เปิดตำนาน ‘Space Oddity’ บทเพลงเสียดสีวงการอวกาศอังกฤษของ David Bowie
ความงามของเพลงสักเพลงอาจเริ่มต้นขึ้นเมื่อตัวโน้ตบรรเลง หรือเนื้อเพลงแค่ประโยคเดียวไปสัมผัสใจคนฟัง หลายบทเพลงเกิดขึ้นแล้วเลือนหายไป ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งเดินทางฝ่าสายธารเวลาจนกลายเป็นเพลงดังระดับตำนานที่ได้ชื่อว่า ‘เวลาฆ่าไม่ตาย’
เชื่อว่าหนึ่งในบรรดาเพลงที่เอาชนะการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและทะยานขึ้นไปอยู่บนหิ้งได้สำเร็จ ต้องมีชื่อของเพลง ‘Space Oddity’ รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน และผู้ขับขานเพลงนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ เดวิด โบวี (David Bowie) ศิลปินชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ เจ้าของฉายากิ้งก่าเปลี่ยนสีแห่งวงการดนตรี
ใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วบ่นอุบออกมาว่าไม่ใช่แฟนเพลงของโบวี…ก็ไม่เป็นไร แต่เชื่อว่าคุณต้องเคยได้ยินเพลงนี้มาบ้าง อย่างน้อยก็หากได้ดูหนังเรื่อง The Secret Life of Walter Mitty เนื้อเพลงท่อน “Ground Control to Major Tom” ที่ดังขึ้นพร้อมๆ กับเสียงนับเลขถอยหลัง 10…9…8… ก็ต้องซึมเข้าไปในห้วงความจำส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน
สำหรับคนที่ฟังเพลงนี้มาแล้วหลายรอบ เคยสงสัยไหมว่าทำไมโบวีต้องเลือกชูประเด็นการเดินทางท่องอวกาศ รวมไปถึง ‘ผู้พันทอม’ (Major Tom) ในเพลงนี้คือใคร และทำไมเรายังต้องหยิบยกบทเพลงเก่าที่เขียนขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วมาพูดถึงกันอีกครั้งในยุคที่รายล้อมไปด้วยความหลากหลายทางดนตรีเช่นนี้
Space Oddity ถูกปล่อยให้ฟังครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1969 เป็นแทร็กลำดับแรกในสตูดิโออัลบั้มชุดสองที่ใช้ชื่อว่า ‘David Bowie’ เพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลแรกของโบวีที่เข้าไปครองท็อป 5 ในชาร์ตเพลงบนเกาะอังกฤษได้สำเร็จ และพุ่งขึ้นถึงอันดับ 1 ในเวลาต่อมา
แต่ก่อนจะฮิตติดชาร์ต เพลง Space Oddity เคยทำหน้าที่เป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง Love You till Tuesday ซึ่งเป็นหนังที่ Kenneth Pitt ผู้จัดการส่วนตัวของโบวีในขณะนั้นพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อหวังโปรโมตศิลปิน โดยมี John Hutchinson ทำหน้าที่ร้องประสานเสียงท่อน “Ground Control to Major Tom…”
ในเนื้อเพลงมีการใช้คำว่า ‘Major Tom’ ซ้ำกันถึง 9 ครั้ง ความจริงแล้ว Major Tom หรือ ‘ผู้พันทอม’ เป็นตัวละครสมมติที่โบวีได้แรงบันดาลใจจากหนัง Sci-Fi เชิงปรัชญาเรื่อง 2001: A Space Odyssey ผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับฯ ชั้นครู ‘สแตนลีย์ คูบริก’ ที่ออกฉายในปี 1968
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจาก The Sentinel เรื่องสั้นของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก ตีพิมพ์ในปี 1948 ว่าด้วยการเดินทางท่องอวกาศไปยังดาวพฤหัส (ต้นฉบับในเรื่องสั้นคือดาวเสาร์) ของ ดร.เดวิด โบว์แมน, ดร.แฟรงค์ พูล และนักวิทยาศาสตร์อีก 3 คน เพื่อสำรวจสัญญาณลึกลับที่ส่งมาจากแท่งหินปริศนาสีดำ โดยมีคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ HAL 9000 เดินทางไปพร้อมยานอวกาศ
หากใครได้ดู 2001: A Space Odyssey จะรู้ว่านอกจากเทคนิคอันล้ำลึกโดยปราศจากซีจีที่คูบริกนำมาปรับใช้แล้ว อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือความหมายเชิงปรัชญาที่แฝงอยู่ในหนัง แม้จะล่วงเลยมานานร่วม 50 ปี แต่ยังไม่สามารถหาบทสรุปที่ชัดเจนได้ว่าหนังต้องการสื่ออะไร ปัจจุบัน 2001: A Space Odyssey ก็ยังเป็นหนังที่บรรดานักวิจารณ์และเซียนหนังหยิบมาถกเถียงกันในวงสนทนาอยู่เสมอ
บทเพลง Space Oddity ก็เช่นเดียวกัน ทว่าโชคดีหน่อยที่เพลงนี้มีความยาวประมาณ 5.15 นาที ไม่ใช่เกือบ 3 ชั่วโมงเหมือนหนัง เนื้อเพลงเล่าถึงผู้พันทอมที่ต้องลาภรรยาและครอบครัวเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอวกาศ แม้ช่วงแรกจะสามารถติดต่อกับหอบังคับภาคพื้นดินได้ แต่เมื่อเพิ่มระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งห่างไกลโลก ยานลอยเคว้งคว้างกลางอากาศ สัญญาณเริ่มขาดหาย จนกระทั่งผู้พันทอมตัดสินใจก้าวออกมาจากยานอวกาศสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น…
บางคนตีความว่านี่คือบทเพลงแสนเหงาในยามที่ห่างไกลคนรัก บ้างก็ว่านี่คือการตัดสินใจละทิ้งความโศกเศร้าไว้เบื้องหลังเพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ และอีกหลายคนกลับบอกว่า นี่เป็นแค่เพลงที่โบวีเล่าถึงชีวิตตัวเองก็เท่านั้น
แน่นอน, บทเพลงที่ดีย่อมทิ้งช่องว่างให้คนฟังมีโอกาสเลือกหยิบข้อความบางอย่างที่ศิลปินซ่อนไว้ระหว่างบรรทัดมาเชื่อมโยงให้เข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง
ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่ง เพลง Space Oddity ไปไกลกว่านั้น เพราะนี่คือเพลงที่ซ่อนนัยของการเสียดสีความก้าวหน้าด้านอวกาศของอังกฤษไว้อย่างแยบยล เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นอยู่ช่วงที่สงครามเย็นยังไม่สิ้นสุดลง เพราะท่ามกลางการแข่งขันด้านอวกาศอย่างเข้มข้นระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต อังกฤษกลับไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็นนัก…ผู้พันทอมจึงเปรียบเสมือนตัวแทนที่สะท้อนความล้มเหลวด้านอวกาศของอังกฤษ
นอกจากนี้ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศก็อยู่ในกระแสความสนใจของโลกในขณะนั้น เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังตื่นเต้นกับการส่งยานอวกาศโครงการ Apollo 11 ที่นำโดย ‘นีล อาร์มสตรอง’ ไปสำรวจดวงจันทร์ โดยปล่อยยานออกจากฐานในวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 และกลับถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม 1969
ยังจำได้มั้ยว่าเพลง Space Oddity ปล่อยให้ฟังครั้งแรกเมื่อวันที่เท่าไหร่… ‘11 กรกฎาคม 1969’ หรือ 5 วันก่อน Apollo 11 ออกเดินทางนั่นเอง
แม้เพลงจะปล่อยออกมาแล้ว แต่ทาง BBC ได้สั่งแบนและห้ามเปิดเพลง Space Oddity ผ่านวิทยุกระจายเสียงอย่างเด็ดขาด เนื่องจากตัวละครสมมติ ‘ผู้พันทอม’ ในบทเพลงนั้นได้เดินทางไปทำปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ และขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน หรือพูดง่ายๆ คือ “ไปแบบไม่กลับ” นั่นเอง
BBC จึงมีเงื่อนไขว่าจะเผยแพร่เพลงนี้ได้ก็ต่อเมื่อทีมนักบินอวกาศของ Apollo 11 ประกอบด้วย นีล อาร์มสตรอง เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ ทำภารกิจสำเร็จและกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย
อย่างที่ทราบกันหลังจากทีมนักบินอวกาศของ Apollo 11 กลับโลกในฐานะฮีโร่ บทเพลง Space Oddity ก็โด่งดังและได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ทั่วโลกรู้จักผู้ชายที่ชื่อ ‘เดวิด โบวี’ ไปโดยปริยาย
ความสำเร็จอย่างถล่มทลายของเพลง Space Oddity ทำให้ผลงานเพลงต่อๆ มาของเขามักหยิบคาแร็กเตอร์ ‘ผู้พันทอม’ และธีมเรื่องอวกาศมาใส่ในมิวสิกวิดีโออีกหลายเพลง เช่น Ashes To Ashes, Hallo Spaceboy และ Blackstar โดยในปี 2009 มีการนำเพลง Space Oddity เวอร์ชั่นดิจิทัลรีมาสเตอร์ มาวางจำหน่ายอีกครั้งเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีโครงการ Apollo 11 เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์
นอกจากนี้ในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘No Surprise’ ของวง Radiohead ก็ยังเล่าเรื่องโดยใช้ธีมนักบินอวกาศ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเพลง Space Oddity และหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey หากจำไม่ผิด Bernard Sumner หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวง Joy Division เคยให้สัมภาษณ์ว่าภาพปกอัลบั้ม 'Unknown Pleasures' ที่ได้ชื่อว่าเป็นไอคอนิกตลอดกาลนั้น ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ส่วนปี 2013 Chris Hadfield นักบินอวกาศสัญชาติแคนาดาสร้างเสียงฮือฮาด้วยการร้องเพลง Space Oddity ของเดวิด โบวี บนสถานีอวกาศนานาชาติ และบันทึกวิดีโอจนกลายเป็น 'MV ตัวแรกของโลก' ที่ถ่ายทำบนห้วงอวกาศ
เพลง Space Oddity ยังได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 500 เพลงดังที่มีส่วนก่อร่างสร้างฐานวงการเพลงร็อกแอนด์โรลในปัจุบันอีกด้วย จึงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงนักหากจะบอกว่าแม้โบวีจะล่วงลับไปแล้ว แต่เขาได้ทิ้งคุณูปการทางดนตรีชิ้นสำคัญไว้ให้วงการเพลงระดับโลกเลยทีเดียว
David Bowie - Space Oddity
ภาคพื้นดินเรียกเมเจอร์ทอม
ภาคพื้นดินเรียกเมเจอร์ทอม
เตรียมกินยาโปรตีน สวมหมวกอวกาศให้พร้อม
ภาคพื้นดินเรียกเมเจอร์ทอม
เริ่มต้นนับถอยหลัง เดินเครื่องพร้อม
ตรวจสอบเชื้อเพลิง ขอให้พระเจ้าจงสถิตย์อยู่กับคุณ
(สิบ เก้า แปด เจ็ด หก ห้า สี่ )
(สามสอง หนึ่ง ปล่อยตัวได้....)
ภาคพื้นดินถึงเมเจอร์ทอม
คุณทำได้ยอดเยี่ยมมาก
ตอนนี้ทุกสื่ออยากรู้แม้กระทั่งคุณสวมเสื้อยี่ห้ออะไร
ถึงเวลาออกจากกระสวยแล้ว ถ้าใจคุณกล้าพอ
เมเจอร์ทอมเรียกภาคพื้นดิน
ผมกำลังเปิดประตูออกไป
กำลังล่องลอยสะเปะสะปะไร้ทิศทาง
และดวงดาวดูแปลกและแตกต่างจากเดิม
ผมมาถึงนี่ได้โดยกระป๋องสังกะสีอันนี้
ไกลห่างจากพื้นผิวโลก
ดาวเคราะห์สีฟ้าโศก
ซึ่งผมไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ผมลอยผ่านความสูงหนึ่งแสนไมล์มาแล้ว
แต่ผมยังนิ่งสงบ
ผมรู้ดีว่ายานอวกาศลำนี้จะมุ่งไปทิศทางไหน
บอกภรรยาของผมด้วยว่าผมรักเธอ
จริงๆ เธอก็รู้ดีอยู่แล้ว
ภาคพื้นดินเรียกเมเจอร์ทอม
สัญญาณขาดหาย เกิดอะไรขึ้น
ได้ยินไหม เมเจอร์ทอม
ได้ยินไหม เมเจอร์ทอม
ได้ยินไหม เมเจอร์ทอม
ได้ยินไหม...
ผมมาถึงนี่ได้โดยกระป๋องสังกะสีอันนี้
ไกลห่างจากพื้นผิวโลก
ดาวเคราะห์สีฟ้าโศก
ซึ่งผมไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้
Source:
- Ricochet: a never-before-seen glimpse at David Bowie's Serious Moonlight tour
- HOW JOY DIVISION’S ICONIC ‘UNKNOWN PLEASURES’ ALBUM COVER WAS INSPIRED BY ‘2001: A SPACE ODYSSEY’Space Oddity": 7
- Facts About David Bowie's Cosmic Ballad | GRAMMY Hall Of Fame
Story By: ตติ
Lyrics Translated By: แปลเพลงเล่นกลอน