ความแตกต่างระหว่างอินดี้และอัลเทอร์เนทีฟ
ถ้าจะพูดถึง “ร็อคนอกกระแส” จากฝั่งอังกฤษและอเมริกา แต่ละคนน่าจะมีวงโปรดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งบางวงเราก็น่าจะระบุแนวชัดๆ ได้ เราก็จะเรียกแนวนั้นไป แต่มันก็จะมี “วงร็อค” อื่นๆ ที่เราไม่สามารถระบุแนวชัดๆ ได้ แต่เราจะเรียก “วงร็อค” เฉยๆ มันก็จะแปลกๆ เราต้องใส่แนวเพิ่มเติมไปหน่อย
หรือพูดง่ายๆ ถ้าเราเจอ “วงร็อคแหวกแนวแบบระบุแนวไม่ได้” เราจะรู้สึกเลยในฐานะนักฟังเพลงว่าว่าไปเรียกว่า “วงร็อค” เฉยๆ มันไม่พอ แต่เราเคยสังเกตมั้ยว่า ถ้าเป็นวงอังกฤษที่มีเงื่อนไขแบบนี้ เราก็จะเรียกว่า “อินดี้ร็อค” ส่วนถ้าเป็นวงอเมริกันเราจะเรียก “อัลเทอร์เนทีฟร็อค”
บางคนก็จะบอกว่าสองอันนี้มันคนละแนว เพลงมันไม่เหมือนกัน “อินดี้ร็อค” มันต้องกีต้าร์พรุ้งพริ้งแบบอังกฤษ และ “อัลเทอร์เนทีฟร็อค”มันต้องกีต้าร์ดิบกร้านแบบอเมริกัน ในแง่หนึ่งก็ถูก แต่ความเป็นจริงมันมีเหตุผลในทางประวัติศาสตร์เลยที่ทำให้คำว่า “อินดี้ร็อค” เป็นของอังกฤษ และ “อัลเทอร์เนทีฟร็อค”เป็นของอเมริกัน
ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เพราะตลอดยุค 1980s อังกฤษจะไม่เรียกร็อคนอกกระแสว่า “อัลเทอร์เนทีฟ” เลย จะใช้คำว่า “อินดี้” เท่านั้น ส่วนอเมริกันก็จะใช้คำว่า “อัลเทอร์เนทีฟ”เท่านั้น และการใช้สองคำนี้แยกกันมันก็เลยเป็นความเคยชินต่อกันมา แต่ถ้าอยากรู้ละเอียดมากกว่านั้น เราต้องคุยกันต่อหน่อย
จากพังค์ถึงอินดี้
เรื่องมันเริ่มจาก “การปฏิวัติพังค์” ที่อังกฤษช่วงปลายทศวรรษ 1970s ซึ่งผลอย่างหนึ่งก็คือมันทำให้เกิดคนที่กล้าทำดนตรีร็อคแนวใหม่ๆ รวมทั้งเกิดค่ายเพลง สายส่ง และร้านแผ่น “อิสระ” หรือที่เรียกว่า Independent ขึ้นมากอย่างไม่มีมาก่อนในอังกฤษ
ซึ่งพวกที่เด่นสุดคือ Rough Trade ที่เริ่มจากการเป็นร้านแผ่นเสียงอิสระก่อน และกลายมาเป็นค่ายเพลงและสายส่งตามมา และพูดถึงค่ายนี้ จริงๆ อะไรพวกนี้มีมาก่อนกระแสพังค์ แค่พอเกิดกระแสพังค์ มันทำให้คนอยากทำดนตรีแบบใหม่ๆ ซึ่ง คำถามคือพวก “ค่ายเพลงใหญ่” จะเอายังไง?
ในความเป็นจริง พวกค่ายเพลงใหญ่ในยุคนั้นไม่อยากออกงานแปลกๆ พวกนี้ โดยเฉพาะเมื่อหลังกระแสพังค์ดับมอดลงในยุค 1980s และก็มีแต่พวกค่ายเพลงเล็กๆ เท่านั้นแหละที่จะออกงานเพลงร็อคที่ไม่ “ตามกระแส” แต่กระแสพังค์ทำให้เกิดกลุ่มคนฟังเพลง “ทางเลือก” และกลุ่มคนพวกนี้ก็จริงจังที่จะไม่ฟังเพลงกระแสหลัก จริงจังที่จะไม่เข้าร้านแผ่นเสียงใหญ่ๆ และคนพวกนี้ก็มีมากพอที่จะเป็นกลุ่มก้อนทางการตลาดได้
พวกแรกๆ ที่มองเห็นว่าคนพวกนี้ฟังเพลงไม่เหมือนคนทั่วๆ ไปในอังกฤษคือนิตยสารดนตรี มันเลยเกิดไอเดียว่า เราควรจะทำชาร์ตเพลงที่วัด “ยอดขาย” จาก “ร้านแผ่นเสียงอิสระ” โดยเฉพาะ ไม่เอายอดขายของพวกร้านใหญ่ๆ มาเจือปน หรือให้ตรงคือ จะตัดพวกงานดนตรีที่จัดจำหน่ายโดย “สายส่ง” ของ 4 ค่ายเพลงใหญ่อย่าง Warner, Sony, EMI และ Universal ออกไปจากชาร์ต
ชาร์ตนี้ที่ว่านี้เรียกว่า Independent Chart และมันปรากฎครั้งแรกในปี 1980 ในนิตยสาร Sound ของอังกฤษ ก่อนที่พวกสื่อต่างๆ จะมีเริ่มมีชาร์ตทำนองนี้ของตัวเองกัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่า “อินดี้”
และในกรณีของอังกฤษ การจัดอันดับ “ชาร์ตอินดี้” มันโกลาหลมาก คือมันไม่ “รวมศูนย์” แบบอเมริกาที่มี Billboard มันมีหลายสำนัก หลายวิธีการจัด แต่ในภาพรวมไอเดียคือ มันเป็นการจัดอันดับเพลงที่พยายามจะทำให้เห็นว่า “กลุ่มคนฟังเพลงนอกกระแส” ที่กำเนิดมานับแต่ยุคพังค์มันฟังอะไรกัน
ซึ่งก็ไม่ต้องเดาว่าคำว่า “อินดี้ร็อค” มันก็เกิดหลังจากการมีชาร์ตที่ว่านี้ และรวมๆ มันคือคำเรียกเพลงร็อคที่ดนตรีและเมโลดี้ไม่ตลาดจ๋าๆ ที่ดูทรงแล้วไม่น่าจะมีที่ทางในชาร์ตรวมระดับชาติเท่าไร ต้องอยู่ในชาร์ตนอกกระแสหรืออินดี้เท่านั้น
และในยุคนี้ ถ้าจะบอกว่ามันจะมีสัก “อัลบั้ม” ที่เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัยตั้งต้นของ “อินดี้ร็อค” ของอังกฤษ ก็ได้แก่อัลบั้มรวมเพลงชื่อว่า C81 ในปี 1981 ที่ค่าย Rough Trade จับมือกับนิตยสาร NME ในปี 1981 (คือต้องซื้อ NME เอาคูปองให้ครบ 2 คูปองและส่งเงิน 1.5 ปอนด์ให้ NME เพื่อแลกเทป) โดย 25 เพลงในนั้นมีความหลากหลายมาก มาฟังยุคนี้หลายๆ เพลงอาจจะถูกเรียกว่า “โพสต์พังค์” แต่นี่แหละคือ “อินดี้” ในความหมายของสมัยโน้น
และถ้าอยากเข้าใจอะไรที่ “อินดี้” กว่านั้นในแบบต้นตำรับลองไปฟังภาคต่อคือ C86 ที่ออกในปี 1986 ซึ่งคนทั่วไป “ไม่รู้จักสักวง” แน่ๆ นอกจาก Primal Scream ซึ่ง NME ได้บรรยายสรรพคุณอัลบั้มนี้ว่า “สิ่งที่อินดี้ที่สุดที่เคยมีมาบนโลกใบนี้”
และแน่นอน คำว่า Indie Rock ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของแวดวงดนตรีนอกกระแสในอังกฤษช่วง 1980s ที่หลายๆ ครั้ง มันมีพัฒนาการที่คล้ายๆ กับอเมริกา แต่คำเรียกมันคนละอย่างเลย เช่น ในอเมริกา พังค์ที่เล่นโหดขึ้นจะเรียก ฮาร์ดคอร์พังค์ แต่ฝั่งอังกฤษ พวกนี้จะเรียกว่า UK 82 ไปจนถึง D-Beat หรือการเอาพังค์มาผสมกับเมทัล ฝั่งอเมริกาจะเรียกว่า “ครอสโอเวอร์” ส่วนฝั่งอังกฤษจะเรียกว่า “ครัสต์”
แนวดนตรีพวกนี้จะถกเถียงว่าจริงๆ เป็นคนละแนวก็ได้ เพราะในยุคหลังๆ มันก็เป็นแบบนั้นจริง แต่ประเด็นก็คือ ในยุคเริ่มที่อะไรๆ ยังไม่ชัดเจน แม้ว่าเพลงมันจะเหมือนกันเปี๊ยบ ถ้ามันเป็นฝั่งอังกฤษมันจะถูกเรียกแบบหนึ่ง แต่เป็นฝั่งอเมริกัน มันก็จะถูกเรียกอีกแบบ (เช่นงานของวง Hellbastard ออกฝั่งอเมริกาจะเรียก “ครอสโอเวอร์” แน่ๆ แต่ออกในอังกฤษมันเรียกว่า “ครัสต์” และวงก็เรียกตัวเองแบบนั้น)
ซึ่งประเด็นคือ ถ้าเป็น “แวดวงใต้ดิน” แล้วมันไม่มีการ “คุยกัน” ตอนที่ตั้งชื่อแนว มันมีความเป็นไปได้สูงมากๆ ที่สองประเทศจะตั้งชื่อแนวต่างกันให้กับดนตรีชนิดเดียวกัน ซึ่งตรงนี้คำถามคือแล้วสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า “อินดี้ร็อค” ในอังกฤษนี่มันไม่ได้ดังไปถึงอเมริกาจนอเมริกาต้องใช้คำว่า “อินดี้” ตามอังกฤษเหรอ?
ความเป็นอเมริกันของอัลเทอร์เนทีฟ
ว่ากันตรงๆ ดนตรีอังกฤษมีผลต่ออเมริกาน้อยมากในยุค 1980s หรือพูดง่ายๆ ขบวนการอินดี้ของอังกฤษในยุค 1980s มันก็อยู่แค่ในอังกฤษ มันไม่ข้ามมาดังอเมริกา ซึ่งคนละโลกกับยุค 1960s และ 1970s ที่อังกฤษส่งออกกระแสดนตรีลูกแล้วลูกเล่าไปอเมริกา (ตั้งแต่กระแส British Invasion กระแสโปรเกรสสีฟร็อคและเฮฟวี่เมทัล ยันพังค์ร็อคที่วงฝั่งอังกฤษเด่นดังกว่าอเมริกาเยอะ)
และเอาจริงๆ คนอเมริกันมันไม่เก็ตคำว่า “อินดี้” ที่พวกวัยรุ่นอังกฤษตื่นเต้นกันด้วยซ้ำ คือต้องเข้าใจก่อนว่าสำหรับอเมริกัน ภาวะที่ค่ายเพลงอิสระสร้างดนตรีร็อคมันไม่ได้ใหม่เลย เพราะกระแสดนตรีร็อคแอนด์โรลยุค 1950s นี่เป็นผลผลิตของ “ค่ายเพลงอิสระ” ในยุคนั้นอย่าง Sun Records แน่ๆ
ดังนั้นระบบ “ค่ายเพลงอิสระ” มันอยู่กับดนตรีร็อคในอเมริกาตั้งแต่ถือกำเนิดแล้ว และก็ไม่มีใครทะลึ่งไปบอกว่าเพลงของ Elvis Presley, Carl Perkins หรือ Roy Orbison เป็น “อินดี้ร็อค” แน่ๆ ทั้งๆ ที่พวกนี้ก็ล้วนเป็นร็อคเกอร์ที่ออกงานกับ “ค่ายเพลงอิสระ”
ดังนั้นพวกอเมริกันมันไม่เก็ตพวกอังกฤษว่าพวกมึงจะมา “อินดี้” อะไรกัน กูงง เพราะบ้านกูมันก็ “อินดี้” มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเพราะตลาดดนตรีกันกว้างใหญ่ไพศาลในสเกลทวีปของอเมริกาด้วย ที่มันเต็มไปด้วย “ค่ายเพลงกระจำถิ่น” ที่ในทางเทคนิคก็เป็น “ค่ายอินดี้” แค่เขาไม่เรียกกันแบบนั้น
แต่ถามว่ากระแสพังค์ร็อคจากอังกฤษส่งผลไปอเมริกามั้ย? คำตอบคือส่งผลสุดๆ กระแสดนตรีฮาร์ดคอร์พังค์ตั้งแต่ปลาย 1970s ยันต้น 1980s นี่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษตรงๆ เน้นๆ แน่ๆ ซึ่งในทางเทคนิควงดนตรีฮาร์ดคอร์พังค์พวกนี้ล้วนเป็น “อินดี้ร็อค” ที่พวกอังกฤษเรียกกันแน่ๆ เพราะวงดนตรีทั้งหมดออกโดยค่ายเพลงอิสระ แต่ก็ไม่มีใครเรียกแบบนั้น
เพราะสำหรับพวกอเมริกัน มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะออกเพลงกับ “ค่ายอินดี้” หรือกระทั่งตั้งค่ายเพลงมาเพื่อออกแผ่นเสียงเอง และมีกระแสดนตรีรูปแบบใหม่โผล่มาก็ตั้งชื่อแนวกันไป
แล้วคำว่า “อัลเทอร์เนทีฟ” มาจากไหน? คำนี้ที่ถูกใช้ในการเอามาเรียก “แนวดนตรี” รวมๆ ถูกใช้เรียกแนวดนตรีตอนกลางๆ 1980s โดยความหมายคืออะไรที่มันไม่ “ตลาด” ซึ่งหลากหลายมาก และสิ่งที่เป็น “ตลาด” หรือเพลงฮิตในช่วงนั้น ก็ได้แก่พวกแฮร์แบนด์ พวกนิวเวฟ ยันพวกเพลงป็อปแดนซ์สมัยนิยม
ดังนั้นนอกจากสามแนวที่ว่ามามันจัดเป็น “อัลเทอร์” หมด หรือเอาง่ายๆ ก็คือ มันเป็นคำเรียกรวมๆ “ดนตรีที่ไม่ตามกระแส” โดยสื่อเจ้าแรกๆ ที่ใช้คือนิตยสารดนตรีสัญชาติอเมริกันอย่าง Spin และพวกคลื่นวิทยุก็ใช้ตาม
ผลของการที่พวกคลื่นวิทยุใช้ตามก็คือ มันจะเริ่มมีคลื่นวิทยุที่เปิดเฉพาะเพลงอัลเทอร์เนทีฟโผล่มายุ่บยั่บในอเมริกาช่วงครึ่งหลัง 1980s ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ นิตยสาร Billboard จอมจัดอันดับก็หัวใส เพิ่มชาร์ตใหม่ที่เรียกว่า Modern Rock Track ขึ้นในปี 1988 เพื่อจัดอันดับ “เพลงนอกกระแส” พวกนี้จากจำนวนของเพลงที่ถูกเปิดใน “คลื่นวิทยุนอกกระแส”
อยากให้สังเกตว่า Billboard ดันไปช้ำคำว่า “โมเดิร์นร็อค” ไปเรียกสิ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อัลเทอร์เนทีฟร็อค” และผลที่ตามมาก็คือ จนถึงในยุคหนึ่งคำว่า “อัลเทอร์เนทีฟร็อค” และ “โมเดิร์นร็อค” บางทีก็ถูกใช้สับไปมา
เหตุก็เพราะ Billboard มันทำแบบที่ว่านี่เอง และส่วนหนึ่งที่หลังๆ คำว่า “โมเดิร์นร็อค” หายไปก็เพราะ Billboard เปลี่ยนชื่อชาร์ตนี้เป็น Alternative Song มาตั้งแต่ปี 2009
กล่าวอีกแบบ คำว่า “อัลเทอร์เนทีฟ” มันค่อนข้างจะชัดเจนในอเมริกามาตั้งแต่ปลาย 1980s แล้วในทางคอนเซ็ปต์ และเอาจริงๆ สิ่งที่เรียกว่า “ยุคอัลเทอร์เนทีฟ” ในช่วง 1990s ที่เรารู้จักกัน มันคือยุคเสื่อมมากกว่า
จุดบรรจบและจุดเริ่มต้นของความคลุมเครือ
หลายคนพอจะรู้แล้วว่าส่วนสำคัญที่ทำให้อัลบั้ม Nevermind ของ Nirvana ขึ้นอันดับ 1 ของ Billboard 200 ในปี 1991 มันเกิดจากการเปลี่ยนระบบจัดอันดับอัลบั้มแบบ “โทรถามร้านเทปทีละร้าน” มาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติที่วัดยอดขายจากแคชเชียร์ตรงๆ เลยที่เรียกว่าระบบ SoundScan
ระบบนี้ยืนยันสิ่งที่หลายคนสงสัยมานานว่าเอาจริงๆ “เพลงนอกกระแส” มันไม่ได้ “นอกกระแส” แบบที่คิดกัน จริงๆ มันขายดีกันทั้งนั้น เพราะในปี 1991 ก็ไม่ใช่แค่ “กรันจ์” ที่ขายดี
แต่การเปลี่ยนระบบนับความฮิตใหม่มันทำให้คนอเมริกันเห็นพร้อมกันว่าพวกฮิปฮอปยันคันทรี่จริงๆ ก็ขายดี และทำให้พวก “เพลงป็อปยุค 1980s” ตายสนิท เพราะคนหันมาฟังแนวดนตรีใหม่ๆ ที่เพิ่ง “ค้นพบ” กันว่าจริงๆ คนฟังกันเยอะ
พูดง่ายๆ โฉมหน้า “เพลงป็อป” เปลี่ยนไปชั่วข้ามคืนเพราะวิธีทำชาร์ตเปลี่ยน ทำให้เพลงอีกกลุ่มที่เคยต้องอยู่ในชาร์ตพวกคลื่นวิทยุเฉพาะแนวได้ไหลบ่าเข้ามาที่ชาร์ตเพลงเมนสตรีม
แน่นอนคนทั่วไปเห็น และค่ายเพลงก็เห็น ดังนั้นมันก็เลยเกิดเทรนด์ที่พวกค่ายเพลงใหญ่ๆ ระดมเซ็นสัญญาพวกวง “อัลเทอร์เนทีฟ” กันกระฉูดตอนต้น 1990s เพราะนี่คือขุมทรัพย์ใหม่ มันต้องมีสักวงที่จะกลายมาเป็นซุปเปอร์สตาร์และทำเงินให้ค่ายเพลงมหาศาล
และก็ไม่แปลกเลยที่ “วงอัลเทอร์” ฝั่งอเมริกาหลายๆ วง นั้นเริ่มต้นชีวิตทางดนตรีใน “ค่ายเพลงอิสระ” แต่มาจบที่ “ค่ายใหญ่” ในท้ายที่สุด นี่คือวิถีแห่งยุค 1990s (และก็มีแต่พวกพังค์ระดับฮาร์ดคอร์ที่ถืออุดมการณ์ “ไม่เอาค่ายใหญ่” เท่านั้นที่จะไม่ทำแบบนี้)
ซึ่งผลสุดท้ายก็อย่างที่เรารู้กัน “ค่ายใหญ่” ในภาพรวมมันไม่ได้ให้ “อิสระในการทำเพลง” ทำพวกค่ายเล็กๆ และผลก็คือ มันทำให้ “เพลงอัลเทอร์” เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทางที่ “ป็อป” ขึ้น และทำให้เส้นแบ่งระหว่างเพลงป็อปและเพลงอัลเทอร์เนทีฟพร่าเลือนไปในยุค 1990s
และก็ไม่น่าแปลกใจอีกที่ช่วง 2000s การใช้คำว่า “โมเดิร์นร็อค” จะฮิตมากในการบรรยายดนตรี เพราะมันพูดยากแล้วว่าหลายๆ เพลงเป็น “อัลเทอร์” แท้ๆ คือมันป็อปเกินมาตรฐานที่วางไว้ในยุค 1980s และการเลี่ยงไปเรียกว่า “โมเดิร์นร็อค” เลยเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
หันมามองฝั่งอังกฤษ การเปลี่ยนชาร์ตแบบในอเมริกาไม่ได้เกิด การย้ายจากค่ายเล็กมาใหญ่ก็ไม่ได้เกิด แต่สิ่งที่เกิดก็คือ ในช่วง 1990s พวกค่ายเพลงใหญ่ๆ ไปไล่ซื้อ “ค่ายอินดี้” ที่ดิ้นรนมาตลอดยุค 1980s จนหมดแรงกัน
และผลที่เราได้ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า “บริตป็อป” คือมันไม่เมคเซนส์อีกแล้วที่จะเรียก “ค่ายอินดี้ของค่ายใหญ่” พวกนี้ว่า “ค่ายอินดี้” และเพลงที่ออกกับเพลงพวกนี้ว่า “เพลงอินดี้” ซึ่งจุดที่ชัดสุดของการเปลี่ยนเพลงนี้คือการที่ค่าย Creation ถูกขายให้ Sony และค่าย Creation ก็ไปเซ็นสัญญากับ Oasis พร้อมออกอัลบั้มชุดแรกอย่างรวดเร็ว และที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์
ประเด็นทั้งหมดก็คือ ในยุค 1990s ในอังกฤษและอเมริกาเอง มันพูดยากแล้วว่าอะไรมันคือ “อินดี้” อะไรมันคือ “อัลเทอร์เนทีฟ” แต่เดิมดนตรีพวกนี้คือผลผลิตของพวก ค่ายเพลงอิสระที่กล้าทำดนตรีแบบไม่ตาม “กระแส” มาในยุค 1980s
แต่มายุค 1990s เพลงพวกนี้มันมี “กระแส” มา “ปนเปื้อน” ไปหมดแล้ว และจริงๆ ตอนที่ไอเดียพวกนี้เข้าไปในประเทศอื่น (รวมทั้งบ้านเรา) ในยุค 1990s มันคือไอเดียตอนที่มัน “ปนเปื้อน” ไปแล้ว มันเลยงงๆ มาตลอด
ก็ “แบบอย่าง” ที่เราเห็นมันคือ “เพลงอัลเทอร์” ที่บางทีดนตรีป็อปจ๋าเลย หรือ “เพลงอินดี้” ที่เป็นค่ายลูกของค่ายเพลงใหญ่ แล้วก็ดันเรียกตัวเองแบบเดิม เราจะไม่งงได้ยังไง คือมันงงมาแต่ต้นทาง ดังนั้นเราก็รับมางงๆ และสุดท้ายคำพวกนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายอีก
แต่ “รากฐาน” มันก็คงอยู่ว่าพวกวงฝั่งอเมริกามักจะถูกเรียกว่า “อัลเทอร์” และฝั่งอังกฤษมักจะถูกเรียกว่า “อินดี้” และเราก็จะเรียกมันต่อๆ กันมาแบบนี้ และนี่ก็คือที่มาของความเคยชินทั้งหมด
Guest Writer : FxxkNoEvi