ความเกี่ยวข้องระหว่าง เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ มอเตอร์ไซค์ และดนตรีร็อค
พูดถึงอิมเมจของ “ร็อคเกอร์” ในแบบคลาสสิคนั้น ภาพแรกๆ ที่คนนึงนึกก็คือคนใส่เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ ซึ่งถ้าขี่มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ๆ นี่ก็น่าจะครบเครื่องเลย เรียกได้ว่าแต่งแบบนี้มาก็ได้ยินเพลงร็อคในหัวแล้ว แต่สงสัยมั้ยครับว่าทั้งหมดนี้มันเกี่ยวอะไรกับดนตรีร็อค หรือให้ตรงคือมันเริ่มมาเกี่ยวกันได้ยังไง?
คำตอบแบบสั้นคือ ทั้งหมดนี้มันเป็น “ภาพลักษณ์ของคนอเมริกันเท่ห์ๆ” ในยุคที่อเมริกันส่งดนตรีร็อคแอนด์โรลไปเขย่าโลกพอดี เพราะถ้าย้อนไปดู “นักดนตรีร็อคแอนด์โรล” ยุค 1950s เราก็จะแทบไม่เห็นใครแต่งตัวแบบ “ชาวร็อค” ที่ว่าเลย แต่ประเด็นคือ “แฟนเพลงร็อค” ทั่วโลกยุคนั้นมันแต่งแบบนั้น
หรือให้ตรงและเห็นภาพใหญ่กว่าคือ การแต่งตัวแบบนั้นมันคือการพยายาม “เท่ห์แบบอเมริกัน” มันเลยทำให้สิ่งที่ไม่เคยเกี่ยวกันอย่าง เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ มอเตอร์ไซค์ และดนตรีร็อคแอนด์โรลมาเกี่ยวกัน
จุดกำเนิดอิมเมจร็อคเกอร์ในอเมริกา
คนฟังเพลงร็อคไม่ใช่พวกแรกๆ ในโลกแน่ๆ ที่เอาเสื้อหนังมาใส่กับกางเกงยีนส์ และถ้าจะให้หลายคนเดา ก็คงจะเดาถูกไม่ยากว่าการแต่งกายแบบนี้มันคือการแต่งกายในกลุ่ม “สิงห์มอเตอร์ไซค์นอกกฎหมาย” หรือกลุ่มที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Outlaw Motorcycle Club
ถ้าจะไปไล่พูดถึงประวัติของกลุ่มพวกนี้คงยาว แต่หลักๆ แล้วกลุ่มพวกนี้คือกลุ่มที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอเมริกา ซึ่งมันเป็นกลุ่มของ “นักบิด” ที่ไม่ยอมเอากฎเกณฑ์ของสมาคมจักรยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกาและแยกกลุ่มออกมาเพื่อตั้งกลุ่มของตัวเอง และนี่คือที่มาของคำว่า “นอกกฎหมาย” (outlaw) ในตอนแรกสุด
กลุ่มพวกนี้ก็แน่นอนว่ามีอิมเมจแมนๆ เถื่อนๆ และก็ใส่เสื้อหนังกางเกงยีนส์กัน และที่สำคัญต้องขี่มอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ Harley-Davidson ซึ่งถามว่าทำไมต้องยี่ห้อนี้ คำตอบเร็วๆ คือแบรนด์มอเตอร์ไซค์ในอเมริกาตอนนั้นแหละแค่ Harley-Davidson และ Indian มันมีแค่ 2 แบรนด์นี้ที่รอดจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำใน 1930s มา และแบรนด์หลังสุดท้ายก็ดิ้นรนไม่ไหวและเจ๊งไปในปี 1953 นี่เลยทำให้ Harley-Davidson เป็นแบรนด์ที่อยู่ยงคนกระพันคู่กับนักบิดสไตล์อเมริกันคลาสสิคมาจนถึงทุกวันนี้
นี่เป็นสาเหตุว่าทำไม เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ และมอเตอร์ไซค์ฮาเล่ย์ ถึงมาเกี่ยวกันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่คนพวกนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวอะไรกับดนตรีร็อคเท่าไร คือในอเมริกามันไม่ได้มีเซนส์ว่าคนที่แต่งตัวแบบนี้ต้อง “ฟังเพลงร็อค”
แม้แต่ในยุคที่ดนตรีร็อคแอนด์โรลรุ่งๆ และในอเมริกา พวกที่แต่งตัวแบบนี้แล้วฟังเพลงร็อคมันคือพวกวัฒนธรรมย่อยที่เรียกว่า กรีสเซอร์ (Greaser) ซึ่งสมาชิกหลักคือพวกวัยรุ่นชนชั้นล่างที่ “อยากเท่ห์” เลยแต่งตัวเลียนแบบพวกสิงมอเตอร์ไซค์เถื่อนๆ
แน่นอนว่าพวกกรีสเซอร์นั่นฟังเพลงร็อคแอนด์โรล แต่ประเด็นคือ ในอเมริกากลางๆ 1950s วัยรุ่นที่ไหนก็ฟังเพลงร็อค ดังนั้นสายสัมพันธ์ของดนตรีร็อคกับการแต่งกายแบบนี้เอาจริงๆ มันไม่ได้ “เกิด” ในอเมริกา แต่ประเด็นคือมันเกิดขึ้นที่อื่นพร้อมกันหลายที่ในโลก “โดยบังเอิญ”
อิทธิพลอเมริกันที่ไม่พบในอเมริกา
ในช่วงครึ่งหลัง 1950s สิ่งที่มันเกิดขึ้นหลายประเทศในโลกก็คือ มันมีกลุ่มวัยรุ่นทำผมทรงปอมปาดูร์ ใส่เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ บ้าขี่มอเตอร์ไซค์ และฟังเพลงร็อคแอนโรลอเมริกัน โดยกลุ่มนี้ในอังกฤษเรียกว่า Rocker ในออสเตรเลียเรียก Bodgies ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเรียก Halbstarke ในเนเธอร์แลนด์เรียก Nozem ในแถบกลุ่มประเทศนอร์ดิกจะเรียก Raggare
คือจะบอกว่าพวกนี้ “ทำตัวพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย” ก็ได้ เพราะมันไม่ได้มีการติดต่ออะไรกัน แต่แต่งตัวเหมือนกัน ฟังเพลงเหมือนในยุคเดียวกัน และนี่ก็ไม่ใช่แบบที่พวกอเมริกันจะทำด้วย
คำถามคือทำไม? คือพวกนี้คือ คนกลุ่มแรกๆ ในโลกที่โอบรับ “วัฒนธรรมป็อปอเมริกัน” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มเหนี่ยว เอาจริงๆ ภาพลักษณ์ของ “คนอเมริกันเท่ห์ๆ” ที่ชาวโลกได้รับรู้มันมาจากหนัง และหนังที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกเห่อ “แต่งตัวตามดารา” คือหนังอย่าง The Wild Ones ในปี 1953 ที่นำแสดงโดย Marlon Brando
แต่ที่มาของผมทรงปอมปาดูร์นั้นมาจาก James Dean ในหนัง Rebel without a Cause ในปี 1955 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เพลงร็อคแอนด์โรลดังระเบิดในอเมริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
ซึ่งก็อย่างที่บอก ในอเมริกา ไอ้สิ่งพวกนี้มันไม่ได้เกี่ยวกันเป็นก้อนเดียว ผมทรงปอมปาดูร์ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเสื้อหนังและมอเตอร์ไซค์ เสื้อหนังและมอเตอร์ไซค์มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเพลงร็อคแอนด์โรล แต่สำหรับ “วัยรุ่น” นอกอเมริกาที่ “เสพวัฒนธรรมอเมริกัน” ที่ยุคนั้นถือว่าโคตร “ทันสมัย”
มันเอาองค์ประกอบต่างๆ ของวัฒนธรรมป็อปอเมริกันมายำใหญ่ เพราะก็ไม่มีกติกาใดๆ ที่จะเอา “ทรงผมแบบอเมริกันที่เท่ห์ที่สุด” จาก James Dean “การแต่งกายแบบอเมริกันที่เท่ห์ที่สุด” จาก Marlon Brando และ “เพลงแบบอเมริกันที่เท่ห์ที่สุด” จาก Elvis Presley มายำใหญ่กลายเป็น “วัฒนธรรมย่อย” ของ “วัยรุ่นผู้นิยมวัฒนธรรมอเมริกัน”
แน่นอน เรามักจะไม่เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของพวกนี้ เพราะมันเป็น “วัฒนธรรมย่อย” ที่ตายแล้วแทบทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่ามันพ้นยุคไปคนมันก็ฮิตอย่างอื่น รวมไปจนถึงมันก็โดนวัฒนธรรมย่อยแบบอื่นๆ มาแทนที่ด้วย เช่นพวก Rocker หัวมันเยิ้มใส่เสื้อหนังกางเกงยีนส์ในอังกฤษก็โดนแทนที่โดยพวก Mod ที่ผมสั้นเรียบร้อย ใส่สูท และ “ดูผู้ดี” อันกลายมาเป็น “เครื่องแบบ” ของร็อคสไตล์อังกฤษทุกวันนี้
และที่สำคัญที่สุด ทางฝั่งอเมริกาเองมันไม่เคยโยงว่านักดนตรีร็อคหรือคนฟังเพลงร็อคมันต้อง ใส่เสื้อหนังและกางเกงยีนส์มาแต่แรกแล้ว เพราะ “เครื่องแบบ” ที่ว่ามันเป็นของพวกแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ ซึ่งพอมาสักยุค 1960s ภาพลักษณ์ของ “ชาวร็อค” ในอเมริกามันก็ชัดขึ้น ซึ่งก็คือภาพลักษณ์แบบพวกฮิปปี้ผมยาว และพอสิ่งเหล่านี้ถูกส่งมาที่อื่น มันก็ไปลบล้างภาพของ “ชาวร็อค” แบบเดิมที่ต้องทำผมปอมปาดูร์ ใส่เสื้อหนัง และกางเกงยีนส์ไป
ซึ่งถ้าจะพูดสั้นๆ สักยุค 1970s มันก็แทบไม่มีคนฟังเพลงร็อคที่ไหนรู้สึกว่าเพลงร็อคมันเกี่ยวกับเสื้อหนังและกางเกงยีนส์อีก และสิ่งเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าหลับไหลไปยาวนานกว่าคนจะเอามันมาเกี่ยวกับดนตรีร็อคอีก แต่คราวนี้มันไปโยงกับแนวย่อยๆ แล้ว
พังค์เมทัลการฟื้นฟูเสื้อหนังและสายสัมพันธ์กับวัฒนธรรมสิงห์มอเตอร์ไซค์
แน่นอนเสื้อหนังกับกางเกงยีนส์เป็นสิ่งที่ “เชย” แล้วในช่วง 1970s แต่ความ “เชย” ที่ว่ามันก็คือ “ความคลาสสิค” ไปพร้อมกันด้วย และเรียกว่าคนที่พยายามจะ “กลับไปหารากฐานดนตรีร็อคแอนด์โรล” ก็สามารถจะใช้ภาพลักษณ์ของเสื้อหนังและกางเกงยีนส์ เพื่อเป็นการ “ส่งซิก” ว่า “พวกข้าคลาสสิคนะเว้ย” และเอาจริงๆ วงที่ทำแบบนี้วงแรกๆ คือวงพังค์สุดคัลท์อย่าง The Ramones
การเริ่มของ The Ramones ไม่ได้มีคน “ทำตาม” เท่าไรในช่วงแรกที่วัฒนธรรมพังค์มีความแตกต่างหลากหลายมาก (พูดง่ายๆ คือแต่งตัวไม่เหมือนกันสักวง) ซึ่งในอเมริกานี่เรียกได้ว่าแป้กสนิท แต่พอสักรุ่นสอง ในอังกฤษเอง ในหมู่พวกพังค์มันก็มีการ “ใส่เสื้อหนัง” กันจริงจังขึ้น
ซึ่งถามว่าทำไมต้องแต่งแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากอุดมการณ์ของพวกพังค์เองที่มองว่าในทางดนตรีพวกตนพยายามจะกลับไปหา “รากฐานอันเรียบง่าย” ของร็อคแอนด์โรล และก็ไม่แปลกอะไรที่การแต่งกายมันจะอิงยุคคลาสสิคของร็อคแอนโรลในอังกฤษที่ใครฟังเพลงร็อคก็ต้องใส่เสื้อหนังดังที่เล่ามาก
ลุคแบบนี้ของพวกพังค์มั้นจะไปชัดตอนปลาย 1970s ต้น 1980s ซึ่งตอนนี้มันจะเรียกว่าลุคแบบ “สตรีทพังค์” และมันเรียกไดว่าเป็น “สไตล์แบบอังกฤษ” จริงๆ พวกพังค์อเมริกันช่วงเดียวกันจะไม่แต่งแบบนี้
ความสำคัญของพวกสตรีทพังค์อังกฤษนั้นไม่ใช่แค่การคืนชีพให้กับเสื้อหนังที่ห่างหายไปจากวัฒนธรรมดนตรีร็อคเท่านั้น แต่พวกนี้ยังเป็นพวกแรกๆ ที่แต่งกายแบบเน้น “ดำล้วน” แบบห้ามมีสีอื่นเลย ซึ่งพวกนี้ทำก่อนพวกเมทัลแน่ๆ เพราะทางฝั่งเมทัลความ “ดำล้วน” แบบสากลเพิ่งเกิดตอนช่วง 1990s เท่านั้นเอง เพราะไปดูพวกเมทัลแม้จะพวก “สายโหด” ของยุค 1980s ไม่ว่าจะแธรชเมทัลทั้งยุคคลาสสิคหรือเดธเมทัลช่วงแรกๆ มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะต้องแต่ง “ดำล้วน” ในภาพรวม
ว่าแต่ “เสื้อหนัง” นี่ก็ฟังดู “เมทัล” สิ้นดี ณ ปัจจุบัน แต่เข้ามาสู่ดนตรีเมทัลได้อย่างไร? คำตอบเร็วๆ คือมันเริ่มจากเฮฟวี่เมทัลอังกฤษอย่าง Judas Priest ในปี 1979 ที่เริ่มใส่เสื้อหนังมีหมุด กันเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของวงไปแล้วตอนนี้
ซึ่งดูจากบริบท คือมันก็ไป “ลอก” แฟชั่นแบบพังค์ในอังกฤษมานั่นแหละ และประเด็นคือวงมันดันดัง ซึ่งผลก็คือ วงในยุคต่อๆ มาก็เริ่มเอาลุคแบบนี้มาใช้
และนี่เราก็ต้องเน้นว่าเรากำลังพูดถึง “จุดพลิกผัน” ที่คนทำตามเท่านั้น เพราะถ้าจะนับจริงๆ วงเมทัลที่ “แต่งดำล้วน” ยันใส่เสื้อหนัง มาตั้งแต่ตั้งวงคือ Motorhead (ไปดูปกอัลบั้มแสดงสดปี 1977 วงก็แต่งดำแล้ว) แต่คนมักจะลืม ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะวงนี้มัน “ดังแต่ในอังกฤษ” ซึ่งต่างจาก Judas Priest ที่ดังในอเมริกาและที่อื่นๆ ในโลกด้วย
ดังนั้น แม้ว่า Motorhead จะ “ใส่เสื้อหนัง” ไปจนถึง “แต่งดำ” มาก่อน Judas Priest แต่วงที่ทำให้สิ่งเหล่านี้โยงกับดนตรีเมทัลในวงกว้างคือ Judas Priest แน่ๆ
อย่างไรก็ดี ก็อย่างที่เล่ามา ในวัฒนธรรมเมทัลเอง “เสื้อหนัง” หรือกระทั่ง “สีดำ” มันไม่ใช่สิ่งสากลเลยในยุค 1980s ซึ่งตรงข้อยกเว้นของการใช้ “สีดำ” ที่สำคัญอาจเป็นสายแค่สาย “แบล็คเมทัล” ที่มองว่าตนสืบทอดอุดมการณ์มาจาก Venom และร้องเพลงเกี่ยวกับซาตาน โดยพวกนี้คือพวกเมทัลกลุ่มแรกๆ ที่ใส่เสื้อหนังกันกว้างขวางและแต่ง “ดำล้วน” มาตลอดยุค 1980s ในยุคที่เมทัลสายอื่นๆ ยัง “เสื้อหลากสี” อยู่
สุดท้าย “มอเตอร์ไซค์” มันก็ดูเชื่อมโยงกับดนตรีเมทัลสุดๆ แล้วมันเกี่ยวได้ไงน่ะเหรอ? ก็บังเอิญจริงๆ ที่มันดูจะ “มาเป็นแพคเกจ” กับเสื้อหนังและสีดำ เพราะ Judas Priest ก็ลือชื่อด้านการขี่มอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson ขึ้นไปบนเวที ส่วน Venom นี่ไปดูในปกอัลบั้ม Black Metal ก็จะเห็นภาพมือกีต้าร์ขี่มอเตอร์ไซค์อยู่อย่างเท่ห์เลย
ซึ่งถามว่ามันเกี่ยวอะไรกันมั้ย? คำตอบคือไม่เกี่ยวเลย มอเตอร์ไซค์มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสีดำหรือดนตรีเมทัลเลย แต่มันเป็นเครื่องแสดงความเท่ห์ และพอวงระดับที่เป็น “ไอคอน” ของยุคโพสต์ท่ากับมอเตอร์ไซค์ ผลก็คือมอเตอร์ไซค์ที่ห่างหายไปจากดนตรีร็อคมาพักใหญ่ก็ได้กลับมามีชีวิตและความเชื่อมโยงกับดนตรีเมทัลในที่สุด
ภาพเหมือนของชาวร็อคที่ไม่ใช่ของดนตรีร็อค
ที่เล่ามาทั้งหมด ก็คงจะเห็นว่าทั้งผมปอมปาดูร์ เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ และมอเตอร์ไซค์ นั้นมีความเกี่ยวพันกันกับ “ดนตรีร็อค” ในบางพื้นที่และเวลา ก่อนที่มันจะหายไป และกลับมาแบบงงๆ ในแนวย่อยๆ บางแนวของดนตรีร็อค
แต่อีกด้านหนึ่งในโลกของ “ป็อปคัลเจอร์” ที่ไม่ได้มีความสนใจในประวัติศาสตร์จริงๆ นักการ “สร้างภาพของชาวร็อค” มันก็สามารถถูกทำได้ง่ายๆ ผ่านการเอาเสื้อหนังมาผสมกับกางเกงยีนส์ ซึ่งมันเป็นจริงแค่ไหนก็ลองค้นคำว่า “สาวร็อค” หรือ Rocker Girl ใน Google Images ก็ได้ แล้วเราก็จะเจอภาพสาวๆ ใส่เสื้อหนังและกางเกงยีนส์มากมาย โดยทั่วๆ ไปก็จะเป็นสี “ดำล้วน”
ซึ่งถามว่า “นักดนตรีร็อค” จริงๆ หรือแฟนเพลงร็อคในประวัติศาสตร์มันแต่งตัวแบบนี้จริงๆ เหรอ? คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะก็อย่างที่เล่ามา แม้แต่วงดนตรีเมทัลสายโหดๆ เองในยุค 1980s มันก็แทบไม่มีแนวไหนแต่ง “ดำล้วน” กันระดับเป็น “เครื่องแบบ” และพวกแฟนเพลงเองก็ไม่ได้แต่งแบบนั้นเช่นกัน และเราก็ไม่ต้องไปพูดถึงวัฒนธรรมดนตรีร็อครวมๆ ที่มันไม่ได้มีการบ้าแต่งตัวแบบนี้มาอย่างต่ำๆ ก็ 50 ปีแล้ว
ดังนั้นในแง่นี้ การเอาเสื้อหนังและกางเกงยีนส์มาเป็นตัวแทน “การแต่งตัวแบบร็อค” มันก็เลยเป็นการ “สร้างภาพปลอมๆ” ของชาวร็อคที่ไปๆ มาๆ ก็เป็นการ “ยำใหญ่” เอาอิมเมจของพวกร็อคสายโหดๆ ไปเป็นภาพตัวแทนของร็อครวมๆ เท่านั้นเอง
แต่ถามว่า นี่มันเกิดขึ้นไม่ได้เหรอ? คำตอบก็คือไม่ใช่ เพราะก็อย่างที่เล่าแต่แรก เสื้อหนัง และกางเกงยีนส์ ตอนแรกมันก็เป็นภาพลักษณ์ของพวกสิงห์มอเตอร์ไซค์มาก่อน แต่มันถูกเอาไปโยงกับดนตรีร็อคแอนด์โรลโดยพวกชาวต่างชาติที่เสพวัฒนธรรมอเมริกัน และการเอาอะไรพวกนี้ไปโยงกับดนตรีร็อคแบบเป็นล่ำเป็นสัน มันเป็นผลงานของ “ชาวต่างชาติ” เกือบหมด
หรือให้ตรงคือเป็นผลงานของ “พวกอังกฤษ” ไม่ว่านั่นจะเป็นแก๊งพวกสตรีทพังค์ในอังกฤษหรือพวก “วงอังกฤษ” ระดับตำนานอย่าง Judas Priest, Venom หรือกระทั่ง Motorhead
หรือพูดให้มันโหดๆ ก็คือ เอาจริงๆ ไม่ว่าจะเสื้อหนัง กางเกงยีนส์ มอเตอร์ไซค์ หรือกระทั่งภาพลักษณ์ดำล้วนนั้น คนในวัฒนธรรมดนตรีร็อคมันก็ “เอาของเขามา” แบบงงๆ ทั้งนั้นในตอนแรก โดยคนที่เป็นต้นทางลุคแบบนี้ เอาจริงๆ ทุกวันนี้เขาก็ไม่ได้ฟังเพลงร็อคด้วยซ้ำ (พวกแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ในอเมริกันนี่เอาจริงๆ ฟังเพลงคันทรี่ซะเยอะ)
และในแง่นี้ การที่พวกเซเล็บอเมริกัน ยันนักร้องเกาหลีเอา “เสื้อวง” มาใส่แบบแฟชั่นเน้นๆ ดนตรีไม่เกี่ยว นั้นก็อาจเป็นเรื่องที่ “แฟร์” พอที่จะทำได้เช่นกัน ไม่ว่า “ชาวร็อค” จะชอบหรือไม่
เพราะสุดท้าย ถ้าเราคิดว่ามันโอเคที่จะไปถามแฟนเพลงเกาหลีที่ใส่เสื้อ Iron Maiden ว่า “เคยฟังเพลงวงมั้ย?” มันก็คงจะโอเคเช่นกันที่จะถามวงร็อคสักวงที่ใส่เสื้อหนังกางเกงยีนส์ว่า “เคยดู The Wild One มั้ย?”
Writer : FxxkNoEvil