มด้วย ก็เลยหยิบมาใส่ บันทึกเสียงร้องใหม่หมดเลย
หากอัลบั้ม 'Glitter and Smoke’ เป็นเรื่องราวทั้งโทนมืดและสว่าง คุณมองเห็นบทเรียนชีวิตอะไรที่สะท้อนออกมาผ่านบทเพลงเหล่านั้น
วีจะแบ่งบทเรียนออกเป็น 3 ยุคละกัน ยุคแรกคือยุคคลั่งรัก เป็นยุคที่แบบโอ๊ย! ฉันเสียใจ โวยวายๆ ส่วนยุคต่อมาจะเป็นแนวฉันไม่สน ไม่แคร์ ฉันสวย ไม่มองข้างหลังแล้ว สตรองขึ้นมา ส่วนยุคสุดท้ายมันคือการยอมรับและปล่อยวาง มันเป็นการมองกลับไปแล้วรู้ว่ามันไม่เวิร์คนะ แต่ It’s OK มันไม่ได้รู้สึกต้องโวยวายแล้ว เป็นการตกตะกอนทางความคิด มันเริ่มมีความสว่างขึ้นมาและนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ
มีเรื่องอะไรในชีวิตที่คุณอยากกลับไปแก้ไขมั้ย
ถ้าย้อนไปได้… อยากตั้งใจเรียนเปียโนให้มากกว่านี้ (หัวเราะ) อยากขยัน อยากจะเก่งพอที่จะมาแสดงบนเวทีได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เสียดายมาก เพราะวีเริ่มเรียนครั้งแรกตอนอายุ 5 ขวบ อยู่ๆ ก็หยุดเรียนไปเพราะเริ่มงอแง ข้างๆ ที่เรียนจะมีโรงเรียนสอนเต้น พ่อก็ให้ไปเรียนเต้นด้วย แต่พอไปเรียนเต้น วีเต้นไม่ทันเพื่อน ฉีกขาไม่ได้ ไม่ทันคนอื่น เริ่มไม่สนุกแล้วอ่ะ (หัวเราะ) คือที่เรียนมันอยู่ข้างกัน ถ้าเราไปเรียนเปียโนก็เท่ากับว่าต้องไปเรียนเต้นด้วย พอเต้นไม่เป็นก็อาย พอดีเป็นเด็กเซนซิทีฟก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากไปเรียนเปียโนแล้ว เพราะไม่อยากไปเรียนเต้น ก็เลยหยุดเรียนไปเลย ส่วนพ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร ก็หยุดไปเลย พออายุ 11 ขวบขอพ่อไปเรียนเปียโนใหม่ เรียนถึงอายุ 15 ปีก็หยุดอีก เพราะเราอยากเรียนเพื่อนำไปใช้ในทำการแสดงบนเวที ไม่ได้อยากเรียนเพลงคลาสสิกอะไรขนาดนั้น เพราะถ้าเรียนเป็นคอร์ดๆ กลับมาแกะเองก็ได้ เนี่ย! ยังรู้สึกเสียดายมาถึงทุกวันนี้
มีคนในวงการไม่เยอะนะที่เมื่อเป็นทั้งศิลปินและนักแสดงแล้วจะมีผลงานโดดเด่นทั้งคู่ แต่คุณสามารถทำได้ คิดว่าศาสตร์ทั้ง 2 อย่างนี้มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ความเหมือนกันคือต้องจริงใจค่ะ ส่วนความต่างนั้นคือเวลาเราทำเพลงเราเป็นตัวเองได้เต็มที่ แต่เวลาแสดงเราต้องเป็นคนอื่นไปเลย ห้ามเป็นตัวเองเด็ดขาด ซึ่งความจริงแล้วทั้ง 2 ศาสตร์นี้มีสิ่งที่เหมือนกันนั่นคือ เราต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกต่อหน้าเราค่ะ ที่วีเชื่อว่าจะทำได้เพราะวีเชื่อความรู้สึกตรงนี้ วีเชื่อในสิ่งที่วีเห็นตรงหน้า ก็เลยอาจทำให้ทำออกมาได้ดี ส่วนตัวแล้ววีเป็นคนที่อินกับเรื่องราวความรู้สึกของความเป็นมนุษย์มากค่ะ
ตอนนี้คุณฟังเพลงสากลเพลงไหนอยู่บ้าง
วีชอบอัลบั้มใหม่ของ Haim มากเลยค่ะ อัลบั้ม Women in Music Pt. III และศิลปินอีกคนที่กำลังฟังเพลงเขาอยู่คือ Lauv อีพีใหม่โดดเด่นมากๆ ชอบเพลงที่ชื่อว่า “Mine (You Can't Find Love in Mollywood)” แบบดีมากไม่ไหวแล้ว เมโลดี้กับเนื้อเข้าใจง่าย แต่ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เนื้อร้องเล่าง่ายมาก แต่กลับไม่เคยมีใครเล่าได้แบบนี้ วีเลยรู้สึกว่าชอบคนเขียนเพลงแบบนี้จัง
พูดถึงนักแต่งเพลง คุณมีนักแต่งเพลงคนโปรดบ้างมั้ย
คนแรกคือ Taylor Swift เลย คนที่สองก็ Lauv นี่แหละค่ะ แต่ในพาร์ทเนื้อเพลงหลักๆ แล้วชอบการแต่งเพลงของ Taylor Swift มันเป็นศาสตร์ของการเล่าเรื่องค่ะ วีเรียนภาพยนตร์มาด้วย รู้สึกว่าใกล้กับการเขียนบทภาพยนตร์ มันเรียกว่า "Show, don't tell"คือการจะเล่าว่าเรารู้สึกอะไร บางทีก็ไม่ต้องมาบอกว่าฉันเสียใจ แต่จะให้ภาพเล่าเรื่อง เช่น น้ำตาไหล หรือหากน้ำตาไม่ได้ไหล ตัวละครก็ต้องพูดอย่างหนึ่งที่คนดูรู้ว่าเขารู้สึกกับสิ่งนี้มาก แต่เบื้องหน้ากลับยิ้มออกมา เพราะต้องซ่อนความรู้สึกไว้ ทำให้รู้สึกว่า โห! โคตรเจ็บเลย เลยรู้สึกว่าภาพพวกนี้เล่าผ่านเพลงได้ เช่น จะบอกว่าฉันชอบเธอนะ ก็ใช้ “I don't smoke but I'll go outside with you” หรือเนื้อเพลง "We both had enough of Things broken on the floor" ก็ทำให้เห็นภาพข้าวของแตกกระจาย ทำให้รู้เลยว่าทะเลาะกันแรงมาก ปาของใส่กัน นี่คือการเล่าเรื่องด้วยภาพ
แนะนำหนังโปรดของคุณสัก 1 เรื่อง
ชอบหนังหลายเรื่องมากค่ะ แต่ถ้าจะแนะนำเอาเรื่องนี้ดีกว่า ‘Priceless’ (2006) เป็นหนังฝรั่งเศส แนวโรแมนติก-คอมเมดี้ นักแสดงนำคือ ‘ออเดรย์ ตาตู’ เป็นหนังที่บทฉลาดมาก เล่าเรื่องของผู้หญิงที่ปอกลอกคนรวย ใช้ชีวิตเกาะผู้ชายรวยไปเรื่อยๆ แล้วก็หวังจะปอกลอกพระเอกเพราะคิดว่าพระเอกรวย แต่ความจริงพระเอกนี่จนเลย ซึ่งพระเอกหลงรักนางเอกไปแล้ว ยอมให้ปอกลอกหมดจนไม่เหลืออะไรเลย ทีนี้พระเอกเลยต้องไปปอกลอกผู้หญิงแก่ที่ฐานะร่ำรวยเพื่อหาเงินบ้าง ซึ่งนางเอกจะเป็นคนสอนว่าต้องทำยังไง เลยกลายเป็นหนังที่แข่งขันกันปอกลอก เป็นเรื่องราวความรักที่ประหลาด แต่ก็สนุกมากค่ะ
สุดท้ายนี้ คุณอยากถูกจดจำแบบไหนเมื่อพูดถึงผู้หญิงที่ชื่อ ‘Violette Wautier’
อืม…ไม่รู้สิ วีหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้บ้าง ในเรื่องใดสักเรื่องหนึ่ง ทุกคนเห็นวีมาตั้งแต่วีประกวด The Voice Thailand เราเคยเป็น nobody มาก่อน แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้น ไม่ได้โด่งดังแบบก้าวกระโดด มันค่อยๆ มาตามก้าวบันได วีรู้สึกว่าคนที่เห็นเราจะรู้สึกโตไปพร้อมๆ กันและเขาก็เอาใจช่วยวีอยู่
ก็เลยรู้สึกว่าการที่วีทำตามความฝันของตัวเอง มันน่าจะให้แรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อยากทำตามฝันของเขาด้วยเหมือนกัน เพราะวีทุ่มเทและสู้กับสิ่งนี้อย่างเต็มที่ คนดูอาจคิดว่า “อินั่งลูกครึ่งคนนี้มันยังทำได้เลย ทำไมฉันจะทำฝันของฉันบ้างไม่ได้ ถ้าฉันพยายามและสู้กับมันจริงๆ” ซึ่งตอนนี้ส่วนตัววีเองก็มีความฝันหนึ่งที่กำลังทำอยู่ มันยังไม่เกิดขึ้น เราก็ไม่กล้าพูดเหมือนกันว่าจะเป็นไปได้มั้ย แต่จะตั้งใจเต็มที่ ต้องรอดูกันค่ะ
Story By: ตติ