THE 1975: จาก ‘บทเพลงชีวิตวัยรุ่น’ สู่การสนทนาเรื่อง ‘การเมืองและสิ่งแวดล้อม’ ผ่านดนตรี
“ผมยอมเข้าคุกเพื่อสิ่งที่ผมยืนหยัด” แมตตี้ ฮีลีย์ ฟรอนต์แมนวง The 1975 กล่าวอย่างหนักแน่น หลังเดินลงจากเวทีเพื่อไปจูบแฟนเพลงเกย์คนหนึ่ง ขณะเล่นเพลง “Loving Someone” ภายในคอนเสิร์ตที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
ข่าวนี้สร้างเสียงฮือฮาและถูกแชร์ต่ออย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีกฎหมายต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่เข้มงวด กำหนดโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป ซึ่งทางแมตตี้ได้ออกมาโพสต์ทวีตว่า "ผมไม่คิดว่าเราจะได้รับอนุญาตให้กลับมาแสดงที่นี่อีก เนื่องจากการกระทำของผม" ก่อนจะให้สัมภาษณ์ NME ในภายหลังว่า
“ผมได้เจอกับเด็กๆ หลายคน ผมถามพวกเขาว่าจะมาดูคอนเสิร์ตหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับคือ ‘พ่อคงไม่อนุญาตให้มาแน่ๆ’ หรือไม่ก็ ‘ศาสนาเราห้าม’ นั่นเป็นเรื่องน่าเศร้านะ เพราะผมคิดว่าศิลปะเป็นของทุกคน ผมไม่ได้มาเพื่อแสดงความไม่เคารพต่อผู้คน แต่สิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้เลยคือ การไม่ลุกขึ้นสู้เพื่อผู้หญิง เพื่อเกย์ และเพื่อคนชายขอบ"
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แมตตี้แสดงท่าทีในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมของโลกยุคใหม่ ก่อนหน้านี้เขายังเคยแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเมืองยุโรป และแสดงความผิดหวังที่สภาสูงของรัฐอลาบามาในสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายห้ามทำแท้ง ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้แมตตี้และวง The 1975 มีภาพลักษณ์ที่น่าจับตามอง อีกทั้งยังอยู่ในความสนใจของสื่อใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่อาจกล่าวได้ว่าพวกเขาคือวงดนตรีที่มีอิทธิพลต่อแฟนเพลงและคนรุ่นใหม่อย่างมาก
จากกลุ่มเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่รวมตัวกันตั้งวงดนตรีในปี 2002 ลองผิดลองถูก ค้นหาเอกลักษณ์ ตั้งชื่อและเปลี่ยนชื่อวงมาหลายครั้ง จนกระทั่งไปเจอคำว่า "1 June, The 1975” บนปกหลังหนังสือนิยายเรื่อง 'On The Road’ ของ Jack Kerouac นักเขียนชาวอเมริกัน ทำให้กลายเป็นที่มาของวงชื่อ The 1975
แต่กว่าที่พวกเขาจะได้ออกอัลบั้มเดบิวต์ครั้งแรก ก็รอจนถึงปี 2013 กับผลงานอัลบั้ม ‘The 1975’ ที่ใช้ชื่อเดียวกับวง มีภาพลักษณ์ของความเป็นวงดนตรีพังค์ เพลงดังอย่าง “Chocolate” “Robbers” และ “Sex” แจ้งเกิดให้พวกเขาอย่างรวดเร็ว ซึ่งบทเพลงส่วนใหญ่นั้นเล่าเรื่องเกี่ยวกับความรักและยาเสพติด
ก่อนจะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ในอัลบั้มชุดที่ 2 ‘I Like It When You Sleep, for You Are So Beautiful yet So Unaware of It’ ที่วางจำหน่ายในปี 2016 มีการนำแสงไฟนีออนมาปรับลุคภาพโปรโมตเพลงต่างๆ เพื่อลดความขึงขังลง ในขณะที่พาร์ทดนตรีก็มีกลิ่นอายความเป็นดรีมป๊อปมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงถ่ายทอดเนื้อหาเพลงที่มีลักษณะเช่นเดิม
จนกระทั่งปี 2018 พวกเขาปล่อยอัลบั้มชุดที่ 3 ‘A Brief Inquiry into Online Relationships’ ถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในส่วนของเนื้อหาเพลง เนื่องจากธีมหลักของอัลบั้มพูดถึงประเด็นที่มีคุณค่ามากขึ้น นั่นคือเริ่มวิพากษ์สังคมผ่านบทเพลง
มีการหยิบยกกระแสทางสังคมมาตีแผ่และทำให้แฟนเพลงเกิดความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น เช่น เพลง “It's Not Living (If It's Not with You)" แมตตี้เล่าถึงประสบการณ์เสพติดเฮโรอีนอย่างหนักและการบำบัดฯ ของตัวเอง ส่วนเพลง "I Like America & America Likes Me" มีเนื้อหาเหน็บแนมการใช้อาวุธปืนในสหรัฐฯ และแม้แต่ “TOOTIMETOOTIMETOOTIME” ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยของผู้คนในโลกยุคดิจิทัล เป็นต้น
ความก้าวหน้าทางเนื้อหาของอัลบั้มชุดนี้ ทำให้พวกเขาได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากสื่อหลายสำนัก จนผลักดันให้ The 1975 รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก้าวไปสู่การเป็นวงดนตรีระดับแนวหน้าของเกาะอังกฤษอย่างไม่ต้องสงสัย แถมการันตีด้วยรางวัลจากเวทีต่างๆ ที่นำไปสู่การเป็นเฮดไลน์เนอร์ของเฟสติวัลใหญ่ๆ รวมถึงการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกนั่นเอง
สำหรับปี 2019 วง The 1975 ก็คว้ารางวัลใหญ่จากเวที BRIT Awards 2019 ในสาขาอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี (British Album of The Year) และศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม (British Group) มาครองได้สำเร็จเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยแมตตี้ได้กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างรับรางวัล ด้วยการได้นำคำพูดของลอร่า สเนปส์ ซึ่งเป็นเพื่อนของเขาและเป็นรองบก.ด้านดนตรีของสื่ออย่าง The Guardian มากล่าวต่อสาธารณะ โดยใจความสำคัญพูดถึงการปฏิบัติต่อเพศหญิงอย่างไม่เท่าเทียมในวงการดนตรี
ต่อมาเดือน ก.ค. พวกเขาปล่อยอินโทรเปิดตัวอัลบั้มล่าสุด ชุดที่ 4 ‘Notes on a Conditional Form’ ซึ่งใช้ชื่อว่า “The 1975” ตามธรรมเนียมของวง (เพลงแรกของทุกอัลบั้มจะใช้ชื่อนี้) แต่ที่เซอร์ไพรส์คือตลอดเวลา 4.57 นาทีของแทร็กนี้ กลับเป็นเสียงพูดของ ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ (Greta Thunberg) เด็กหญิงชาวสวีเดนวัย 16 ปี นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่เธอเคยกล่าวสุนทรพจน์นี้ไว้ในงาน World Economic Forum เมื่อปีที่แล้ว
“เราต้องตระหนักว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ล้มเหลว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาก็ล้มเหลวเช่นกัน แต่มนุษย์ยังไม่ได้ล้มเหลว ใช่ค่ะ เราอาจกำลังล้มลง แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้ดีขึ้น”
นอกจากนี้เกรตายังเผยถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมงานกับ The 1975 ว่า รู้สึกดีใจที่มีโอกาสส่งข้อความของเธอไปยังคนกลุ่มใหม่ๆ และวง The 1975 ก็มีพลังมากพอที่จะเป็นกระบอกเสียงเรื่องโลกร้อนได้ ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ The 1975 ได้รับรางวัลวงยอดเยี่ยมแห่งปี (Band of The Year) จากเวที GQ Awards แมตตี้ก็เป็นหัวหอกในการพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้ง
“พวกเราร่วมงานกับ ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ เราถึงได้รู้ว่าเธอต้องแบกรับอะไรไว้มากแค่ไหน มีคนปฏิบัติแย่ๆ ต่อเธอมากมาย แต่ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยผมก็มองเห็นว่ายังคงมีคนที่ใส่ใจศิลปะ เรามาทำให้ศิลปะมีความหมายเพื่อใช้สิ่งนี้ในการต่อสู้กับอำนาจเถอะ”
แม้ว่าศิลปินชื่อดังหลายคนเลือกที่จะ ‘เพลย์เซฟ’ ในการไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือประกาศจุดยืนต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความนิยมและ ‘แบรนด์’ ซึ่งมีมูลค่าในอุตสาหกรรมดนตรี ยิ่งหากกำลังอยู่ในช่วงที่รุ่งโรจน์และได้รับความนิยมอย่างสูง พวกเขาคงไม่เลือกทางเดินที่เสี่ยง แต่อาจไม่ใช่สำหรับ The 1975 โดยเฉพาะแมตตี้ ที่มักแสดงความเป็นตัวตนเพื่อสนับสนุนแนวคิดต่างๆ ของตัวเอง ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ที่ค่อนข้างเรียกเสียงฮือฮา เมื่อแมตตี้ให้สัมภาษณ์ NME เกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล
“ผมอยากไปเล่นคอนเสิร์ตทั้งที่ปาเลสไตน์และอิสราเอล ไม่ใช่เพราะผมเลือกข้าง แต่เพราะยังมีคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ที่นั่น พวกเขาไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาล ผมเชื่อว่าในประเทศที่ถูกแบ่งแยกด้วยเหตุผลทางการเมือง สิ่งเดียวที่จะหลอมรวมประชาชนไว้ได้คือ ‘วัฒนธรรมและศิลปะ’ เพราะฉะนั้นมันคืองานของผมยิ่งกว่าใครๆ เลย ที่จะไปยังสถานที่เช่นนี้ มีผู้คนมากมายที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกกดขี่ทางความคิด และผมก็ไม่ได้เป็นนักการทูตหรือนักการเมืองซะด้วย”
ความเข้มข้นของ The 1975 ไม่จบลงง่ายๆ เพราะระดับความพีคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ส.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาปล่อยเพลง “The People” ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มชุดที่ 4 เปิดฉากอย่างเหนือความคาดหมายด้วยมิวสิกวิดีโอสุดแปลกตา เมื่อแมตตี้มาในลุคฟรอนต์แมนสุดพังค์ ผมยาว ทาหน้าขาว พร้อมพาร์ตดนตรีที่สาดความอีโมชนิดที่แฟนเพลงถึงกับเหวอไปพักใหญ่
ทว่านี่คือการสาดสีสันทางดนตรีครั้งสำคัญที่ทำให้ The 1975 ครองพื้นที่สื่อออนไลน์ทุกเว็บไซต์เพียงชั่วข้ามคืน การเปิดตัวในคาแร็กเตอร์นี้ แท้จริงแล้วมีนัยซ่อนอยู่ เพราะ ‘People’ ในบทเพลงนี้เป็นตัวแทนสะท้อนถึงผู้คนในยุคปัจจุบันที่แสดงท่าทีไม่สนใจใยดีปัญหาต่างๆ ที่เกิดกำลังขึ้นกับโลก ซึ่งในเนื้อหาเพลงมีการพูดถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่น แนวคิดอนุรักษ์นิยม ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แมตตี้เผยว่าเขาเขียนเพลงนี้ขึ้นในวันที่รัฐอลาบาม่าออกกฎหมายห้ามทำแท้งนั่นเอง
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ ‘Notes on a Conditional Form’ แม้เรายังไม่เห็นภาพรวมของอัลบั้ม แต่ชัดเจนว่านี่คืออัลบั้มที่พวกเขาใช้เป็นตัวกลางในการแสดงออกทางความคิด ทำหน้าที่เป็นศิลปินที่ใช้ศิลปะบทเพลงสะท้อนปัญหาสังคมมากยิ่งขึ้น
ดนตรีของพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์โลกปัจจุบัน ที่ไม่ได้บอกเล่าเฉพาะเรื่องราวของตัวเองอีกต่อไป แต่กำลังใช้ชื่อเสียงแสวงหาพื้นที่ในการบันทึกการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเจเนอเรชั่นของพวกเขา โดยเฉพาะประเด็น ‘ปัญหาโลกร้อน’ ที่กำลังถูกมองข้ามอยู่ในขณะนี้
สุดท้ายนี้ ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า The 1975 คือวงดนตรีที่น่าจับตามองอย่างที่สุด ไม่ใช่แค่พาร์ตดนตรีเท่านั้นที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ในพาร์ตของการนำเสนอเนื้อหาก็น่าจับตามองไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการผนวกเรื่องการเมืองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดนตรี…เท่ากับว่าในทุกๆ ครั้งที่พวกเขาเริ่มทำการแสดง นั่นคือการแถลงนโยบายสะท้อนสังคมในนามของ ‘The 1975’
“ผู้คนจำเป็นต้องออกมาพูดถึงเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นสิ มีวงดนตรีไม่เยอะหรอกนะที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนกับพวกเรา ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว…คุณจะไม่ให้ผมเปิดปากพูดอะไรเลยเหรอ” - แมตตี้ ฮีลีย์ ฟรอนต์แมนวง The 1975
Source:
• The Big Read – The 1975: "I feel more like I'm in a punk band than ever before"
• “I would go to jail for what I stand for” – The 1975’s Matty Healy talks playing countries with • anti-gay laws
• The 1975 Call Out “Male Misogynist Acts” During 2019 BRIT Awards Acceptance Speech
• The 1975’s Matty Healy: “I would play both Israel and Palestine”
Story By: ตติยา แก้วจันทร์