“Music Entrepreneurship” ของ ABAC หลักสูตรธุรกิจตอบโจทย์คนรักดนตรี
"การฟังเพลง… สามารถทำให้กลายเป็นอาชีพได้" หากพูดประโยคนี้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน หลายคนคงส่ายหน้า เพราะไม่คิดว่างานอดิเรกลักษณะนี้จะทำเงินได้ แต่ในปัจจุบันตลาดดนตรีเติบโตอย่างรวดเร็ว ระบบสตรีมมิงได้รับความนิยม สอดคล้องกับเทรนด์ดนตรีที่เปิดกว้าง ทำให้แนวเพลงอินดี้ได้รับความสนใจไม่แพ้กระแสหลัก รวมถึงการที่ประเทศไทยกลายเป็นฮับคอนเสิร์ตของบรรดาศิลปินต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เมื่อไม่นานมานี้ มีโฆษณาตัวหนึ่งที่ใช้ชื่อคลิปว่า “เรียนธุรกิจดนตรีที่คณะดนตรีเอแบค ทำได้มากกว่าที่คุณคิด” เผยแพร่บนโลกออนไลน์ ความน่าสนใจอยู่ที่แนวคิดที่เชื่อมั่นว่า ดนตรีไม่ใช่เพียงแค่ความชอบ หรืองานอดิเรก แต่ยังสามารถสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้คนยุคนี้ได้มากมาย โดยสื่อสารออกมาให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และชวนติดตาม
“Music Entrepreneurship” ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) คือหลักสูตรธุรกิจดนตรีที่กำลังถูกพูดถึง นับเป็นหลักสูตรแรกของเอเชียที่ตอบโจทย์คนรักดนตรีแบบครบวงจร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักร้องหรือศิลปิน ขอเพียงแค่มีใจรักในดนตรีและเสียงเพลงก็สามารถเรียนได้ หลักสูตรนี้จะปลุกปั้นให้ผู้เรียนกลายเป็นนักการตลาดดนตรี ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ การทำคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการทำเงินจากการเติบโตของธุรกิจนี้
เสพย์สากล มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ผศ. ดร. ปัณณวิช สนิทนราทร คณบดีของคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ถึงความเป็นมาของหลักสูตรทางธุรกิจดนตรี รวมถึงเส้นทางอาชีพหลังจบการศึกษา จะเป็นอย่างไร เมื่อความฝันในการทำงานด้านอุตสาหกรรมดนตรี ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
จุดประสงค์ของโฆษณา “เรียนธุรกิจดนตรีที่คณะดนตรีเอแบค ทำได้มากกว่าที่คุณคิด”
เมื่อก่อนมีชุดความคิดที่ว่า เรียนดนตรีเท่ากับเต้นกินรำกิน มันมีภาพจำว่าถ้าเรียนดนตรีจบออกมาก็เป็นนักร้อง บางคนก็มองว่าไม่ได้เป็นอาชีพที่มั่นคง เราทำโฆษณาเพื่อที่จะแก้ Pain Point ระดับสังคมครับ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบถึงความเปลี่ยนไปของธุรกิจดนตรี หรืออาจมีภาพจำเดิมๆ อยู่
ในปัจจุบันธุรกิจดนตรีและวงการเอนเตอร์เทนเมนท์มูลค่าโดยรวมมหาศาลครับ มีความยั่งยืนและมั่นคง จริงๆ ที่บางคนเขาเคยพูดกันว่าอุตสาหกรรมดนตรีน่ะตายแล้ว จริงๆมันไม่ได้ตายหรอกครับ มันแค่เปลี่ยนผ่านจากยุคของ Physical ไปสู่โลกของออนไลน์ดิจิทัล โลกที่ผู้สร้างรายได้ให้กับศิลปินไม่ใช่ End User หรือคนฟังเพลงโดยตรงซะทีแล้ว เราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถฟังเพลงฟรีๆก็ได้บนหลายแพลตฟอร์ม มีการจัดอีเวนท์หรือคอนเสิร์ตฟรีต่างๆ เพราะตอนนี้งานที่เกี่ยวกับข้องกับเสียงเพลงมันเกิดขึ้นมาเยอะมาก และอุตสาหกรรมนี้ยังมีพื้นที่และโอกาสให้คนเข้ามาทำงานอีกเยอะครับ
โฆษณานี้เลยทำออกมาเพื่อตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ให้เข้าใจถึงโอกาสทางธุรกิจดนตรีตอนนี้ด้วยครับ รวมถึงน้องๆ ที่มีความสนใจในเรื่องดนตรี แต่อาจยังไม่ทราบว่ามันสามารถนำไปต่อยอดอย่างไรได้บ้าง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดนตรี เป็นแค่ “ความชอบ” หรือ สามารถทำเป็น “อาชีพ” ได้
ตอบยากมากครับ แต่เชื่อว่าถ้าดนตรีมันแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตน้องๆ ไปแล้ว เกิดน้องรู้สึกว่าเราเองมีความหลงใหล หรือมีความเข้าใจ อย่างเช่น น้องสามารถลิสต์ชื่อเพลงดังๆที่อยู่ในกระแสตอนนี้ได้ หรือเริ่มบอกได้ว่าวงดนตรีนี้มีสมาชิกเล่นเครื่องดนตรีอะไรกันบ้าง พอจะแยกแนวเพลงที่แตกต่างกันได้ หรือเริ่มอยากทำเพลงเอง อยากมีผลงานเป็นของตัวเอง มีความสุขกับคนที่ชื่นชอบผลงานเรา ถ้าเป็นเช่นนั้นอยากให้น้องๆเริ่มลองถามตัวเองว่าเป็นสิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถที่ตัวเองอยากนำไปต่อยอดไหม
ขณะที่หลักสูตรของเราก็รู้จุดนี้ เราถึงไม่ปั้นให้น้องๆ เป็นศิลปินจ๋าๆหรือปลูกฝังทฤษฎีดนตรีเข้มเกินไป เพราะน้องมาเรียนบริบทในธุรกิจ โดยนำความหลงใหลทางดนตรีมาเป็นตัวเชื่อม ถ้าเราทำอะไรด้วยความชอบ เรียนโดยใช้ความชอบนำ มันจะทำให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ถ้าน้องๆ มองว่าดนตรีคือความสุขของคุณ แล้วอยากนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ ผมว่าที่นี่ตอบโจทย์ครับ
จุดเด่นหลักสูตร Music Entrepreneurship คืออะไร
เราสังเคราะห์ว่านี่เป็นหลักสูตรที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจดนตรีจริงๆ คำว่า "ธุรกิจดนตรี" มันคือก้อนเดียวกัน ไม่ใช่ว่าพาร์ทหนึ่งคุณไปเรียนดนตรี อีกพาร์ทหนึ่งไปเรียนธุรกิจ แล้วบอกว่านี่ไงธุรกิจดนตรี ซึ่งเราเองมองไปไกลอีกขั้นหนึ่ง ว่าจริงๆแล้วปัจจุบันการเรียนรู้ด้านธุรกิจดนตรีอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว หลักสูตรนี้เลยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำเกี่ยวกับธุรกิจดนตรีจริงๆ มากกว่าการเรียนรู้แค่หลักการหรือแนวคิด เราอยากให้เด็กลองทำเพลงจริงๆ ทำระบบจริงๆ ขายงานจริงๆ เพราะจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้คือเราอยากให้เด็กสามารถสร้างรายได้จากดนตรีและทำมันอย่างยั่งยืน
หลักสูตรนี้เป็นไทยหรืออินเตอร์
เราเป็นหลักสูตรอินเตอร์ครับ ต้องยอมรับว่าดนตรีเป็นเรื่องสากลไปแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องภาษา แต่เป็นเรื่องการทำความเข้าใจบริบทระดับสากลด้วย จะได้เข้าใจทั้งเพลงไทยและเพลงสากลด้วย แถมปัจจุบันภาษาอังกฤษมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ที่นี่เป็นหลักสูตรดนตรีที่เดียวในประเทศที่เป็นหลักสูตรอินเตอร์ด้วยครับ
หลักสูตรปริญญาตรี ใช้เวลา 4 ปีจบเหมือนที่อื่นๆ หรือเปล่า
4 ปี แต่ว่าใครมีความมุ่งมั่น ก็สามารถจบได้ภายใน 3 ปีครึ่ง หลักสูตรนี้มีความยืดหยุ่นสูงมากครับ นักศึกษาสามารถเลือกแทรกเองได้ในวิชาที่ตัวเองชอบ คล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์ เด็กสามารถออกแบบได้ว่าอยากเรียนเทอมละกี่หน่วยกิต เราเองก็จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตัวสำหรับนักศึกษาทุกคน นักศึกษาสามารถปรึกษาได้ตลอด พูดคุยกันได้ว่าวิชาไหนที่อยากเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับผู้เรียนจริงๆ
นักศึกษาที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ จะได้เรียนวิชาแบบไหนบ้าง
ภายในหลักสูตร เราจะแบ่งหมวดวิชาเป็น 4 แกนหลักๆที่สำคัญสำหรับธุรกิจดนตรีครับ อย่างแรกเลย 1) คือความเข้าใจในดนตรี (Musicianship) เพราะถ้าคนทำงานดนตรีแล้วไม่เข้าใจในดนตรี ก็เหมือนคนขายอาหาร แต่ไม่รู้จักอาหารที่ตัวเองขาย หลักสูตรก็จะสอนทั้งการเล่นดนตรี (นักศึกษาต้องเลือกเครื่องดนตรีหลักเรียนหนึ่งเรื่อง) รวมถึงหลักทฤษฎีต่างๆ ทางดนตรี การฟัง หรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดนตรีในยุคต่างๆหลากหลายแนวเพลงครับ
2) การผลิตงานดนตรี (Music Production) เพราะยุคนี้แล้ว ศิลปินควรจะทำเพลงเองได้ทั้งกระบวนการ ทั้งการแต่งเพลง การเรียบเรียง การอัดเสียง มิกซ์ มาสเตอร์ รวมทั้งการทำงานภาพนิ่ง และวิดีโอ เพราะการนำเสนองานเพลงในปัจจุบันจำเป็นต้องมีงานภาพประกอบเพื่อนำไปใช้ในการเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลตามช่องทางต่างๆ ด้วย
3) ความเข้าใจในด้านธุรกิจและการตลาดทางดนตรี (Music Business Marketing) เพราะนอกจากผู้เรียนจะผลิตผลงานเพลงออกมาได้เป็นอย่างดีแล้ว การสื่อสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการวางแผนธุรกิจ การลงทุน การดูงบประมาณต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญในวงการธุรกิจดนตรี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และจะได้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด คุ้มค่าที่สุดด้วย
4) การใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลในการช่วยวิเคราะห์ผล (Data Science) ในปัจจุบันนี้เกือบทุกองค์กรธุรกิจมักใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขทางสถิติ แปรเปลี่ยนมาเป็นข้อมูลแบบประโยคบอกเล่า เพื่อให้ทีมการตลาดสามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด รวมถึงทำให้ศิลปินนักดนตรีสามารถเข้าใจถึงความต้องการของกลุ่มแฟนเพลงตัวเองได้เป็นอย่างดีอีกด้วยครับ
บรรยากาศการเรียนการสอนในคณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ด้วยความที่ยังเป็นคณะเล็กๆ จำนวนคนต่อรุ่นยังไม่ได้เยอะมาก เด็กๆ หลายคนก็จะมองว่าคณะนี้ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านครับ ไม่ใช่ภาพของอาจารย์อาวุโสที่ต้องให้เด็กอยู่ในระเบียบ ถ้ามีปัญหาอะไรเด็กสามารถคุยกับรุ่นพี่หรืออาจารย์ได้เลย ซึ่งอาจารย์รุ่นใหม่ก็สามารถเชื่อมกับเด็กรุ่นใหม่ได้ง่าย ห่างกันแค่ 10 กว่าปี มีความเข้าใจนักศึกษา และสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ขนาดแม้กระทั่งพี่แอดมินประจำคณะที่หลายคนตั้งฉายาว่า มาแมร์ (คุณแม่) เพราะใจดี ช่วยเหลือน้องๆนักศึกษาเหมือนลูกคนนึง เด็กๆมีอะไรเลยมาปรึกษากันเยอะ เลยเรียกได้ว่าคณะนี้เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของพวกเขา
ช่วยเล่าถึงวิชาฝึกงานที่ได้ไปลุยงานจริงๆ ในธุรกิจดนตรี
วิชาฝึกงานเป็นวิชาบังคับครับ ที่นี่น้องๆ จะต้องไปทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรีเท่านั้น ที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ร่วมงานกับค่ายแกรมมี มิวซิกมูฟ เอ็มซีที และอื่นๆ ที่เปิดโอกาสการทำงานหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพีอาร์ เออี การตลาด ครีเอทีฟ ทีมคอนเสิร์ต บางคนฝึกงานเสร็จ ทางนั้นรับทำงานต่อเลยก็มี ดังนั้นบางทีมันไม่ใช่แค่เรื่องของเกรดแล้ว มันคือเรื่องของชีวิตและอนาคตของเด็กเลยครับ
เด็กที่จบจากหลักสูตรนี้ ส่วนใหญ่ทำอาชีพอะไรบ้าง
หลากหลายครับ มันไม่ได้การันตีว่าน้องๆ ที่มาเรียนหลักสูตรนี้ ต้องทำงานเกี่ยวกับธุรกิจดนตรีอย่างเดียว ก็จะมีทั้งคนที่ได้ไปทำธุรกิจดนตรีจริงๆ ที่ทำอยู่ในค่ายเพลง ทำในบริษัทเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือแม้กระทั่งทำค่ายเพลงเล็กๆ เป็นของตัวเอง หรือบางคนที่ไม่ได้ทำเกี่ยวข้องกับดนตรี แต่ด้วยความที่เขามีองค์ความรู้ เรื่องการใช้สื่อหรือแพลตฟอร์ม เขาก็สามารถนำไปประยุกต์ เช่นทางสายดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งก็ได้ แต่ภาพรวมส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงของธุรกิจครับ
เล่าถึง ABAC Music Training Camp ไฮไลท์ของคณะนี้
ที่คณะจะมีกิจกรรมใหญ่แห่งปีเลย เรียกกันว่า ABAC Music Training Camp เป็นแคมป์ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ที่อยู่ในระดับมัธยมปลาย ที่มีความชอบหรือด้านดนตรี สมัครเข้ามา เราจะรับเพียง 30 คน มาค้างกันที่ ABAC วิทยาลัยเขตบางนา 4 วัน 3 คืน โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย
จุดเด่นของแคมป์นี้คือเราได้เชิญผู้ที่อยู่ในวงการดนตรี ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า หมายความว่าน้องๆ จะได้เจอศิลปินเยอะแยะมากมาย เป็นโอกาสที่น้องๆ จะได้เรียนรู้จากคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีจริงๆ อย่างครั้งที่ผ่านๆมา เช่น Atom, Season Five, Pause, Getsunova, Jetset’er, Earth Patravee, และอีกมากมายมาทำเวิร์กชอปสอนน้องๆกันอย่างใกล้ชิด
สุดท้ายน้องๆจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ทั้งความรู้ พบเพื่อนที่มีแพสชันเดียวกัน น่าเสียดาย ก่อนที่จะมี COVID-19 เราจัดติดต่อกันมาแล้ว 8 ครั้ง หลังๆ จัดปีละ 2 ครั้ง จะเป็นช่วงเดือนตุลาคมกับเมษายนครับ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราจะเปิดแคมป์ต้อนรับน้องๆ อย่างแน่นอน
คาดหวังไว้ไหมว่าหลักสูตร “Music Entrepreneurship” จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้วงการดนตรีในบ้านเราบ้าง
จริงๆทางหลักสูตรเองอยากเปิดพื้นที่ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากกระโดดเข้ามาในโลกของดนตรีแบบยั่งยืน หลายคนเลือกเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยเพราะมีความฝันที่แรงกล้า แต่พอจบไปแล้วไม่สามารถเดินตามความฝันนั้นได้ หลายคนจบไปพร้อมกับสกิลดนตรีที่เก่ง แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว ศิลปินต้องบูรณาการทุกอย่างเองทั้งหมด ไม่ใช่แค่ร้องเพลงเก่ง เล่นดนตรีเก่ง แต่ต้องทำเพลงเองได้ และต้องคิดและโปรโมทวงของตัวเองได้
หลักสูตรเลยวางแผนแล้วว่าอยากให้น้องๆที่เข้ามาเรียนตลอด 4 ปี มาให้เราอัด ให้เราบ่มเพาะ ให้รู้และเข้าใจทุกสิ่งที่จำเป็นในอุตสาหกรรมดนตรียุคใหม่ ให้ได้ทดลองผิด ทดลองถูก ให้มาล้มที่นี่ก่อน เพราะถ้าน้องล้มที่นี่ ก็เหมือนล้มบนฟูก เพราะเดี๋ยวอาจารย์จะคอยช่วยพยุงให้ลุกขึ้นมา และทำให้น้องๆไม่ล้มง่ายๆอีกเป็นครั้งที่สอง และตอนนี้ดนตรีมันไม่ใช่สิ่งที่เต้นกินรำกินอีกต่อไป มันสามารถสร้างรายได้ได้จริง
และตอนนี้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาไปไกลมาก กับวิถีของสื่อสังคมในปัจจุบัน มันเลยเป็นยุคของศิลปินอินดี้อย่างแท้จริง ซึ่งผมเชื่อว่าในอนาคต สิ่งเหล่านี้มันจะเอื้อให้กับศิลปินอินดี้ไปมากกว่านี้อีก ตอนนี้มันเลยเป็นโอกาสอย่างแท้จริง สำหรับน้องๆที่มีแพสชั่นและพร้อมก้าวเข้ามาสู่โลกของดนตรีอย่างจริงจัง โลกที่เปิดประตูรับทุกคนให้เป็นศิลปินได้ แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนก็ต้องรู้กลไกต่างๆที่นำมาสู่ความสำเร็จ และถ้าอยากรู้ ก็ต้องเรียนครับ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook: ABAC School of Music
LINE: @abacmusic
Website: www.music.au.edu