The Queen’s Gambit (2020) เพราะชีวิตจริงควบคุมไม่ได้เหมือนบนกระดาน
The Queen’s Gambit ออริจินัลซีรีส์ของ Netflix ที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกออนไลน์ แถมยังเคยขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ซีรีส์ยอดนิยมในประเทศไทยเป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดกันอีกด้วย ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนชาวอเมริกัน Walter Tevis ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983 เล่าเรื่องราวของ 'เอลิซาเบธ ฮาร์มอน' หรือ 'เบธ' เด็กหญิงกำพร้าที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร จนกระทั่งเธอได้รู้จักกับการเล่นหมากรุก โดยมี 'ไชเบล' ภารโรงบ้านเด็กกำพร้าเป็นคนสอนให้ แม้เขาจะปฏิเสธเบธในทีแรกเนื่องจากหมากรุกเป็นเกมของผู้ชาย แต่หลังจากได้ประลองฝีมือกับเด็กหญิงวัย 9 ขวบคนนี้ ไชเบลรู้ทันทีว่าเธอคืออัจฉริยะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์
ความคลั่งไคล้ในการเล่นหมากรุกได้พลิกชีวิตของเบธและสั่นคลอนแนวคิดที่ว่าผู้หญิงควรจะนั่งเย็บปักถักร้อย เรียนรู้การบ้านการเรือน ไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนในยุค ‘60s - ‘70s ที่จะได้รับการยอมรับในวงการหมากรุก เธอเป็นนักเล่นหมากรุกมือสมัครเล่นที่ไม่มีใครให้ความสำคัญเมื่อไปลงแข่งขันในระดับต่างๆ แต่ฝีมือของเบธกลับสร้างความแปลกใจให้ผู้ชมในทุกสนามแข่งตั้งแต่ระดับเขต ระดับรัฐ ไปจนถึงระดับประเทศ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และเป้าหมายสำคัญในชีวิตที่เธอต้องการล้มแชมป์เซียนหมากรุกระดับ ‘แกรนด์มาสเตอร์’
สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องหมากรุกเลยก็สามารถชมซีรีส์เรื่องนี้ได้ แถมยังอินและลุ้นไปพร้อมกับเบธในทุกๆ กระดาน นอกจากนี้เรื่องราวชีวิตของเบธมีหลายแง่มุมให้ติดตาม ปูมหลังชีวิตของเธอล้วนมีอิทธิพลในการเสริมสร้างตัวตน ‘แข็งแกร่งแต่โดดเดี่ยว’ ผู้คนในชีวิตต่างเข้ามาและจากไปโดยที่เธอไม่สามารถควบคุมได้ เบธจำคำสอนของแม่ที่บอกว่า “คนที่แกร่งที่สุดคือคนที่ไม่กลัวการอยู่คนเดียว” เพราะสิ่งเดียวที่เธอสามารถควบคุมได้ในชีวิตก็คือ หมากบนกระดาน
"หมากรุกไม่เกี่ยวกับแพ้ชนะเสมอไป หมากรุกงดงาม มันคือโลกทั้งใบที่มีแค่ 64 ช่อง ฉันรู้สึกปลอดภัยในนั้น ฉันควบคุมมันได้ ปกครองมันได้ แถมยังเดาทางได้ ดังนั้นถ้าฉันพลาดขึ้นมา ก็ต้องโทษตัวเองคนเดียว"
ประโยคนี้ที่เธอให้สัมภาษณ์ Life Magazine ไม่ใช่แค่แสดงให้เห็นถึงแพสชั่นต่อหมากรุก แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวที่ซ่อนอยู่ในนั้น การรื้อกระดานแห่งการยึดมั่นของผู้คนในยุคนั้นที่มองว่าผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้แข่งขันหมากรุก แต่เบธบอกว่าเธอ “ไม่รังเกียจ” ที่จะเป็นเด็กสาวในดงผู้ชาย เพราะนี่คือเกมที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรืออายุเท่าไรก็ตาม
แน่นอนว่าซีรีส์นำเสนอประเด็นเฟมินิสต์ที่ทำให้คนดูรู้สึกร่วมได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวง การเป็นผู้หญิงภายใต้โลกปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ไม่ได้ทำให้เบธอวดครวญหรือฟูมฟายกับกฎเกณฑ์สังคมที่เธอต้องเจอ ทว่ามันคือความท้าทายในการพิชิตชัยชนะ แต่เส้นทางนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอเมื่อไปเธอต้องเผชิญกับคู่แข่งระดับเซียนของโลก พร้อมกับการค้นพบว่ามีบางสกิลที่เธอไม่สามารถปลดล็อกได้เนื่องจากปมหรือความกดดันบางอย่างภายในจิตใจ
ระหว่างการใช้ชีวิตบางครั้งเธอก็หลงลืมที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคนรอบข้าง แต่ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน เมื่อถึงจุดหนึ่งเบธต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับแรงสนับสนุนและการผลักดันจากคนรอบข้าง เรียนรู้ที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เบธตระหนักว่าเธอยังมีผู้คนมากมายในชีวิตที่รักและจริงใจ เธอไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่คิด ถึงชีวิตจริงจะควบคุมไม่ได้ แต่เธอสามารถเปิดใจเพื่อยอมรับความปรารถนาดีนอกสนามแข่งขันได้
ต้องยอมรับว่าทั้ง 7 อีพีของซีรีส์ The Queen’s Gambit นำเสนอเรื่องราวได้น่าติดตามอย่างมาก ถือเป็นซีรีส์แห่งปีของ Netflix ที่คุ้มค่าแก่การรับชม ไม่ว่าจะเป็นบท ฉาก เครื่องแต่งกาย เพลงประกอบ ทุกอย่างล้วนจัดสรรได้ลงตัวและถูกที่ถูกเวลา ไม่น่าเชื่อว่าซีรีซ์ที่ดูเหมือนจะนำเสนอเรื่องราวเฉพาะกลุ่ม ทว่ากลับสัมผัสใจผู้ชมอย่างง่ายดาย หลังดูจบหลายคนประทับใจกับซีนเรียกน้ำตาที่อบอุ่นระหว่างตัวละครเบธและไชเบล ยิ่งทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีความเป็นมนุษย์และงดงามอย่างมาก
สุดท้ายนี้สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ การแสดงของนักแสดงนำ ‘อันยา เทเลอร์-จอย’ (Anya Taylor-Joy) เต็มไปด้วยเสน่ห์ชวนค้นหาที่ทำให้ตัวละครเบธมีมิติและเต็มไปด้วยเรื่องราวภายในใจ เรียกว่าเป็นการแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการที่จะสร้างฐานแฟนๆ ให้ติดตามผลงานลำดับถัดไปของเธออย่างแน่นอน
คะแนน: 4.5/5
รีวิวโดย Tati