Britpop แนวดนตรีหรือเครื่องมือทางการเมือง
เวลาเราพูดถึง “เพลงอังกฤษ” หลายๆ คนก็น่าจะนึกถึงกระแส Britpop ในช่วง 1990’s ซึ่ง เป็นกระแส “เพลงอังกฤษ” ที่น่าจะ “แรง” ที่สุดแล้วในระดับโลกในยุคสมัยของเรา
แต่จะมาเล่าเรื่อง Britpop เปล่าๆ มันน่าเบื่อครับ พังกันมาจนเบื่อแล้วเนอะ ตรงนี้ ผมอยากจะเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการเกิดกระแส Britpop ในบริบทสังคมการเมืองอังกฤษ ซึ่ง “คนนอก” ที่ฟังเพลงเฉยๆ อย่างเรา อาจไม่รู้สึกเท่าไร แต่มันส่งผลระดับลึกต่อสังคมการเมืองอังกฤษเลย
ซึ่งลึกแค่ไหน มันก็ระดับพลิกผลเลือกตั้งได้น่ะครับ ทำให้พรรคแรงงานกลับมาชนะได้ แต่จะบอกว่า Britpop “พลิกผล” เลือกตั้ง ก็อาจไม่แฟร์กับคนทำงานการเมืองเท่าไหร่
ว่าให้ตรงที่สุด Britpop นั้นคือ “ภาพสะท้อน” ที่ดีมากๆ ของสังคมและการเมืองอังกฤษ ที่ไม่ต้องการ “การเมือง” แบบเดิมๆ อีกแล้วและเรียกได้ว่า การเปิดของ Britpop และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มันคือสองด้านของเหรียญเดียวกันก็พอได้ แต่เราจะนำกลับไปอังกฤษในยุค 1980’s ก่อน ไม่งั้นจะไม่เข้าใจ
---การเป็นผู้แพ้ของคนดนตรีอังกฤษยุคแปดศูนย์---
ถ้าจะพูดถึงเพลงอังกฤษยุค 1980’s หลายๆ คนอาจนึกไม่ออกเท่าไร เพราะจริงๆ ยุคนี้อังกฤษพวกที่ดังๆ และคนฟังเพลงรู้จักมันมีแต่พวก “อันเดอร์กราวด์” และ “อินดี้” ไม่ว่าเรากำลังจะพูดถึง The Stones Roses, The Smiths หรือ Napalm Death
ซึ่งในบรรยากาศยุค 1980’s คนดนตรีอังกฤษโดยรวมๆ คือคนขบถๆ ที่สนับสนุนขบวนการแรงงาน ซึ่งเอาง่ายๆ คือคนพวกนี้เลือก “พรรคแรงงาน” ทั้งนั้น
ตรงนี้ ถ้าใครพอรู้การเมืองอังกฤษ ก็จะรู้ว่าตลอดศตวรรษที่ 20 การเมืองมันเป็นระบบ 2 พรรคใหญ่ หรือพูดง่ายๆ ถึงจะมีหลายพรรคลงเลือกตั้ง มันมีแค่ 2 พรรคที่จะลุ้นได้ตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายก ซึ่ง 2 พรรคที่ว่า คือพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคแรงงาน
ทีนี้ในยุค 1980’s ด้วยความเติบโตของเศรษฐกิจโลก และการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของพรรคแรงงานในช่วง 1970’s (อย่างน้อยๆ คนอังกฤษก็คิดแบบนั้น) มันเลยทำให้ Margaret Thatcher จากพรรคอนุรักษ์นิยมได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษยาวๆ ตลอดช่วง 1980’s และพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจอังกฤษไปมหาศาล เป็นอะไรที่เราเรียกว่า “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” ทุกวันนี้ คือเน้นตลาดเสรี เอากิจการของรัฐไปขายให้เอกชนรัวๆ และพยายามทำลายขบวนการแรงงานแบบจริงจัง
อยากให้ลองนึกภาพว่า พรรคแรงงานที่ “คนดนตรีขบถ” ยุค 1980’s เลือกทุกสมัย มันแพ้รัวๆ น่ะครับ และนายกที่คนดนตรีนอกกระแสจำนวนมากแต่งเพลงด่าสาบส่งตลอดอย่าง Margaret Thatcher ก็ได้เป็นนายกครองประเทศเป็นสิบปี ดังนั้นมันหมายความว่า “คนอังกฤษส่วนใหญ่” ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับพวกพรรคแรงงาน และนักดนตรีอินดี้ทั้งหลาย
และนี่ทำให้ความรู้สึกของพวก “ฝ่ายซ้าย” อังกฤษมันคือความรู้สึกแบบ “ผู้แพ้” ในทางการเมืองมากๆ ไม่ว่านั่นจะเป็นฝ่ายซ้ายที่เป็นคนดนตรี หรือฝ่ายซ้ายในภาพรวม ซึ่งในความคิดแบบนี้ สุดท้ายมันกลายเป็น “ความภูมิใจในความพ่ายแพ้” หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือ “ความภูมิในในการไม่เป็นกระแส” ของพวกอินดี้อันเดอร์กราวด์ยุค 1980’s
เพราะการทำอะไรที่ “คนส่วนใหญ่ฟัง” มันหมายถึงการทำดนตรีไปถูกใจพวกอนุรักษ์นิยมที่เลือก Margaret Thatcher มา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะหน้าที่ของดนตรีอินดี้อันเดอร์กราวด์ยุค คือการทำเพลงของคนขายขอบเพื่อคนชายขอบ และหลักพื้นฐานคือห้ามทำอะไรที่มัน “ป็อป” เกินเหตุ
บรรยากาศความคิดรวมๆ มันเป็นแบบนั้น และนี่เลยเป็นเหตุผลที่เรามองหาอะไรที่ “ป๊อป” แบบจ๋าๆ ยากมากในแวดงวงเพลงอินดี้อันเดอร์กราวด์อังกฤษยุค 1980’s ไม่ว่าคุณจะพูดถึงพัฒนาการของพวก D-Beat พังค์อย่างวง Discharge ที่แทบจะจงใจทำให้พังค์ให้ฟังแล้วขัดหูสุดๆ
หรือจะพูดถึงเพลงที่มีศักยภาพจะป๊อปจ๋าได้อย่าง The Smiths แต่มันก็เลือกจะจัดสรรค์เมโลดี้ให้ไม่ติดหู ทำให้มันไม่สามารถไปได้ดีในตลาดอื่นๆ นอกจากอังกฤษ
---พรรคอนุรักษ์นิยมเสียหลักแต่พรรคแรงงานก็ยังแพ้---
เศรษฐกิจอังกฤษที่ดีมาตลอดช่วง 1980’s เริ่มมาพังตอนต้น 1990’s อังกฤษประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาว 3 ปีช่วง 1990-1993 และแน่นอนทุกคนชี้มือไปโทษพรรคที่ปกครองประเทศอยู่ตอนนั้นแบบพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งนี่นำมาสู่การที่ผลการเลือกตั้งในปี 1992 นั้นพรรคอนุรักษ์นิยมไม่ได้ชนะแบบขายลอยแบบช่วง 1980’s อีกแล้ว และคนก็หันไปเลือก “พรรคแรงงาน” มากขึ้นเป็นลำดับ
แต่ “ข้อเท็จจริง” ก็คือ ขนาดพรรคอนุรักษ์นิยมบริหารเศรษฐกิจพังแล้วเสียหลักขนาดนี้แล้ว พรรคแรงงานก็ยังไม่มีปัญญาชนะเลือกตั้งอยู่ดี นี่เลยนำไปสู่ ความรู้สึกที่พรรคแรงงานต้อง “รีแบรนด์” หรือกระทั่งเปลี่ยนจุดยืนตัวเอง เพราะมันเห็นกันชัดๆ แล้วว่า ถ้าเป็นแบบเดิม ก็จะแพ้แบบเดิม ในแง่นี้ พรรคต้องอันไปเอาใจ “ชนชั้นกลาง” และ “คนรุ่นใหม่” มากขึ้น และก็บังเอิญจริงๆ มันมี “กระแส” ใหม่ที่เกิดมาในสังคมพอดี และสิ่งที่ว่าคือ Britpop
---เด็กหนุ่มจากแมนเชสเตอร์ผู้เปลี่ยนแปลงเพลงอังกฤษ---
ในปี 1994 ในแวดวงดนตรีมีเหตุการณ์สำคัญจำนวนหนึ่ง ทางฝั่งอเมริกา ราชาเพลงกรันจ์อย่าง Kurt Cobain ฆ่าตัวตายในเดือนเมษายน ทำให้แวดวงดนตรีงุนงงเพราะตอนนั้นไม่มีวงอะไรร้อนแรงเท่า Nirvana พูดอีกแบบมันทำให้ “บัลลังก์” ของเพลงร็อคว่างลงแบบดื้อๆ เลย
แต่ไม่กี่วันหลังจากที่ Kurt Cobain ฆ่าตัวตาย วงร็อคหน้าใหม่จากแมนเชสเตอร์ก็ออกซิงเกิลแรกอย่าง “Supersonic” และวงที่ว่าก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก Oasis ของสองพี่น้อง Gallagher ซึ่งเอาจริงๆ วงนี้ก็มาดังจริงๆ ตอนซิงเกิล "Live Forever" ในเดือนสิงหาคม และอัลบั้ม Definitely Maybe ก็ออกตามมาในเดือนเดียวกัน
แต่สิ่งที่จะพลิกผันทุกสิ่งทุกอย่างก็คืออัลบั้มที่สองอย่าง (What's the Story) Morning Glory? ในปี 1995 ที่ดังถล่มทลายทั้งในอังกฤษและระดับโลก เรียกได้ว่าอัลบั้มนี้แหละที่ทำให้โลกสนใจ “เพลงอังกฤษ” ที่ในตอนนั้นคนอังกฤษก็เริ่มใช้คำว่า Britpop อย่างไรก็ดีอัลบั้มนี้ก็เปลี่ยนแปลงทิศทาง “เพลงอังกฤษ” ไปตลอดกาล
---จากบริทอินดี้มาสู่บริทป็อป---
สำหรับคนฟังเพลงมากๆ ไม่น้อย ก็คงจะรู้สึกว่าเพลงของ Oasis มันไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรขนาดนั้น มันไม่ได้ใหม่ และความป็อปอะไรทำนองนี้เราก็ได้ยินมาตั้งแต่ยุคของ The Beatles แล้ว คือมันก็เป็นเพลงในจารีตเพลงป็อปร็อคของอังกฤษปกติน่ะแหละ แต่ถ้าคิดแบบนี้ สิ่งสำคัญที่เราจะไม่เห็นก็คือ Oasis เป็นวงจาก “ค่ายอินดี้ปลอม” และนี่คือสิ่งที่ท้อนจิตวิญญาณของยุคนี้เลย
ค่าย Creation ที่ Oasis อยู่ เป็น “ค่ายอินดี้” จากยุค 1980’s ซึ่งสิ่งที่เกิดทั่วไปกับค่ายอินดี้ยุค 1980’s ในต้นยุค 1990’s ก็คือมันจะถูกขายให้ “ค่ายใหญ่” ซึ่งในกรณีของ Creation Records มันถูกขายให้ Sony ในปี 1992 ซึ่งปรากฎการณ์เดียวกันก็เกิดกับค่าย Food ของ Blur ที่ถูกขายให้ EMI ในปี 1994
ซึ่งถ้าถามว่าทำไม Oasis กับ Blur ถึงดังเด่นกว่าวงอื่นๆ ในยุคนั้น นี่คือคำตอบส่วนหนึ่งครับ คือมันเป็นวงของ “ค่ายลูก” ของ “ค่ายใหญ่” และ “งบโปรโมต” มันมหาศาล แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ทัศนคติ” ของทั้งสองวงมันก็เหมือนกันคือมัน “ไม่ลังเลที่จะป๊อป” ไม่ลังเลที่จะโด่งดังและร่ำรวย ไม่ลังเลที่จะทำตัวเป็นร็อคสตาร์ ซึ่งนี่เป็นคนละเรื่องกับวิธีคิดของนักดนตรีอินดี้อังกฤษยุค 1980’s ซึ่งมันจะค่อนข้างตั้งคำถามกับตัวเองเวลามัน “ดังเกินไป” “ป็อปเกินไป” แต่วิธีคิดของ Oasis คือตรงกันข้ามเลย
และแน่นอน ด้วยทัศนคติแบบนี้ของ Oasis มันไม่ได้ลังเลจะทำเพลงป็อปให้คนส่วนมากฟัง มันเลยดังชิบหายวางป่วง มันรวยสุดๆ ทำตัวร็อคสตาร์แบบไม่เคอะเขิน และนี่ก็คือ Britpop ดนตรีมันไม่ได้ต่างจากดนตรีอินดี้อังกฤษยุค 1980’s เท่าไร แต่ความต่างคือทรรศนะคติที่อยู่กันคนละโลก
มันไม่เอาอีกแล้ว การอยู่ข้างคนยากจนและคนตัวเล็กตัวน้อย มันไม่มีอีกแล้วความภูมิใจในการอยู่นอกกระแส มันมีแต่ความคิดว่า กูเจ๋ง ดังนั้นกูจะยิ่งใหญ่และกูจะรวย ซึ่งก็แน่นอน Oasis และ Blur ก็ไม่ได้มีความเคอะเขินที่จะแสดงออกสิ่งเหล่านี้มา และ “วัยรุ่นอังกฤษยุค 1990’s” ก็ดูจะชอบด้วย และฝ่ายที่ “สังเกตเห็น” ปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจนี้ก็คือหัวหน้าพรรคแรงงานคนใหม่อย่าง Tony Blair
---จากพรรคแรงงานเก่าสู่พรรคแรงงานใหม่---
พรรคแรงงานเลือก Tony Blair เป็นหัวหน้าพรรคในปี 1994 ซึ่งการเลือก “คนอายุน้อย” วัย 40 ปีอย่างเขาเป็นหัวหน้าพรรค มันก็สะท้อนความต้องการการเปลี่ยนแปลงในพรรค และ Blair ก็มีภารกิจที่จะต้องพลิกโฉมพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะดังที่เล่า ในปี 1992 ขนาดพรรคอนุรักษ์นิยมบริหารประเทศพัง พรรคแรงงานก็ยังแพ้ ดังนั้นมันต้องการการ “รีแบรนด์” ใหม่แบบใหญ่โต
ซึ่งการ “รีแบรนด์” พรรคก็ไปถึงขั้นที่ว่า Blair ได้เปลี่ยน “ถ้อยแถลงภารกิจ” ของพรรค (เขาเรียกว่า Clause I) ซึ่งก็คือข้อบัญญัติของระเบียบพรรคว่าด้วยภารกิจทางการเมืองของพรรค) โดยใจความหลักๆ ของการแก้ไขที่ว่าก็คือ คือ มันเอาข้อความ “ซ้ายจัด” ที่มีลักษณะแบบ “สังคมนิยม” ออกจากถ้อยแถลงภารกิจของพรรคจนหมดเกลี้ยง เรียกได้ว่าคำทำนอง “การถือครองวิถีการผลิตร่วมกันของแรงงาน” ถูกเอาออกจาก และเปลี่ยนไปได้ถ้อยคำกลางๆ อย่างการกระจายอำนาจและทรัพย์สินแทน และที่น่าสนใจคือ ไม่มีคำว่า “แรงงาน” อยู่ในถ้อยแถลงภารกิจอันใหม่ของพรรคเลย
ในตอนหลัง เรารู้แล้วว่า ความหมายของการเปลี่ยนแปลงนี้มันหมายถึง การที่พรรคแรงงานจะเลิกทำทุกอย่างที่เคยทำมาตลอด เลิกสนับสนุนการขยายตัวของรัฐวิสาหกิจ เลิกสนับสนุนสหภาพแรงงาน ไปจนถึงพลิกไปสนับสนุนระบบตลาดเสรี หรือพูดอีกแบบคือ ใช้นโยบายทุกอย่างแบบพรรคอนุรักษ์นิยมน่ะแหละ แค่ยังเรียกตัวเองว่าพรรคแรงงานอยู่
แต่ถ้าทำแบบนี้ แล้วมัน “ชนะเลือกตั้ง” ก็เอาสิ เพราะไอ้การ “ยึดมั่นอุดมการณ์” แบบเดิมๆ น่ะ มันทำพรรคแพ้เลือกตั้งมา 4 สมัยติดกันแล้ว พูดง่ายๆ พรรคแรงงานรู้สึกว่า “อุดมการณ์” แบบเดิมแพ้แล้ว และนี่ไม่ใช่ความรู้สึกลอยๆ บรรยากาศทางสังคมมันเป็นแบบนั้นหมด
สังคมอังกฤษในภาพรวมไม่ได้ต้องการขบวนการแรงงานแล้ว พวกที่ต่อสู้เพื่อแรงงานและคนระดับล่างมาตลอดก็หมดแรงกันแล้ว และนี่คือยุค 1990’s แล้ว สงครามเย็นจบแล้ว ทุนนิยมชนะอย่างเป็นทางการแล้ว
---พรรคแรงงานใหม่กับบริทป็อป---
ความเหนื่อยล้าและพ่ายแพ้ของฝ่ายที่สู้ทุนนิยมมาตลอดยุค 1980 เป็นสิ่งที่ปรากฎทั่วไปในสังคมอังกฤษช่วงต้น 1990’s ถ้ามาดูในแวดวงดนตรี เราก็จะเห็นว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกค่ายอินดี้เลย คือมันหมดแรงกันแล้ว มันขายค่ายให้ค่ายใหญ่กันเกือบหมด และวงอย่าง Oasis ก็เป็นผลผลิตของปรากฎการณ์นี้ ซึ่งวงก็ดันประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย
หรือพูดอีกแบบ Oasis มันทำให้คนที่ “ซ้ายๆ” มาก่อนเริ่มเห็นว่า การสยบยอมหรือร่วมมือกับทุนนิยมมันก็ไม่เลวนัก เพราะอย่างน้อยๆ พอค่าย Creation ที่เป็นค่ายอินดี้มาตลอดยุค 1980’s มาอยู่ในมือของทุนข้ามชาติอย่าง Sony มันก็ได้สร้าง “วงอังกฤษ” ที่น่าจะดังที่สุดนับจาก The Beatles สำเร็จในที่สุด
และแน่นอน คนเห็นดีเห็นงามกัน ไม่มีใครด่าความเป็น “อินดี้เก๊” ของ Oasis เพราะตอนนั้นไม่มีใครสนแล้ว และ Oasis ก็ไม่ได้ลังเลที่จะทำตัว “ไม่อินดี้” เลยแม้แต่นิด และ Blur ก็เช่นกัน
ลักษณะพวกนี้มันดูจะ “พ้อง” กับการเปลี่ยนแปลงของพรรคแรงงานพอดี พูดง่ายๆ ถ้าคนรุ่นใหม่มันไม่ได้ต้องการ “วงอินดี้” ที่มีท่าทีต่อต้านทุนนิยมอีกแล้ว ทำไมคนรุ่นใหม่มันยังจะต้องการพรรคการเมืองเพื่อชนชั้นแรงงานที่ต่อต้านทุนนิยมล่ะ?
นี่เป็นสิ่งที่ Tony Blair มองเห็น และเขาก็รู้เลยว่า ถ้าเขาจับตลาด “คนรุ่นใหม่” ได้ เขาชนะเลือกตั้งแน่ๆ และบังเอิญจริงๆ ที่เขาเป็น “คนรุ่นใหม่” พอดี เพราะในมาตรฐานวัยรุ่นเขาอาจจะดู “แก่” ไปหน่อย แต่ในมาตรฐาน “นักการเมือง” วัย 40 กว่าปีของเขานี่ “เด็ก” มาก
ดังสิ่งที่เขาทำก็เลยเป็นการไป “ออกงาน” ดนตรีของพวก Britpop สารพัด เรียกได้ว่า เขาพยายามทำตัวคูลๆ เพื่อเกาะกระแสคนรุ่นใหม่ ไม่ว่านั่นจะเป็นการนั่งกินเหล้ากับ Damon Albarn ในสภาช่วงปี 1995 ไปจนถึงการไปเข้าร่วมมอบรางวัล Brit Awards ในปี 1996
พร้อมกล่าวปราศรัยชมแวดวงดนตรีอังกฤษอย่างดู “เป็นคนฟังเพลงจริงจัง” เรียกได้ว่าก็มีการโปรยชื่อวงดังๆ ตั้งแต่ 1960’s-1980’s ออกมาหมดเพื่อแสดงตนเป็นคนที่ฟังเพลงแบบเอาเรื่อง เรียกได้ว่า หัวหน้าพรรคหนุ่มคนนี้ เขาพยายามอย่างชัดเจนที่จะ “ทำตัวให้ดูเท่ในสายตาคนรุ่นใหม่” และแน่นอน เขาทำเพื่อ “หาเสียง” สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดในปี 1997
ซึ่งถามว่าเขาเท่มั้ยยุคนั้น ก็เอาเป็นว่า Noel Gallagher ร็อคสตาร์ปากแจ๋วของเรา นั้นตอนขึ้นรับรางวัล Brit Awards ในปี 1996 เขาพูดถึง Tony Blair ด้วย หรือพูดอีกแบบ Blair นี่เจ๋งแค่ไหนไม่รู้ แต่ Noel Gallagher มาช่วย “หาเสียง” ให้น่ะครับ
และก็ไม่ต้องบอกว่าช่วงนั้นอันคือ “ช่วงพีค” ของวง Oasis ในในสุนทรพจน์รับรางวัล Noel ก็ได้กล่าวถึง “คนที่เป็นความหวังของประเทศนี้” ซึ่งก็แน่นอน Noel เริ่มจากพูดถึงตัวเองก่อน ตามด้วย Liam ตามด้วยสมาชิกวงที่เหลือ ตามด้วย Alan McGee ผู้ก่อตั้งค่าย Creation ที่ปั้นพวกเขามา ก่อนจะตบท้ายด้วยการชื่นชม Tony Blair ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านขณะนั้นและเป็นผู้ท้าชิงนายกคนต่อไป
“ถ้าพวกมึงมีปัญหาเหี้ยอะไรนะ มึงไปหาและไปจับมือกับ Tony Blair เลย เขามันของจริงเว้ย! อำนาจแม่งต้องอยู่ในมือประชาชนว่ะ!” Noel กล่าวก้องบนเวที Brit Awards ในปี 1996
ซึ่งในทางกลับกัน ในการประชุมพรรคแรงงานในปีนั้น Alan McGee “ลูกพี่” ของ Oasis ในตอนนั้น ก็ถือรางวัลยอดขายแพลตตินั่มของ Oasis มาโชว์ พร้อมพูดเปิดตัวให้ Tony Blair
และทั้งหมด มันคือ “สัญญาณ” ที่ชัดมากว่า “วงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ” ในยุคนั้น กำลังถือหางพรรคแรงงาน และจะร่วมผลักดันให้ Tony Blair เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในการเลือกตั้งในปี 1997
ซึ่งตรงนี้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าการเกิดขึ้นของ Britpop นั้นสำคัญต่อคนอังกฤษมาก เพราะมันทำให้คนอังกฤษนั้นเริ่มกลับมาภูมิในความเป็น “มหาอำนาจทางวัฒนธรรม” ของตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่ไม่มี “ซอฟพาวเวอร์” มายาวนาน
และนี่มันสำคัญมากๆ กับ “คนรุ่นใหม่” ในอังกฤษ เพราะมันทำให้ศิลปะวัฒนธรรมอังกฤษออกมาเท่อีกครั้ง และในบรรยากาศยุคนั้นมันก็ไม่แช่แค่ดนตรี แต่ทางภาพยนตร์อังกฤษ มันก็มี Trainspotting ออกมาในปี 1996 และแวดวง “ศิลปะ” ก็คึกคักด้วย เรียกได้ว่าหลายแวดวงร่วมกันก่อกระแสความนิยมศิลปะวัฒนธรรมอังกฤษในระดับนานาชาติให้เกิดขึ้นในช่วงนั้นแบบที่ห่างหายไปเป็นสิบปี
จะว่าไป เทคนิคทางการเมืองของ Tony Blair ก็ไม่ได้ใหม่ เพราะในอเมริกาเทคนิคการเป็นขวัญใจวัยรุ่น การใช้ความเป็น “นักการเมืองของคนรุ่นใหม่” มาหาเสียงนั้นจนประสบความสำเร็จได้เป็นผู้นำประเทศมาตั้งแต่ยุค John F. Kennedy และถ้าจะเอาแบบไล่เลี่ยกว่านั้นก็ Bill Clinton แต่เรียกว่า Tony Blair ใช้เทคนิคนี้ถูกที่ถูกเวลามาก เพราะ การที่ “ดนตรีอังกฤษ” จะบูมระดับอินเตอร์แบบนี้ก็ไม่ได้เกิดมานานและมันไม่ปกติเลยที่ “นักการเมือง” จะมาสุงสิงกับคนในแวดวงดนตรีแบบนี้ และผลผลิตในทางการเมืองก็คือ Tony Blair “ได้ใจคนรุ่นใหม่” ไปเต็มๆ
---เลิกต่อต้านทุนนิยมแล้วจะเจริญ---
ในการเลือกตั้งในปี 1997 นั้น Tony Blair ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย เรียกได้ว่าการพลิกโฉมพรรคแรงงานของเขาได้ผลจริงๆ และเขาก็ไม่ลืมว่าใครทำให้เขาชนะ
โดยในงานเลี้ยงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็เชิญเหล่าเซเล็บของแวดวงดนตรีและศิลปะของอังกฤษในยุคนั้นมาร่วมงานด้วย ซึ่งงานเลี้ยงรับตำแหน่งครั้งนั้นนำมาสู่ภาพที่ Tony Blair จับมือกับ Noel Gallagher อันโด่งดัง โดยในบริบทนั้นคนก็เข้าใจกันว่า มันก็เป็นการการแสดงความขอบคุณของนายกรัฐมนตรีหนุ่มกับวงดนตรีอันดับหนึ่งของอังกฤษยุคนั้น ที่พวกผลักดันจนเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดีคนในยุคนั้นก็คงจะไม่รู้สึกถึงความ “ตลกร้าย” ของภาพนี้ เพราะมันดูจะเป็นตัวแทน “อังกฤษยุค 1990’s” ได้ดีมากๆ เพราะนี่คือชายสองคนที่มีพื้นเพอันใกล้ชิดกับ “ชนชั้นแรงงาน” ที่ล้วนประสบความสำเร็จเพราะ ภาพลักษณ์ที่ลืมกำพืดแบบ “ชนชั้นแรงงาน” ของตัวเองและเลิก “ต่อต้านทุนนิยม” ดังเช่นนักการเมืองและนักดนตรีจากชนชั้นแรงงานอังกฤษยุคก่อนๆ เคยทำมาตลอด
ภาพมันเหมือนจะบอกคนทั้งอังกฤษกลายๆ ว่า “จงเลิกต่อต้านทุนนิยม แล้วจะเจริญ” และนี่ก็คือบรรยากาศของอังกฤษยุค 1990’s แท้ๆ
และว่ากันแฟร์ๆ พวกเขาก็ “เจริญ” จริงๆ นั่นแหละ เพราะ 1990’s มันคือยุคหลังสงครามเย็น บรรยากาศความคิดคือทุนนิยมชนะโดยสมบูรณ์แล้ว เปล่าประโยชน์ที่จะต่อต้านอีกต่อไป และมีแต่พวกตกยุคที่ปล่อยวางไม่ลงเท่านั้นแหละที่ยังจะต่อต้าน และการต่อต้านต่อไป ก็จะมีแต่พ่ายแพ้
ซึ่งที่ตลกร้ายกว่านั้น หลังจากยุคของ Tony Blair (ผู้ดันไปจบชีวิตทางการเมืองเพราะดันไปร่วมกับอเมริกาทำสงครามอิรัก และทำให้คนที่เคยสนับสนุนตีตอนออกห่างทั้งหมด) ทางพรรคแรงงานก็มีหัวหน้าพรรคคนใหม่ๆ ที่พยายามจะเอาพรรคกลับไปในแนวทางที่จะเป็นปากเป็นเสียงของ “ชนชั้นแรงงาน” แบบเดิมพร้อมกับเอาท่าทีต่อต้านทุนนิยมกลับมา และผลก็คือพรรคกลับไปเลือกตั้งแบบแพ้หลุดลุ่ย และล่าสุดแพ้ไป 4 สมัยติดกันแล้ว
Guest Writer : FxxkNoEvil