ทำไมแวดวงดนตรีญี่ปุ่นถึงเป็นสุดยอดของโลก
ถ้าพูดถึงแวดวงดนตรีที่เป็น “สุดยอด” ของโลก นอกจากแวดวงดนตรีอเมริกาและอังกฤษที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว แวดวงที่น่าจะติดอันดับในความ “เจ๋ง” แน่ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นญี่ปุ่น
แน่นอน ความฮิต “เพลงญี่ปุ่น” หรือ J-Pop ไปจนถึง J-Rock ก็ดูจะเป็นอะไรที่โคตรจะ 1990s เพราะทุกวันนี้ “วัยรุ่น” เขาไป K-Pop กันหมดแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าดนตรีญี่ปุ่นนี่มันสุดๆ จริงๆ เพราะมันไม่ได้แพร่ไปแค่คนที่ “ฟังเพลง” เท่านั้น
แต่คนดูอนิเมะไปจนถึงคนเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก็น่าจะคุ้นกับดนตรีญี่ปุ่นกันหมด หรืออย่างน้อย สิ่งเหล่านี้ญี่ปุ่นก็ภาคภูมิจะนำเสนอให้ชาวโลกเห็นในพิธีเปิดและปิดโอลิมปิกฤดูร้อนที่จัดในปี 2021
เพลงญี่ปุ่นมีเอกลักษ์ยังไง? น่าจะพูดได้ยากเพราะเพลงญี่ปุ่นมักหลากหลายมากๆ ตั้งแต่ราชาเพลงลูกทุ่งอย่าง Shinishi Mori หรือราชาเพลงฮาร์ดร็อคอย่าง B’z ราชินีซีตี้ป็อปอย่าง Mariya Takeushi สาวเมทัลดาวรุ่งอย่าง Babymetal วงไอดอลบันลือโลกอย่าง AKB48 หรือวงไอดอลสายโหดชื่อดังอย่าง Bish นักประพันธ์เพลงคลาสสิคระดับโลกอย่าง Ryuichi Sakamoto หรือนักกีตาร์แนวทดลองระดับโลกอย่าง Keiji Hai
แน่นอน ถ้าเราไม่พูดถึงวงอย่าง X-Japan หรือ L’arc en Ciel ก็คงจะทำให้หลายคนรู้สึกว่าการโปรยชื่อแบบนี้ยังไม่ครบ แต่ประเด็นในที่นี้คือเราอยากให้เห็น “ภาพรวม” ว่าอะไรของญี่ปุ่นมันสร้างนักดนตรีพวกนี้ และแวดวงดนตรีที่หลากหลายระดับนี้
เพราะความหลากหลายระดับนี้เรียกได้ว่าแวดวงดนตรีใหญ่ๆ อย่างอเมริกายังอายเลย ซึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงเกาหลีใต้ที่อาจสู้ได้ถ้าเทียบ “ยอดขาย” ระดับอินเตอร์ แต่ถ้าความหลากหลายนี่ไม่ต้องเทียบเลย ญี่ปุ่นมีทุกอย่างให้เลือกสรรค์กว่าเยอะ
แล้วทำไมเป็นแบบนี้? แน่นอน บางคนก็อาจอธิบายไปง่ายๆ ว่า เพราะ “วัฒนธรรมญี่ปุ่น” แต่อธิบายแบบนี้ก็โคตรจะ “กำปั้นทุบดิน” เพราะไม่มีอะไรแปลกๆ ในญี่ปุ่นที่เราจะอธิบายแบบนี้ไม่ได้ หรือมันคือการอธิบายเหมือนไม่อธิบาย มันไม่ตอบอะไรเลย
เราอยากจะต่างออกไปและอธิบาย “ความเป็นญี่ปุ่น” ในทางดนตรี โดยให้คุณจินตนาการว่าคุณเป็นนักดนตรีหรือนักฟังเพลงญี่ปุ่นคนนึงตอนโตมาคุณผ่านอะไรมาบ้าง
ทำยังไงให้คนทั้งประเทศอ่านโน้ตออก
ถ้าใครได้มีโอกาสไปเรียน ม. ปลายที่ญี่ปุ่นแล้วเข้าปฐมนิเทศสิ่งหนึ่งที่อาจได้พบก็คือ เขาจะมีการแจกโน้ตให้ร้องประสานเพลงโรงเรียน ซึ่งเด็ก ม. 4 ญี่ปุ่นก็รับโน้ตมาแล้วร้องได้ทันที โดยไม่ต้องฟังเพลงมาก่อน และนี่ไม่ใช่แค่โรงเรียนชั้นนำ โรงเรียนทั่วๆ ไปเด็กก็ทำแบบนี้ได้
หรือพูดอีกแบบคนญี่ปุ่นวัยรุ่น “ทุกคน” มีความสามารถในการอ่านโน้ต “ดนตรีสากล” มีความเข้าใจเรื่องเสียงประสาน ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ทำให้ฝรั่งที่เป็นครูดนตรีที่ไปทำงานวิจัยในญี่ปุ่นอึ้งทุกคน เพราะนี่ไม่ใช่ความรู้ทางดนตรีที่สูงกว่าอเมริกา และสูงกว่ายุโรปที่เป็นต้นกำเนิด “ดนตรีสากล” ด้วย
คือมันจะมีประเทศไหนในโลกที่จะทำการสำรวจว่าเด็กจบ ม. 6 ถึง 99% อ่านโน้ตเพลงออกกันหมด? ไม่มีหรอกครับ มีแต่ญี่ปุ่นนี่แหละที่เป็นงี้ และนี่แหละคือ “ความลับ” ของญี่ปุ่นที่คนไม่ค่อยรู้
จริงๆ แล้วญี่ปุ่นก็มีช่วงโมงเรียนดนตรีไม่ได้ต่างจากหลายๆ ประเทศที่ให้เรียนดนตรีเป็นวิชาบังคับตั้งแต่ ป.1 ถึง ม. 3 คือเด็กในการศึกษาภาคบังคับได้เรียนดนตรีประมาณ 9 ปี ซึ่งจริงๆ บ้านเราก็เป็นแบบนี้ อเมริกาก็เป็นแบบนี้ แต่ทำไมเด็กประเทศอื่นถึงไม่ “รู้ดนตรี” เท่าเด็กญี่ปุ่น
ซึ่งอันนี้คนอเมริกาก็งง เพราะหลักสูตรดนตรีญี่ปุ่นตอนแรกคือแบบอเมริกาเลยตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นพัฒนามาก็คือวิธีคิดที่ว่าการเรียนดนตรีมันต้องเหมือน “เรียนภาษา” คือมันต้องมุ่งเน้น “อ่านออก เล่นได้”
นี่คือปรัชญาการศึกษาที่ต่างจากอเมริกาที่จะเรียนดนตรีโดยเน้น “ปฏิบัติ” หรือเน้นให้เด็กจินตนาการความสร้างสรรค์ทางเสียงมากกว่า ทางญี่ปุ่นนี่ไม่เรียนแบบนี้ เพราะญี่ปุ่น “ทฤษฎี” แน่น เด็กต้องอ่านโน้ตได้ และร้องตรงโน้ตตั้งแต่ยังประถมต้นเลย และ ไม่เท่านั้นญี่ปุ่นยังมี “นวัตกรรม” ทางการศึกษาดนตรี ซึ่งจริงๆ บ้านเราก็คงคุ้นกันดีอย่าง สิ่งที่เราเรียกว่า “เมโลเดียน” (ซึ่งจริงๆ มันคือเครื่องดนตรีชื่อ Melodica) และขลุ่ย “เรคอร์ดเดอร์”
อันนี้ตอนเด็กๆ หลายๆ คนในบ้านเราคงเคยได้เรียน ซึ่งจริงๆ “ฝรั่ง” เขาไม่เรียนนะครับ ส่วนใหญ่ไม่รู้จักเครื่องดนตรีพวกนี้ด้วย
เครื่องดนตรีพวกนี้ถูกผลิตมาป้อนวงการศึกษาญี่ปุ่นเพื่อให้เป็น “เครื่องดนตรีราคาถูก” ที่เด็กทุกคนจะซื้อมาเล่นได้ตั้งแต่ประถม ซึ่งนัยะสำคัญก็คือ “เมโลเดียน” มันเป็นเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดที่ราคาถูกสุดแล้ว และเครื่องดนตรีพวกนี้มันจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้เรื่องเสียงประสานและคอร์ด
คือลองนึกภาพครับ ปกตินักดนตรีจะเรียนพวกนี้จากเปียโน แต่พอเป็นการศึกษาภาคบังคับ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกบ้านซื้อเปียโน เพราะถูกเท่าไรมันก็แพง การศึกษาญี่ปุ่นมันเลยมีทางออกให้เด็กซื้อเมโลเดียนมาเพื่อเรียนรู้สิ่งเหล่านี้
ซึ่งถ้าใครพอรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก ก็คงจะรู้ว่าพัฒนาการทางดนตรีตอนเด็กๆ มันสำคัญมาก และญี่ปุ่นก็เน้นมากๆ ให้เด็กเรียนดนตรีเยอะๆ โดยเด็กประถมจะได้เรียนดนตรีกับสัปดาห์ละ 2 คาบเลย และก็แน่นอน เขาเรียนกันจริงๆ คือให้เล่นเพลงง่ายๆ กันให้เด็กเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งพอประถามปลายเขาก็จะให้เรียนเป่าขลุ่ยเรคอร์ดเดอร์ ซึ่งก็เป็น “ขลุ่ยราคาถูก” ที่เด็กทุกคนจะมีประจำตัวไว้เรียนได้ ซึ่งพอมา ม. ต้น เด็กก็จะได้เรียนเครื่องดนตรีอื่นๆ ตามชอบและกำลังทรัพย์ของโรงเรียน
ประเด็นคือ เด็กญี่ปุ่นนี่ จบ ป. 6 มา ก็มีทักษะเล่นเครื่องดนตรีประเภทเล่นคีย์บอร์ดและเครื่องเป่าพื้นฐานกันแล้วครับ โน้ตก็อ่านได้ ร้องประสานก็ทำได้ ซึ่งทักษะแบบนี้โดยทั่วๆ ไปก็จะยังคงอยู่ถึงจบ ม. ปลาย
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมแม้แต่ “ดนตรีป็อป” ในญี่ปุ่นถึงใช้เสียงประสานกันโหดมาก เพลงการ์ตูน เพลงเกม ใช้กันหมด และนี่เป็นที่พิศวงมากๆ สำหรับ “ฝรั่ง” ที่คนจะมีทักษะในการแต่งอะไรพวกนี้หรือกระทั่ง “ฟัง” มักจะเป็นพวกเรียนดนตรีคลาสสิคมาเท่านั้น
แต่สำหรับญี่ปุ่น นี่คือ “ทักษะพื้นฐาน” ที่ระบบการศึกษาภาคบังคับผลิตมา หรือพูดอีกแบบ แค่การศึกษาพื้นฐานมันก็ทำให้ “หู” คนญี่ปุ่นโคตรแอดวานซ์แล้ว
ดังนั้นมันไม่แปลกที่ประเทศที่คนทุกคนอ่านโน้ตออก ร้องเสียงประสานได้ และเล่นเครื่องดนตรีบางอย่างได้ มันจะมีความซับซ้อนมากๆ ในตลาดดนตรี เพราะคนมัน “เบสิคแน่น” กันหมด
คนรวยผู้มีรสนิยม
หลังจากเราเริ่มจากความลับทางดนตรีของญี่ปุ่นที่คนไม่ค่อยรู้แล้ว ประเด็นต่อไปเราก็น่าจะพูดถึงสิ่งที่ชัดเจนไม่รู้จะชัดยังไงแล้วมั่ง ซึ่งสิ่งนั้นคือเรื่อง “กำลังซื้อ” อันมหาศาลของคนญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นประชากรเยอะมากนะครับ คนเขาเกิน 100 ล้านคน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ารายได้ประชาชาติของญี่ปุ่นนี่คืออันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกาช่วง 1978-2010 โดยหลังจากนั้นจีนก็เป็นอันดับ 2 ของโลกแทนญี่ปุ่นจนทุกวันนี้ ตรงนี้อยากให้ลองนึกย้อนน่ะครับว่าทุกวันนี้ในทางเศรษฐกิจจีนมันยิ่งใหญ่แค่ไหน สมัยก่อนญี่ปุ่นก็ยิ่งใหญ่ระดับนั้นน่ะครับ
แต่ความต่างของจีนหรือกระทั่งอเมริกากับญี่ปุ่นก็คือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนมีความรู้ในทางศิลปะวัฒนธรรมในระดับสูงมากๆ และมี “ไลฟ์สไตล์” ชอบเสพศิลปะคล้ายๆ พวกคนยุโรป แต่ “กำลังซื้อ” ของญี่ปุ่นเหนือกว่าชาติยุโรปใดๆ เพราะประชากรมันเยอะ
แน่นอน เราเล่าแล้วว่าการศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่นมันสร้างคนที่เบสิคดนตรีแน่นขนาดไหน แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะคนญี่ปุ่นมันเบสิคศิลปะแน่นทั้งแผงเลย กล่าวคือพื้นฐานคนญี่ปุ่นสุนทรียภาพสูงสุดๆ
และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมญี่ปุ่นถึงเต็มไปด้วยแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ ของพวกนี้ในญี่ปุ่นรัฐไม่ต้องอุ้มนะครับ มันอยู่ได้เพราะคนมันก็เข้าไปจริงๆ จ่ายเงินค่าเข้าจริงๆ
ถึงที่ว่ามาไม่เกี่ยวกับดนตรีเลย แต่อยากให้เห็นภาพใหญ่ว่าคนญี่ปุ่นมีรสนิยมในทาง “ศิลปะ” ที่กว้างมากๆ เป็นฐานอยู่แล้ว และพวกเขาที่รายได้สูงก็จ่ายเงินสนับสนุนเป็นปกติ ดังนั้นมันไม่แปลกที่แวดวงดนตรีออกงานมา คนมันจะ “ซื้อแผ่น” สนับสนุนมาตลอด คนญี่ปุ่น “รวย” พอจะเอาเงินสนับสนุนศิลปะทุกรูปแบบ
และนี่ก็เป็นเหตุผลอีกว่าทำไมญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ไม่เหมือนที่ใดในโลกจริงๆที่ตลาด CD ยังไม่ตายในทศวรรษ 2020s ทั้งที่จริงๆ ราคา “แผ่นญี่ปุ่น” นี่ก็แพงว่าที่ใดในโลกมาช้านาน แต่มันกลับเป็นตลาดเดียวที่ CD ยังขายได้ดี
ซึ่งก็แน่นอน ยอดขาย CD มันกำลังลดลงช้าๆ แต่ยอดขาย CD ทั้งตลาดญี่ปุ่น ณ ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในระดับแสนล้านเยนอยู่ โดยถ้าเทียบ เราก็จะเห็นว่ายอดขายงานดนตรีแบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นมาช้าๆ มันก็อยู่แค่หลักหมื่นล้านเยนเท่านั้น
และก็เรียกได้ว่าอีกนานเลยกว่าญี่ปุ่นจะเป็นเหมือนประเทศอื่นที่ยอดขายงานดนตรีแบบดิจิทัลสูงกว่ายอดขายแบบจับต้องได้ (ซึ่งในประเทศอื่น ประกฎการณ์ยอดขายดิจิทัลนำยอดขายแบบจับต้องได้มันเกิดราวๆ ต้น 2010s ครับ คือราว 10 ปีมาแล้ว)
ตรงนี้โดยสรุป เราอยากจะให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นพัฒนาไประดับสูง คนมีรายได้มาก แต่ก็มี “รสนิยมทางศิลปะ” ที่ซับซ้อนด้วย ซึ่งผลรวมมันคือ คนมันพร้อมจะสนับสนุน “ศิลปะ” สารพัดรูปแบบด้วยตัวเงิน
ซึ่งก็แน่นอน เวลาพูดถึง “ศิลปะ” ญี่ปุ่นมันไม่ใช่อะไรที่หรูล้ำเท่านั้น แต่มันเต็มไปด้วยอะไรที่หลากหลาย และนี่ก็เป็นเหตุผลที่แวดวงดนตรีญี่ปุ่นเต็มไปด้วย “เพลงแปลกๆ” ระดับแปลกแบบไม่มีที่ไหนในโลก มันพบที่ญี่ปุ่น และนี่ก็เป็นเพราะปัจจัยที่เราว่ามานี่เอง
ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่ต้องไม่ลืมเช่นกันก็คือ ตลาดญี่ปุ่นมันใหญ่มาก อย่างที่บอกมันใหญ่รองแค่อเมริกาอยู่ 30 กว่าปี ดังนั้นใครผลิตงานแปลกๆ มา ถึงคนฟังในจังหวัดมันน้อย แต่คนฟังทั้งประเทศบางทีมันมากพอ และคนก็ยินดีสนับสนุน ดังนั้นพวก “เพลงแปลกๆ” มันเลยอยู่ได้ ตลาดในประเทศก็เพียงพอที่จะอุ้ม “ดนตรีทางเลือก”
และถ้าเพลงพิสดารๆ มันอยู่ได้ ก็ไม่ต้องพูดถึงพวกเพลงที่มันติดหู หรือฟังง่ายกว่า ที่อยู่ได้โคตรสบายในตลาดญี่ปุ่น
พูดง่ายๆ คือ โลกนี้อย่าไปถามว่าทำไมคนไม่ทำเพลงแปลกๆ แนวโน้นแนวนี้มาครับ โลกมันไม่ได้ขาดความสร้างสรรค์ขนาดนั้น แต่ให้ไปถามตลาด ถามว่าคนซื้อมันมีพอมั้ย คือทำมาคนฟังนิดเดียว จัดคอนเสิร์ตคนก็ไม่ไปดู สุดท้ายก็ต้องถอยหมดครับในระยะยาว
วิถีดนตรีในโลกทุนนิยมมันเป็นเช่นนั้นเอง และญี่ปุ่นคือไม่กี่ประเทศที่พลังบริโภคมันมีเหลือล้นทะลักมาถึงพวกเพลงแปลกๆ เพลงที่ไม่อยู่ใน “กระแส” คนทำเพลงพวกนี้มันเลยอยู่ได้ ทำเพลงต่อได้ และเราเลยเห็นว่าญี่ปุ่นมันเต็มไปด้วยเพลงพวกนี้มาตลอด
เครื่องดนตรีถูกห้องซ้อมดีไลฟ์เฮ้าส์มีรับรอง
จริงๆ เราอาจจบเรื่องของญี่ปุ่นแค่นี้ก็ได้ เพราะแค่เราอธิบายว่าการศึกษาพื้นฐานทางดนตรีญี่ปุ่นมันล้ำแค่ไหน และกำลังซื้อคนญี่ปุ่นมันเยอะแค่ไหน มันก็อธิบายความซับซ้อนทางดนตรีของญี่ปุ่นได้พอแล้ว เพราะแค่เงื่อนไขที่ว่ามามันก็ไม่มีที่ไหนในโลกจะมีเหมือนญี่ปุ่นแล้ว แต่เราอยากเล่า “ชีวิตดีๆ” ของนักดนตรีญี่ปุ่นให้ฟังแถมให้อีกนิด
แน่นอน ญี่ปุ่นมีพลังบริโภคมหาศาลอย่างที่ว่า มันก็ไม่แปลกที่คนจำนวนไม่น้อยมุ่งมั่นจะเล่นดนตรีและทำวงดนตรีให้ดังให้ได้ดังที่เราอาจเคยเห็นในการ์ตูนอย่าง Hareluya II Boy, Beck, Nana หรือ Detroit Metal City ซึ่งก็บอกเลยว่าการแข่งขันมันสูงสุดๆ เลย เพราะในญี่ปุ่น นักดนตรีเก่งๆ เยอะมาก และคนเล่นดนตรีกันเยอะมาก
ก็ดังที่เล่า พื้นฐานดนตรีโหดกันขนาดนั้น ก็ไม่แปลกที่นักดนตรีเก่งๆ เยอะ แต่ส่วนหนึ่งที่คนเล่นดนตรีเยอะ เพราะเครื่องดนตรีมันโคตรถูก
เครื่องดนตรีญี่ปุ่นที่ถูก ส่วนหนึ่งเพราะมีการผลิตในประเทศช้านาน อีกส่วนคือเพราะกฎหมายญี่ปุ่นมันสนับสนุนให้ทำการ “รีไซเคิล” หรือพูดง่ายๆ ถ้าคุณทิ้งอะไรใหญ่ๆ คุณต้องเสียเงิน ดังนั้นคุณอยากไม่เสียเงินในการทิ้งของใหญ่ๆ หน่อยจะต้องเอาของไปขายให้พวก “ร้านมือสอง” ซึ่งในญี่ปุ่นก็เป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตเลยเช่นเครือ Book Off
การมีโครงสร้างตลาดของมือสองที่ดีส่งผลดีกับของมือสองทุกชนิดรวมทั้งเครื่องดนตรี ดังนั้นนอกจากเครื่องดนตรีญี่ปุ่นจะไม่แพงเพราะผลิตในประเทศมากมายแล้ว มันยังมีตลาดเครื่องดนตรีมือสองระดับหาสินค้าได้ทุกสภาพ ทุกยี่ห้อ
และความเป็นประเทศแห่งดนตรีและการเล่นดนตรี เครื่องดนตรีมือสองจำนวนไม่น้อยมีร้านเฉพาะเลย คือเขาจะรับซื้อในราคาที่เหมาะสมและเอาไปขายต่อ ดังร้านในเครือพวก Ishibashi และ Shimokura ที่ถ้าใครเล่นดนตรีแล้วได้ไปญี่ปุ่นก็อยากเชิญชวนไปเดินสาขาใหญ่ๆ หน่อย เพราะมันตื่นตาตื่นใจจริงๆ
เครื่องดนตรีราคาถูกทำให้คนไม่ต้องมีรายได้มากมายก็สามารถเข้าถึงเครื่องดนตรีและเป็น “นักดนตรี” ได้ ซึ่งเครื่องดนตรีราคาถูกนี่ทำให้นักดนตรีสามารถมีเครื่องดนตรีในเกรดที่ใช้ในการการบันทึกเสียงได้ในราคาย่อมเยาด้วย พอมีเครื่องดนตรีในมือแล้ว อีกสถาบันทางดนตรีที่สำคัญสำหรับการ “ตั้งวง” ก็คือห้องซ้อมดนตรี
จริงๆ แม้แต่คนไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ ก็คงไม่เคยเห็นห้องซ้อมดนตรีในญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงห้องซ้อมดนตรีในญี่ปุ่นมีโคตรเยอะ แต่มันซ่อนตัวอยู่ จำนวนไม่น้อยอยู่ใจกลางเมืองด้วย เช่นในระยะ 3-5 นาทีจากสถานีชินจูกูก็มีห้องซ้อมดนตรีอยู่
ห้องซ้อมดนตรีญี่ปุ่นไม่ได้แพงเลย คือมีสองราคาช่วงเย็นถึงค่ำ ราคามาตรฐานอยู่ประมาณชั่วโมงละ 400-500 บาท ส่วนเวลาอื่นไม่ว่าจะเป็นช่วงกลางวันหรือดึกๆ (ห้องซ้อมส่วนใหญ่เปิด 24 ชม.) ก็จะราคาลงมาชั่วโมงละ 300-400 บาทอะไรงี้ ซึ่งซ้อมยิ่งเยอะในช่วงที่ไม่มีคนซ้อม ราคาก็จะยิ่งลดอีก (โปรที่ฮิตกันคือซ้อม 2 ชั่วโมง ชั่วโมงที่ 3 ซ้อมครึ่งราคา) นี่คือวิธีการบริหารห้องซ้อมตอนช่วงที่คนไม่ค่อยซ้อม
เห็นราคาแบบนี้ก็จะเห็นว่าราคามันไม่ได้ต่างจากพวกห้องซ้อมแพงๆ ในไทยเลย ซึ่งในค่าครองชีพคนญี่ปุ่นมันถูกมาก และถ้าคิดว่าราคาถูก แล้วสภาพจะแย่ คุณคิดผิด สภาพมันโคตรจะดี ดูดี ใหม่ และสะอาดสุดๆ เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในญี่ปุ่น คือไม่ใช่แค่สมราคา แต่คุ้มเลย
และถ้าถามว่าห้องซ้อมพวกนี้มันจะเสี่ยงเจ๊งมิเจ๊งแหล่แบบพวกห้องซ้อมดนตรีในไทยมั้ย? คำตอบคือไม่ครับ ห้องซ้อมญี่ปุ่นนี่ไม่ได้มีแค่ 2-3 ห้องแบบไทยนะครับ แต่เฉลี่ยห้องนึงจะแบ่งเป็น 7-8 ห้อง
คือมันเป็นธุรกิจใหญ่โตเลย บางห้องซ้อมมีห้องซ้อมในเครือเป็นสิบๆ เช่น Noah’s Studio และเห็นห้องเยอะๆ อย่าคิดว่ะจะว่างนะครับ ช่วงเวลาที่คนซ้อมเยอะๆ คือต้องจองกันข้ามเดือน ถ้าจะแคนเซิลนี่จะแคนเซิลก่อนซ้อม 1 ชั่วโมงแบบในไทยก็ไม่ได้ แต่ต้องแคนเซิลก่อนซ้อม 1 สัปดาห์ ถ้ากระชั้นกว่านั้นก็คือโดนปรับครึ่งนึงของราคาค่าห้องซ้อมที่จองไว้
อันนี้เล่ามาเพราะอยากให้เห็นว่าคนมันเล่นดนตรีกันโคตรเยอะขนาดธุรกิจห้องซ้อมที่ไม่ได้คิดค่าซ้อมแพงอะไรเลย มันยังอยู่กันสบายๆ เล่าให้เห็นภาพเฉยๆ เพราะเรื่องห้องซ้อมนี่เล่าแยกเป็นอีกเรื่องก็ยังได้ แต่คงต้องเป็นโอกาสอื่น
เอ้า เครื่องดนตรีถูก ห้องซ้อมถูก มีเต็มบ้านเต็มเมือง แค่นี้มันก็สร้างวงดนตรีได้สบายแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังมีสถาบันสำคัญสุดๆ ที่ทำให้เกิดวงดนตรีหน้าใหม่ง่ายๆ คือไลฟ์เฮาส์
ไลฟ์เฮาส์ในฐานะสถาบันทางดนตรีสำคัญในญี่ปุ่นนี่จริงๆ มันเป็นงานวิจัยได้เลย ถ้ามีก็อยากอ่านอยู่ แต่เบื้องต้น เขาว่ากันว่าไลฟ์เฮาส์แห่งแรกเกิดที่เกียวโตในปี 1973 ชื่อว่า Coffee House Jittoku และหลังจากนั้นมันก็แพร่กระจายไปทั่วญี่ปุ่น ซึ่งมันก็เยอะมากมายระดับต้องมีคนทำลิสต์เอาไว้ว่าเขตไหนมีไลฟ์เฮาส์อะไรบ้าง (ลองไปดูได้เช่นที่ Tokyo Gig Guide)
หน้าที่สำคัญของไลฟ์เฮาส์ในปัจจุบันก็คือ เป็นที่เปิดตัวของวงดนตรีหน้าใหม่คือใครมีเพลงตัวเองที่เข้าท่า ก็ไปออดิชั่น ไลฟ์เฮาส์ก็จะจัดวันเล่นได้ ซึ่งก็มักจะเล่นรวมกับวงอื่น
ตรงนี้ เราอาจมีคำถามว่า คนมันจะไปดูวงหน้าใหม่เล่นเพลงตัวเองหรือ? ถ้าใครคุ้นกับ “แวดวงใต้ดิน” ทางดนตรีในบ้านเราก็คงไม่แปลกใจ เพราะคนแบบนี้มันมี แต่ญี่ปุ่นมันทำเป็นระบบกว่า เพื่อให้ธุรกิจแบบไลฟ์เฮาส์อยู่ได้ โดยพื้นฐานแล้วทางไลฟ์เฮาส์จะบังคับขายตั๋วให้วงที่มาเล่น เพื่อให้วงเอาตั๋วไปขายต่อ
แบบนี้ไลฟ์เฮาส์ก็จะการันตีรายได้ คือเรียกได้ว่าจะไม่มีงานไหนเจ๊ง หรือพูดอีกแบบวงก็ต้องช่วยไลฟ์เฮาส์ในการโปรโมตตัวเองและขายตั๋วด้วย ซึ่งถามว่าแบบนี้วงมันจะได้เงินเหรอ
คำตอบคือ ถ้าวงคนมาดูเยอะจนตั๋วขายหมด ราคาตั๋วที่ “หน้างาน” ไลฟ์เฮาส์ก็จะแบ่งกับวง พูดง่ายๆ คือถ้าคนมาเกินยอดวงก็จะส่วนแบ่งค่าตั๋ว และนี่ก็ยังไม่นับว่าวงก็เอาสินค้ามาขายและรับรายได้เต็มๆ ที่งานได้ด้วย
แน่นอนที่เล่ามาทั้งหมดก็จะเห็นว่า “ระบบ” ของญี่ปุ่นดีมาก เครื่องดนตรีถูก ห้องซ้อมราคาดี ซ้อมมาก็มีเวทีให้เล่นดนตรีสด แต่ระบบพวกนี้เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันถูกพัฒนามาจากลักษณะเฉพาะของตลาดญี่ปุ่นเอง ที่คนมันมีเบสิคทางดนตรีสูงจัดๆ และกำลังซื้อก็สูงจัดๆ ระบบไลฟ์เฮาส์เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีทั้งวงดนตรีจำนวนมาก และคนดูจำนวนมาก วงดนตรีจำนวนมากจะไม่เกิดถ้ามันไม่มีห้องซ้อมราคาสมเหตุสมผลและนักดนตรีเยอะๆ นักดนตรีจะไม่มีเยอะถ้าเครื่องดนตรีแพง และแวดวงเพลงอันซับซ้อนทั้งหลายก็จะไม่มีวันโตได้ถ้าคนมันไม่มีพื้นฐานทางดนตรีและกำลังซื้อสูงไปพร้อมกัน
ดูจากปัจจัยต่างๆ ก็จะเห็นว่ามัน “แจแปนโอนลี่” มาก ประเทศอื่นถึงอยากมีแบบนี้แต่มันมีแทบไม่ได้เลย แต่การดูแบบแยกองค์กระกอบต่างๆ ก็คงจะเป็นบทเรียนที่ดีว่าทำไมดนตรีญี่ปุ่นมันถึงล้ำขนาดที่มันเป็นในปัจจุบัน
Guest Writer : FxxkNoEvil