‘เอลเลียต สมิธ’ ศิลปินอมทุกข์และปริศนาการตายที่คาใจแฟนเพลงทั่วโลก
ชื่อของ ‘เอลเลียต สมิธ’ อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยมากนัก แต่เขาคือศิลปินโฟล์คชื่อดังชาวอเมริกัน เจ้าของบทเพลงหม่นเศร้า “Miss Misery” ซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ทว่าชีวิตเบื้องหลังแสงสปอตไลท์นั้น เขาคือชายหนุ่มธรรมดาที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าและติดยาเสพติดอย่างหนัก
เอลเลียต สมิธ (Elliott Smith) หรือ ‘สตีเฟ่น พอล สมิธ’ เกิดในปี 1969 ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อก่อนเขาใช้ชื่อ ‘สตีเฟ่น’ ตามชื่อจริง พ่อและแม่หย่าร้างกันตอนอายุเพียง 6 เดือน แม่จึงพาลูกชายตัวน้อยย้ายไปอยู่ที่รัฐเท็กซัส เขาถึงขั้นสักรูปแผนที่รัฐเท็กซัสลงบนแขนเพื่อย้ำเตือนถึงสถานที่เติบโตขึ้นมา
แต่ช่วงชีวิตในวัยเด็กของสตีเฟ่นไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับ ‘ชาร์ลี เวลช์’ สามีใหม่ของแม่ เขาอ้างว่าเคยถูกพ่อเลี้ยงคนนี้ทุบตีและล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้กลายเป็นบาดแผลทางใจที่ต้องนำไประบายผ่านเพลง “Some Song” โดยในเนื้อเพลงมีชื่อของพ่อเลี้ยงอย่าง ‘ชาร์ลี’ ปรากฏอยู่ด้วย
แม้ต้องเผชิญปัญหาครอบครัว แต่สตีเฟ่นกลับเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ เริ่มเล่นเปียโนได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตามด้วยเล่นกีตาร์ คลาริเน็ต กลอง และฮาโมนิก้า ดูเหมือนพอจะมีสายเลือดนักดนตรีอยู่บ้าง เพราะคุณปู่เคยเป็นมือกลองของวงดนตรีแจ๊ส ส่วนคุณย่าก็เคยเป็นนักร้องในคลับมาก่อน
เมื่ออายุ 14 ปี สตีเฟ่นเลือกที่จะย้ายไปอาศัยอยู่กับพ่อ ซึ่งทำงานเป็นจิตแพทย์อยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ช่วงวัยรุ่นนี่เองที่เขาเริ่มดื่มเหล้ากับแก๊งเพื่อนและหันมาใช้ยาเสพติด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ได้เริ่มทำวงดนตรีอย่างจริงจัง โดยได้ก่อตั้งวง Stranger Than Fiction และ A Murder of Crows เขาได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘เอลเลียต’ โดยให้เหตุผลว่าชื่อสตีเฟ่นนั้นฟังดูเป็นหนอนหนังสือมากเกินไป คาดว่าเขาตั้งตามชื่อถนน Elliott Avenue หรือไม่ก็แฟนสาวเป็นคนตั้งให้
ต่อมาเอลเลียตเข้าเรียนต่อที่ Hampshire College ในรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเลือกเรียนสาขาปรัชญาและรัฐศาสตร์ตามแฟน เขาให้สัมภาษณ์กับ Under The Radar ในปี 2003 อย่างอารมณ์ดีว่า “เหตุผลทั้งหมดที่ผมสมัครเข้าเรียนสาขานี้ก็เพราะแฟนครับ แต่ความจริงที่ปวดใจคือเราเลิกกันก่อนจะเปิดเทอมวันแรกด้วยซ้ำ หลังเรียนจบผมถือใบปริญญาสาขาปรัชญาฯ เข้าไปสมัครทำงานในร้านเบเกอร์รี่แห่งหนึ่ง”
แม้จะต้องทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน บางครั้งก็เป็นคนว่างงาน ไม่มีเงินใช้ แต่เขาหันมาจริงจังกับการทำเพลงมากขึ้น โดยตั้งวงดนตรีชื่อ Heatmiser ร่วมกับรูมเมทสมัยเรียน ก่อนจะผันตัวมาเป็นศิลปินเดี่ยวและมีผลงานอัลบั้มเดบิวต์ ‘Roman Candle’ ในปี 1994 หลังแฟนสาวในขณะนั้นโน้มน้าวให้เขานำเดโม่ที่ทำไว้เล่นๆ ส่งให้ค่ายเพลงพิจารณา การเป็นศิลปินมีสังกัดทำให้เอลเลียตมีโอกาสนำเพลงในอัลบั้มของตัวเองมาแสดงโชว์ครั้งแรก
“หลังปล่อยอัลบั้มนี้ออกมา ผมคิดว่าตัวเองคงต้องถูกตัดหัวเสียเดี๋ยวนั้น เพราะเพลงของผมมันช่างตรงข้ามกับแนวดนตรีกรันจ์ของวง Mudhoney และ Nirvana ที่กำลังมาแรงสุดๆ”
แต่ใครจะไปรู้ว่าการแสดงในครั้งนั้นถือเป็นการเปิดประตูสู่เส้นทางอาชีพที่เขารัก เพราะเอลเลียตได้รับการติดต่อให้ไปเล่นเปิดในคอนเสิร์ตของศิลปินหญิง Mary Lou Lord ซึ่งเธอคืออดีตหวานใจของ ‘เคิร์ท โคเบน’ แห่งวง Nirvana นั่นเอง
หลังจากเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว เอลเลียตเดินหน้าทำเพลงต่อไป ความโดดเด่นคือแต่ละบทเพลงล้วนเต็มไปด้วยอารมณ์เศร้าซึ้งที่แฝงความโรแมนติกนิดๆ ตามสไตล์โฟล์ค ขณะเดียวกันเขาก็ถูกวิจารณ์ว่าเนื้อหาเพลงส่วนใหญ่มีความดาร์ก เพราะแต่งขึ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่ก็มีความนุ่มลึกที่กลายเป็นเสน่ห์ในดนตรีของเขา
โดยเฉพาะอัลบั้ม Either/Or ที่ปล่อยออกมาในปี 1997 ตั้งตามชื่อหนังสือของ Søren Kierkegaard นักปรัชญาชาวดัตช์ มีบทเพลงโด่งดังอย่าง “Between the Bars” รวมอยู่ด้วย ทำนองดนตรีสุขุมแต่เศร้าหมอง กลายเป็นเพลงประจำตัวเอลเลียตนับตั้งแต่นั้น ในช่วงนี้เองที่เขาเริ่มใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าและติดเหล้าอย่างหนัก ซึ่งสะท้อนผ่านชั้นเชิงด้านการเขียนเพลงชนิดที่หาตัวจับได้ยาก
(เนื้อเพลง Between the Bars)
Drink up, baby, look at the stars
I'll kiss you again, between the bars
Where I'm seeing you there, with your hands in the air
คำว่า “between the bars” ที่เอลเลียตเขียนถึง สามารถตีความได้ถึง 3 ความหมาย
• Bars แปลว่า ‘บาร์เหล้า’ - เขามักตะลอนไปทั่วเมืองเพื่อดื่มเหล้าในบาร์ต่างๆ
• Bars แปลว่า ‘คอร์ดบาร์กีตาร์’ - ระหว่างกำลังเล่นกีตาร์เขาจะจิบเหล้าไปด้วยเสมอ
• Bars แปลว่า ‘ซี่ลูกกรงในคุก’ - เปรียบตัวเองว่าติดเหล้าอย่างหนักเหมือนนักโทษที่ถูกคุมขังไว้
ส่วน “with your hands in the air” ก็ตีความได้ 2 ความหมายอีกเช่นกัน ได้แก่ การโบกมือเรียกบาร์เทนเดอร์เพื่อสั่งเหล้าเพิ่ม และโบกมือให้ผู้ชมที่มาชมการแสดงของเขาจากบนเวที
(เนื้อเพลง Waltz #2)
I'm never going to know you now
But I'm going to love you anyhow
ผมไม่อาจเข้าใจเธอได้
แต่ผมก็จะรักเธอต่อไปไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
ประโยควรรคทองที่เหมือนจะซ่อนความโรแมนติกไว้ แต่คำว่า ‘You’ ในที่นี้ เอลเลียตหมายถึง ‘คุณแม่’ ของตัวเอง บรรยายถึงความรู้สึกสับสนและเสียใจที่แม่และพ่อหย่ากัน โดยแม่ไปอยู่กินกับสามีคนใหม่ซึ่งกลายเป็นพ่อเลี้ยงที่ทำร้ายจิตใจของเขาในเวลาต่อมา แม้เอลเลียตจะไม่เข้าใจในการกระทำของแม่ แต่เขาก็ยังคงรักแม่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
แต่สำหรับเพลงที่สร้างชื่อให้เอลเลียตมากที่สุด คือ “Miss Misery” ซึ่งใช้เป็นซาวนด์แทร็กประกอบภาพยนตร์เรื่อง Good Will Hunting ที่ช่วยเสริมโทนให้หนังเรื่องนี้กลมกล่อมมากยิ่งขึ้น แถมยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา Best Original Song ประจำปี 1998 อีกด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องหลีกทางให้เพลง “My Heart Will Go On” ของเซลีน ดิออน ซาวนด์แทร็กดังจากภาพยนตร์เรื่อง Titanic อย่างไรก็ตามเอลเลียตได้รับเชิญขึ้นไปร้องเพลงนี้บนเวทีออสการ์ด้วย โดยเขาพูดถึงความทรงจำในวันนั้นว่า
“เป็นประสบการณ์ที่เหนือจริงมากครับ ผมสนุกกับการแสดงพอๆ กับที่ผมมีความสุขกับการเขียนเพลง แต่ออสการ์เป็นงานที่ค่อนข้างแปลก พวกเขาให้ผมร้องเพลงฉบับย่อ ใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีด้วยซ้ำ และแขกในงานจำนวนมากก็ไม่ได้มาฟังผมร้องเพลงหรอก ผมไม่อยากอยู่ในโลกแบบนั้น ไม่ค่อยอยากจะไปแฮงเอาต์กับคนดังสักเท่าไหร่ เพราะผมคิดว่าไลฟ์สไตล์ของคนพวกนี้มันออกจะแปลกประหลาดน่ะครับ”
หลังประสบความสำเร็จอย่างมากจากอัลบั้ม Either/ Or และเพลง "Miss Misery" เอลเลียตได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงใหญ่ DreamWorks Records แต่ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์นี้ เขากลับต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง มักพูดถึงเรื่องความตายอยู่บ่อยๆ แถมเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเคยกระโดดหน้าผาในรัฐนอร์ทแคโรไลนาเพื่อหวังปลิดชีพตัวเองด้วย แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะดันตกไปติดต้นไม้ข้างล่าง เมื่อสื่อถามถึงประเด็นนี้ เขาจะตอบกลับว่า “ใช่ครับ ผมเคยกระโดดหน้าผา แต่เรามาคุยเรื่องอื่นกันดีกว่านะ”
แม้เขาต้องเก็บซ่อนปัญหาและความรู้สึกต่างๆ เอาไว้มากมาย แต่ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์สื่อ เอลเลียตจะเป็นชายหนุ่มถ่อมตัวเหมือนดั่งทำนองดนตรีเนิบช้าและเนื้อเพลงที่แสนละเอียดอ่อนของเขา
“ผมไม่เคยอ่านบทรีวิวที่คนอื่นวิจารณ์เพลงของผมเลยครับ เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเขียนเพลงในอนาคต แม้นักข่าวจะสัมภาษณ์ผมด้วยคำถามที่แตกต่างกัน แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเลย ผมยังคงคิดเรื่องเดิมๆ ทำสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำมาตลอด ผมไม่ใช่คนที่โด่งดังหรือมีชื่อเสียงอะไรหรอกครับ”
นับตั้งแต่ปี 2000 ชีวิตของเอลเลียตอยู่ในช่วงที่ย่ำแย่สุดๆ โดยระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อโปรโมตอัลบั้ม Figure 8 เขาเสพติดเฮโรอีนอย่างหนัก เริ่มเป็นโรคหวาดระแวง ประสาทหลอนคิดว่ามีรถตู้สีขาวติดตามเขาไปทุกหนแห่ง บ้างก็พูดเป็นตุเป็นตะว่ามีคนจากค่ายเพลงบุกงัดบ้านเพื่อหวังขโมยเพลงในคอมพิวเตอร์ของเขา เอลเลียตติดยาเสพติดจนเริ่มมีปัญหาในการทำงานทำให้ Jon Brion โปรดิวเซอร์คู่บุญที่ร่วมงานกันตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกขอแยกทาง นอกจากนี้เขายังมีเรื่องกับค่ายเพลงและเคยขู่ฆ่าตัวตายหากทางค่ายไม่ยอมยกเลิกสัญญาจ้าง
เดวิด แม็คคอนเนล โปรดิวเซอร์ที่มาช่วยสานต่อทำอัลบั้มใหม่เปิดเผยว่า “เอลเลียตหมดเงินวันละ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 46,000 บาท) ไปกับเฮโรอีนและโคเคน พร่ำบ่นถึงการฆ่าตัวตาย บางครั้งก็เสพยาเกินขนาด ร่างกายโทรม ผมเผ้ารุงรัง ใบหน้าเต็มไปด้วยหนวดเครา ความจำเลอะเลือน มือไม้อ่อนชอบทำของตกอยู่บ่อยๆ ลืมเนื้อเพลงจนแฟนเพลงต้องตะโกนช่วยต่อเพลงให้ บางครั้งก็เผลอหลับระหว่างทำการแสดง ไม่สามารถเล่นจนจบโชว์ได้”
นอกจากนี้ บรรดาสื่อและนักวิจารณ์ดนตรีต่างลงความเห็นว่า
“การแสดงสดของเอลเลียต สมิธ เป็นหนึ่งในโชว์ที่ยอดแย่ที่สุดตลอดกาลของนักดนตรี”
“ความรู้สึกระหว่างชมการแสดงเต็มไปด้วยความระทมทุกข์ราวกับฝันร้าย”
“จะไม่แปลกใจอะไรทั้งนั้น หากเอลเลียต สมิธ จะตายภายใน 1 ปี”
เรื่องป่วนๆ ไม่จบลงเท่านี้ เพราะในเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 เขาทะเลาะวิวาทกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแอนเจลิส จนต้องเข้าไปนอนในคุกพร้อมแฟนสาว ‘เจนนิเฟอร์ ชิบา’ ถึง 2 คืน เอลเลียตกลายเป็นชายที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขี้หงุดหงิด และฉุนเฉียว ผิดแผกไปจากศิลปินถ่อมตัวที่หลายคนเคยรู้จักเมื่อหลายปีก่อน
นับจากเหตุการณ์นั้น เขาเข้ารับการบำบัดอย่างจริงจัง หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ เอลเลียตกลับมาเปิดการแสดงอีกครั้ง และแน่นอนว่าแฟนๆ ยังคงรอคอยการกลับมาของศิลปินที่พวกเขารักเสมอ ทำให้คอนเสิร์ตที่ Henry Fonda Theater ในวันที่ 31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ 2003 บัตรขายหมดเกลี้ยงทั้ง 2 วัน โดยก่อนขึ้นทำการแสดงเขาเรียกความมั่นใจกลับคืนมาด้วยการเขียนคำว่า “Kali – The Destroyer” (พระแม่กาลี) ลงบนแขนข้างซ้าย
เอลเลียตเริ่มกลับมาทำอัลบั้มชุดที่ 6 ‘From a Basement on the Hill’ โดยเรียนรู้การทำเพลงผ่านคอมพิวเตอร์ iMac แต่ในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังกลับมาเข้าร่องเข้ารอยก็เกิดข่าวช็อควงการดนตรีขึ้น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2003 ณ บ้านพักที่แคลิฟอร์เนีย เอลเลียตใช้มีดแทงหน้าอกตัวเอง เข้าตำแหน่งหัวใจถึง 2 ครั้ง เจนนิเฟอร์วิ่งออกมาจากห้องน้ำหลังได้ยินเสียงร้อง เธอรีบเข้าไปดึงมีดที่ปักหน้าอกเขาออกแล้วโทรแจ้งเบอร์ฉุกเฉิน แต่ไม่ทันการเพราะเอลเลียตไปสิ้นใจที่โรงพยาบาลด้วยวัยเพียง 34 ปี
การตัดสินใจฆ่าตัวตายในครั้งนี้ เขาทิ้งโน๊ตที่เขียนว่า “I’m so sorry – love, Elliott. God forgive me” (ผมขอโทษ – ด้วยรัก, จากเอลเลียต พระเจ้าโปรดอภัยให้ผมด้วย) ภายในห้องยังพบหลักฐานใบสั่งยาชนิดต่างๆ จากแพทย์ เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายความกังวล ยาแก้โรคสมาธิสั้น (ADHD)
แต่ที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากคือ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพเขียนรายงานการเสียชีวิตโดยสะกดชื่อเขาผิดเป็น ‘Elliot’ (ตกอักษร ‘T’ ไป 1 ตัว) นำไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดสาเหตุการตายว่าอาจเกิดจากการฆาตกรรม
ทางด้าน แลรี่ เครน โปรดิวเซอร์ที่จะมาร่วมทำอัลบั้มสุดท้ายก่อนเอลเลียตเสียชีวิต เผยว่า “ผมไม่ได้คุยกับเอลเลียตเป็นปี แต่วันหนึ่งแฟนเขาโทรมาหาผมแล้วถามว่าพอจะมาหาได้ไหม ผมตอบตกลงและได้คุยกับเขาอีกครั้งหลังไม่ได้ติดต่อกันเป็นชาติ มันค่อนข้างแปลกที่เอลเลียตนัดผมไปช่วยทำอัลบั้มให้เสร็จ แต่หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์เขาก็ฆ่าตัวตาย”
ในขณะที่ วิลเลียม ทอดด์ ชุลซ์ นักเขียนเจ้าของหนังสือ Torment Saint: The Life of Elliott Smith ที่ใช้เวลาถึง 4 ปีในการตามเก็บประวัติของเอลเลียต ทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์เพื่อนในวัยเด็ก เพื่อนบ้าน เจ้าของค่ายเพลง โปรดิวเซอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ โดยเขานิยามเอลเลียตว่าเป็น “ชายผู้อมทุกข์ที่สุดในปฐพี” และเชื่อว่าศิลปินคนนี้ฆ่าตัวตายจริง พร้อมตั้งประเด็นว่า เวลาที่ศิลปินเสียชีวิต แฟนๆ มักพุ่งเป้าโทษคนรักของศิลปินก่อนเป็นอันดับแรก ตอนที่เคิร์ท โคเบน เสียชีวิต ‘คอร์ทนีย์ เลิฟ’ ก็โดนกล่าวหา หรือแม้แต่ ‘โยโกะ โอโนะ’ ภรรยาของจอห์น เลนนอน ก็กลายเป็นผู้หญิงที่แฟนๆ เกลียดไปโดยปริยาย
“ผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) แฟนๆ มองว่าพวกเธอคือปีศาจที่มาทำลายฮีโร่ของพวกเขา บางคนจึงพยายามหาทฤษฎีต่างๆ มาหักล้างว่าเอลเลียตไม่ได้ฆ่าตัวตาย เพราะอยากหาคนมารู้สึกผิดแทน เนื่องจากพวกเขาไม่อาจยอมรับได้ว่า จริงๆ แล้ว ‘ฮีโร่’ เลือกที่จะทิ้งพวกเขาไปเองต่างหาก”
ส่วนเจนนิเฟอร์ ชิบา แฟนของเอลเลียตไม่เปิดปากให้สัมภาษณ์ใดๆ อีกเลย เพราะมีแฟนเพลงหลายคนโจมตีว่าเธออยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตในครั้งนี้ จนกระทั่งปี 2013 เป็นวันครบรอบ 10 ปีการตายของเอลเลียต สมิธ ทางนิตยสาร Spin ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของเจนนิเฟอร์ ดังนี้
“หลายคนอาจคิดว่าการเสพยาเสพติด เป็นการใช้เพื่อหลีกหนีอดีตอันขมขื่น ทำให้คุณรู้สึกสงบ มีความสุขล้นปรี่ แต่เมื่อคุณเลิกใช้ยา นั่นคือการถอดหน้ากากที่ปกปิดทุกความรู้สึกออกมา แล้วตอนนั้นล่ะ…จะเป็นช่วงเวลาที่คุณค้นพบว่าตัวเองอ่อนแออย่างที่สุด”
ปัจจุบันนี้ เคสการตายปริศนาของเอลเลียตยังคงถูกหยิบยกมาโต้เถียงอยู่บ่อยครั้ง ว่าเป็นการ ‘ฆ่าตัวตาย’ หรือ ‘ฆาตกรรม’ กันแน่ ส่วน ‘From a Basement on the Hill’ ก็กลายเป็นสตูดิโออัลบั้มชุดสุดท้ายที่ปล่อยออกมาในปี 2004 ภายหลังการเสียชีวิตกว่า 1 ปี
เอลเลียต สมิธ หวนคืนสู่อ้อมกอดพระเจ้า หลงเหลือไว้เพียงผลงานเพลงที่เป็นดั่งพินัยกรรมทางดนตรีชิ้นสำคัญ ที่นอกจากยืนยันความสามารถทางดนตรีของเขาแล้ว ยังเป็นบทบันทึกเรื่องราวชีวิตของศิลปินแสนเศร้าคนนี้อีกด้วย
Source:
• Elliott Smith: Last word on a tormented rock hero
• The mysterious death of Mr Misery
• A fond farewell: Remembering Elliott Smith, 15 years after his tragic and mysterious death
Story By: ตติ