10 อัลบั้มบรรเลงกีตาร์จากยุคทองของกีตาร์ฮีโร่
ย้อนกลับไปสัก 30 กว่าปีก่อน ราวๆ ช่วงปลายยุค 1980’s ถึงตอนต้น 1990’s การเป็นนักดนตรีร็อคเป็นเรื่องที่เท่ห์สุดๆ และอาจเรียกได้ว่าเท่ห์กว่ายุคใดในประวัติศาสตร์โลก
ซึ่งถามว่าทำไมถึงกล้าเคลมแบบนั้น คำตอบคือ มันน่าจะเป็นยุคเดียวที่ “คนทั่วๆ ไป” ซื้ออัลบั้มบรรเลงกีตาร์ร็อคกันแพร่หลาย มันเป็นยุคที่ “การเป็นมือกีตาร์ร็อค” ดาหน้ากันออก “อัลบั้มเดี่ยว” บรรเลงกีตาร์ แถมยังเอาตัวเองถือกีตาร์ขึ้นปกด้วย และก็เรียกได้ว่าเป็นสุนทรียภาพที่เฉพาะของยุคเลยก็ได้
แน่นอนว่าปกอัลบั้มแบบนี้มัน “เชยระเบิด” แต่มันก็เป็นตัวแทนของยุคสมัยได้ดีมากๆ เพราะยุคนี้น่าจะเป็นยุคเดียวที่การเล่นกีตาร์เร็วๆ แล้วดูเท่ห์ หรือกระทั่งเล่นแล้ว “สาวกรี๊ด”
หรือพูดให้โหดร้ายกว่านั้นก็คือ มันน่าจะเป็นยุคเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทักษะการเล่นกีตาร์ที่ “เร็ว” มัน “ขายได้” หรือมันแปลงเป็นเงินได้ตรงๆ ซึ่งมันเป็นจริงอย่างน้อยๆ ก็ใน “อเมริกา” ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเพลงร็อคแล้วในยุคนั้น ที่อัลบั้มบรรเลงกีตาร์ร็อคขายได้เป็นหลักแสนแผ่น และทำให้มือกีตาร์วัยรุ่นดาหน้ากันทำเดโมและส่งไปนิตยสารอย่าง Guitar World เพื่อหวังจะได้ “มีอัลบั้มเดี่ยว”
เอาล่ะ ก็คงไม่ต้องอธิบายกันมาก เรากำลังพูดถึงยุค “กีตาร์ฮีโร่” นั่นแหละครับ ซึ่งยุคโน้นก็เรียกได้ว่าเป็นยุค “คลาสสิค” ของงานบรรเลงกีตาร์จริงๆ
ซึ่งก็ขอเน้นว่า ในที่นี้เราจะไม่ได้พูดถึงอัลบั้มร็อคดีๆ ในยุคนั้น “เพลงร้อง” ที่มีมือกีตาร์เก่งๆ ที่คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ แต่เราอยาก “มอบเวที” ให้กับบรรดาอัลบั้มดีๆ ของยุคนั้นที่เน้น “เพลงบรรเลง” กีตาร์ล้วนๆ
นี่หมายความว่าที่นี้ก็คงจะไม่มีพื้นที่ให้ Eddie Van Halen, Randy Rhodes, John Petrucci หรือกระทั่ง Paul Gilbert อย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าถามว่าทำไมถึงมาเล่าเรื่องนี้ “ตอนนี้” คำตอบอัลบั้มที่จะพูดถึงทั้งหมดทุกวันนี้หาฟังได้ใน Spotify และ YouTube ทั้งนั้น ซึ่งเอาจริงๆ คนไทย “ยุคโน้น” แทบจะหาอัลบั้มพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ในไทยเลย เพราะไม่มีค่ายเพลงไดย “ซื้อลิขสิทธิ์” มาปั๊มเทปขาย
ดังนั้นสำหรับคนยุคใหม่ นี่ก็อาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รู้จักยุคหนึ่งทางดนตรีที่ “คลาสสิค” และคนที่ผ่านยุคนั้นมาก็อาจได้ทบทวนความจำรำลึกความหลังและ “เก็บตก” งานดีๆ ที่พลาดไปเพราะสมัยนั้นมันหาฟังยาก โดยเราจะขอเล่าตามลำดับเวลาแล้วกันครับ
1. Yngwie Malmsteen – Rising Force
อัลบั้มที่เรียกได้ว่า “ตำนานเริ่มตรงนี้” จริงๆ มันอาจไม่ใช้อัลบั้มดีที่สุดของ Yngwie แต่มันเป็นการที่เด็กหนุ่มอายุ 20 ปีจากสวีเดนประกาศศักดาให้โลกรู้ว่าโลกกีตาร์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เทคนิคกีตาร์ในอัลบั้มนี้ “ล้ำ” ในระดับที่ตอนนั้นทุกคนงงว่า Yngwie เล่นได้เร็วขนาดนั้นได้อย่างไร
และ Yngwie ก็ผลิตงานต่อๆ มาในสไตล์เดิมๆ เพื่อตอกย้ำความยิ่งใหญ่ และในที่สุดเทคนิคกีตาร์ในอัลบั้มนี้ที่ปฏิบัติการเล่นกีตาร์ไปเลยก็รู้จักกันในนามเทคนิค Sweep Picking และสไตล์เพลงแบบอัลบั้มนี้ก็เป็นต้นทางของแนวทาง Neo-Classical Metal ต่อมา
และถ้าถามว่าอัลบั้มมันดังขนาดไหน เอาเป็นว่าอัลบั้มมันขึ้นได้ถึงอันดับ 60 ของชาร์ต Billboard 200 ซึ่งเป็นชาร์ตอัลบั้มกระแสหลัก คือมันขายดีสู้กับเพลงป็อปยังพวก “เพลงร้อง” ได้ และนี่ก็น่าจะเป็นการตัดริบบินเปิด “ยุคแห่งกีตาร์ฮีโร่” อย่างเป็นทางการ
2. Vinnie Moore – Mind’s Eye
หลังจาก Yngwie เปิดศักราชยุคกีตาร์ฮีโร่ ก็มีเด็กหนุ่มมากมายส่งเดโมกีตาร์ตัวเองไปยังนิตยสาร Guitar World เพื่อหวังจะแสดงฝีไม้ลายมือให้เข้าตาใครก็ได้ที่จะมีปัญญาออกอัลบั้มให้เขา ซึ่งเหตุที่ส่งไปนิตยสาร Guitar Player กัน ก็เพราะมีคอลัมนิสต์ท่านหนึ่งนามว่า Mike Varney ที่เป็นนักดนตรีรุ่นใหญ่ และเป็นเจ้าของค่ายเพลงด้วย โดยเขาตั้งค่าย Sharpnel มาตั้งแต่ปี 1980 และมาเป็นคอลัมนิสต์ในปี 1982
ความที่ Mike Varney มาเป็นคอลัมนิสต์คอยฟังเดโมที่เด็กๆ รุ่นใหม่ส่งมาให้กับนิตยสาร Guitar Player ก็ทำให้เขาทำหน้าที่เป็น “แมวมอง” และได้คัดเลือกมือกีตาร์เก่งๆ ที่มีแววมาออกอัลบั้มเดี่ยว และเนื่องจากอัลบั้มของ Yngwie พิสูจน์แล้วว่าอัลบั้มบรรเลงกีตาร์ขายได้ Mike เลยเปลี่ยนทิศทางของค่าย Sharpnel ที่เน้นเฮฟวี่เมทัลและสปีดเมทัลตามยุคสมัยมาเน้น เป็นค่ายเพลงที่ออกงานกีตาร์ฮีโร่เลย และก็เรียกได้ว่าเป็น “ค่ายแจ้งเกิด” ของมือกีตาร์ยุคกีตาร์ฮีโร่หลายๆ คน
ซึ่ง Vinnie Moore ก็เป็นรายแรกๆ ที่ Mike ได้คัดเลือกว่าเป็น “ยอดผีมือ” จากบรรดาเดโมและเอามาออกอัลบั้มกับค่าย Sharpnet อัลบั้มแรกของ Vinnie Moore ในวัย 22 ปี ก็ยังเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ เพลงของเขาถ้าจะอธิบายแล้ว มันคือ Neo-Classical Metal ในแบบที่ภาคดนตรีหนักขึ้นไปกว่า Yngwie อีก ซึ่งสไตล์แบบ Moore นั้นเล่นชัดเจนและไพเราะ พร้อมทั้งมีความเดือดแบบคนหนุ่มอยู่ ก็ไม่แปลกที่มันยังคลาสสิคมาจนทุกวันนี้
3. Joe Satriani – Surfing with The Alien
อัลบั้มนี้เป็นคลาสสิคในแนวเพลงแบบ “กีฬามันส์ๆ” ซึ่งก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใดที่รายการกีฬาในยุคหนึ่งชอบเอาเพลงไปประกอบ แต่อีกด้านอัลบั้มนี้คือตำนานแท้ๆ มันเป็นอัลบั้มบรรเลงกีตาร์ล้วนๆ ไม่มีเสียงร้องใดๆ ที่เข้าถึงอันดับ 29 ใน Billboard 200 ได้ แถมติดชาร์ตอยู่ปีครึ่งด้วย
สไตล์ของ Satriani ในตอนนั้นก็เรียกได้ว่า “เป็นผู้ใหญ่” พอควรแล้วเพราะตอนออกอัลบั้มอายุปาไป 31 ปี ไม่มีการมาสาดโน๊ตรัวๆ ไปเรื่อย แต่มีการประพันธ์เพลงที่ลุ่มลึก ใช้คอร์ดแปลกๆ พร้อมความรู้ทางดนตรี ไลน์กีตาร์เทคนิคครบเครื่อง เรียกได้ว่าบทจะเน้นเมโลดี้ก็ติดหู บทจะเร็วก็เร็ว และที่สำคัญคือซาวน์ดชัดแจ๋ว
เรียกได้ว่า “ฟังง่าย” เลยในบรรดาอัลบั้มบรรเองกีตาร์ยุคทองกีตาร์ฮีโร่ และด้วยคุณลักษณะที่ครบเครื่องแบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจก็ขายได้เรื่อยๆ จนในปี 1992 ขายได้ทะลุ “ล้านแผ่น” และน่าจะเป็นอัลบั้มบรรเลงกีตาร์ชุดแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ทำได้
4. Tony MacAlpine – Maximum Security
ถ้า Yngwie เป็นผู้ริเริ่มกีตาร์สไตล์ Neo-Classical Metal แล้ว คนที่เอามันมาพัฒนาต่อเป็นเวอร์ชั่นทุกวันนี้ก็คงจะเป็น Tony MacAlpine
งานของ MacAlpine ถ้าว่าง่ายๆ คือการเอาเทคนิค Sweep Picking แบบที่ Yngwie ใช้มาปนกับ Tapping แบบ Van Halen ซึ่งผลคือ เทคนิคระดับเทพที่เอาเทคนิคสองเทคนิคที่เป็นต้นแบบการเล่นกีตาร์เร็วแบบยุค 1980’s มาผสมกันและทำให้ MacAlpine เป็นมือกีตาร์ที่เด่นไม่แพ้ Yngwie ด้านการเล่นเร็ว
ซึ่งความต่างของทั้งสองคือในทางดนตรี ในขณะที่ Yngwie จะไปทางเมทัลจ๋าๆ แต่ MacAlpine จะติดฟิวชั่นแจ๊ส และก็ไม่แปลกเลยที่การเอาสไตล์กีตาร์แบบ Neo Classical ไปเล่นผสมกับฟิวชั่นมันจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น
ซึ่งถ้าถามว่าทำไม MacAlpine ถึงคิดอะไรแบบนี้มา คำตอบคือพื้นฐานเขาเป็นมือคีย์บอร์ด ดังนั้นเขาจะมีทางโน๊ตแปลกๆ แบบที่ใช้เทคนิคปกติของกีตาร์เล่นไม่ได้ และถ้าจะเล่นได้ เขาก็ต้องพัฒนาเทคนิคใหม่ หรือเอาเทคนิคที่มีมาอยู่มาผสมกันเพื่อให้เล่นออกมาให้ได้ และมันก็กลายเป็นเทคนิคเฉพาะตัวในที่สุด ทั้งนี้ แม้ว่าจะเคยออกอัลบั้มมาแล้วในปี 1986 แต่อัลบั้ม Maximum Security ของ MacAlpine ในวัย 27 ปี ก็ได้ชื่อว่า “ดีที่สุด” ของเขาแล้ว
5. Jason Becker – Perpetual Burn
บางคนอาจ “หัวร้อน” แน่ๆ ว่าทำไมไม่มีชื่อของ Marty Friedman อยู่ในลิสต์นี้ แต่ก็นะครับ ต้องยอมรับว่างานเดี่ยวกีตาร์ของ Marty ไม่ได้เด่นอะไรขนาดนั้น และงานสร้างชื่อจริงๆ ก่อนเขาเข้าไป Megadeth คือวง Capophony ที่เขาเล่นกีตาร์คู่กับ Jason Becker ซึ่งในความเป็น “กีตาร์ฮีโร่” นั้น Jason ดูจะมีมากกว่า Marty
Jason รู้จักกับ Marty ที่เป็น “รุ่นพี่” มาตั้งแต่สมัยมัธยม (Marty แก่กว่า 7 ปี) และทั้งคู่ก็เล่นกีตาร์คู่กันมาตลอด ซึ่งฝีไม้ลายมือก็เก่งสุดๆ ทั้งคู่จนได้ทำวง Cacophony ร่วมกัน (ออกโดยค่าย Sharpnel เจ้าเก่า) ก่อนจะแยกกันไปออกอัลบั้มเดี่ยว และมีฟีเจอริ่งกันมาตลอด
เรียกได้ว่า Jason Becker เป็นคนที่ “ดังเร็ว” มากๆ เพราะได้ออกอัลบั้ม Cacophony ตั้งแต่อายุ 18 ปี ซึ่งประสบการณ์แต่เด็กนี่ก็ทำให้งาน Perpetual Burn ในวัย 21 ปีนี้ก็ถือว่าเป็นงานที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยงานของเขาแม้ว่จะถูกเรียกว่าเป็น Neo-Classical Metal แต่ก็เป็นคนละสายกับ Yngwie คือมีทางโน๊ตที่ต่างโดยสิ้นเชิง
ถามว่าต่างกันยังไง อธิบายง่ายๆ Yngwie นั้นจะมี “ทางโน๊ต” แบบดนตรีคลาสสิคยุคบาโรค ส่วน Jason จะมีทางโน๊ตแบบยุคโรแมนติค ซึ่งนี่ทำให้ทำให้เขากลายมาเป็น “ทางเลือก” ที่สำคัญของคนที่อยากเล่น Neo-Classical Metal แต่ไม่อยากเป็นเหมือน Yngwie และกลายมาเป็นยอดฝีมือที่เป็นที่กล่าวขวัญในยุคนั้น และดังข้ามมายุค 1990’s
แต่ก็เรียกได้ว่าโชคร้ายจริงๆ เพราะสุดท้ายเขาป่วยเป็นโรค “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” (โรคเดียวกับ Stephen Hawking) จนทำให้เล่นกีตาร์ไม่ได้ในที่สุด ซึ่งเขาก็ยัง “สู้ชีวิต” และแต่งเพลงมาจนถึงทุกวันนี้ทั้งที่ร่างกายเขาขยับได้เพียงแค่ดวงตาเท่านั้น
6. Greg Howe – Greg Howe
Greg Howe คือเด็กหนุ่มที่มีพรสวรรค์กีต้าร์ที่ส่งเดโมไป Guitar World แล้วไอ้ออกเทปเลย ในวัย 25 ปี ซึ่งถ้าเห็นปกเชยๆ แบบนี้คาดหวังอะไรแบบ Neo-Classical คงต้องผิดหวังเพราะ เขาคือมีกีตาร์ในสาย Fusion Metal ที่เล่นกีต้าร์แบบบูชา Allan Holdsworth นักกีต้าร์ฟิวชั่นแจ๊สที่ “ปั่น” มาก่อนพวกสายร็อค แม้ Greb จะแต่งเพลงแบบยังไม่ “หลุดโลก” เท่า หรือจะบอกว่า Greg บูชา Eddie Van Halen แต่ก็มีความหลงรักในการเอาเทคนิคแบบ Eddie ข้ามมาใส่ดนตรีฟิวชั่นก็ได้
อัลบั้มนี้ถือว่าคลาสสิคมากๆ มันสร้างสรรค์สุดๆ ในยุคที่การเล่นเร็วๆ มันเริ่ม “ซ้ำซาก” แล้ว นี่ทำให้ถ้ามีการจัดอัลบั้มกีต้าร์ “สายปั่น” (shredding) มันจะติด 10 อันดับแรกเสมอ และนี่ก็ทำให้คนที่ชอบฟังกีต้าร์บรรเลงไม่ควรจะพลาดด้วยประการทั้งปวง
7. Eric Johnson – Ah Via Musicom
ในยุคที่วัยรุ่นและคนหนุ่มบ้าปั่นกีตาร์กันทั้งบ้านทั้งเมือง อัลบั้มที่ 2 จาก Eric Johnson ในวัย 36 ปีที่โด่งดังถล่มทลาย ถึงกับติด Billboard 200 ได้ถึงอันดับ 67 และค้างอยู่บนชาร์ตถึงปีครึ่งก็ทำให้ทุกคนงงกัน เพราะอัลบั้มกีตาร์จากหนุ่มใหญ่คนนี้เต็มไปด้วยความไพเราะและละมุน แถมยังไม่ถือว่ารวดเร็วอะไรด้วย
Johnson เล่นกีตาร์แบบราวกับยุค 1980’s ไม่เคยมีอยู่มาก่อน ราวกับ Eddie Van Halen และ Yngwie J. Malmsteen ไม่เคยปฏิวัติการเล่นกีตาร์ เขาไม่ได้ใช้เทคนิคที่แพร่หลายในยุคนั้น และเขาก็ไม่ได้ใช้สเกลและโหมดที่แพร่หลายในยุค 1980’s ด้วย เพราะการเล่นกีตาร์ของเขาคือกลับไปหายุค 1970’s ที่ทุกคนใช้สเกลเพนทานิกและบลูส์ ที่เป็นต้นกำเนิดดนตรีร็อค และเทคนิคที่ Eric ใช้เต็มที่ก็คือการเอานิ้วมือขวามาช่วยดีดกีตาร์อันเป็นเทคนิคที่หยิบยืมมาจากมือกีต้าร์สายคันทรี่
แต่นี่ก็คือ “ความมหัศจรรย์” ของ Johnson เขาเอาเทคนิคแบบโบราณมาแต่งเพลงให้สดใหม่ ไม่ได้ติดบลูส์แม้แต่นิด และมีทางโน้ตที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญคือไพเราะและติดหูสุดๆ
ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่คล้ายกันของ Johnson กับ Joe Satriani ที่ทำอัลบั้มบรรเลงกีต้าร์ออกมาโคตรขายดีทั้งคู่ก็คือ พวกเขามีความปราณีตในการ “แต่งเพลง” มาก คือเพลงเป็นเพลงจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ “แบ็คกิ้งแทร็ค” สำหรับการโชว์กีต้าร์แบบพวกวัยรุ่น
และนี่เป็นเหตุผลให้งานของสองคนนี้ “ขายดี” มากๆ เพราะมันเข้าถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาฟังแต่การโซโล่กีต้าร์ได้ดีกว่างานร่วมสมัยเยอะ และก็ไม่แปลกเช่นกันที่เพลงอย่าง Cliff of Dover นี่ก็น่าจะเป็นเพลงบรรเลงที่เป็น “เพลงครู” ของมือกีตาร์เพลงเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัล Grammy
8. Steve Vai – Passion and Warfare
แม้ว่าโลกจะรู้จัก Steve Vai จากบทบาท “มือกีตาร์ตัวร้าย” ในหนัง Crossroad (1986) และบทบาทของเขาในฐานะสมาชิกสารพัดวงดนตรีตั้งแต่ David Lee Roth ยัน Whitesnake จนทำให้เขากลายเป็นไอคอนของกีตาร์ฮีโร่ตั้งแต่ปลายยุค 1980’s แล้ว แต่อัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มที่ 2 ในวัย 29 ปีนี่แหละที่ทำให้เรารู้จัก Steve Vai อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ในปี 1990 มันไม่ใช่ง่ายที่จะเล่นกีตาร์ให้ออกมา “สดใหม่” และมีเอกลักษณ์ และมีกีตาร์ที่โผล่มายุคนี้ก็มีแต่เล่นซ้ำๆ หรือไม่ก็เป็นพวกที่ดังมาก่อนหน้าแล้ว “กินบุญเก่า” หรือพูดง่ายๆ แค่เล่นออกมาเร็วๆ มันไม่ได้ทำให้ใครตื่นเต้นแล้ว เพราะใครมันก็เล่นเร็ว เทคนิคแบบ Sweep Picking และ Tapping ไม่ได้เป็นของหายากแบบหลายปีก่อน เพราะตอนนี้ใครมันก็เล่นได้
แต่สิ่งที่ Steve Vai ทำก็คือการกลับไปเทคนิคสิ่งที่เหล่ากีตาร์ฮีโร่ไม่ได้เน้นอย่างการเล่น “คันโยก” ซึ่งว่ากันตรงๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่ Eddie Van Halen ได้บุกเบิกมาเยอะ แต่ไม่ใช่เทคนิคที่พวกสายกีตาร์ฮีโร่มุ่งจะพัฒนากันเท่าไร
Vai ได้นำพาเล่นการคันโยกกีตาร์ไปอีกมิติ และทำให้กีตาร์ของเขาไม่ได้มีหน้าที่ “สาดโน๊ต” แบบที่ฮิตกันในยุค 1980’s แต่มันกลับสามารถ “โหยหวนและคร่ำครวญ” ได้อย่างที่คนอื่นไม่ทำและทำไม่ได้ และแน่นอนว่าเขาก็ทำได้ดีสุดๆ ระดับที่ทำให้เขาเป็น “เจ้าแห่งคันโยก” มาจนถึงทุกวันนี้
9. Michael Lee Firkins - Michael Lee Firkins
Michael Lee Firkins ไม่ใช่ชื่อที่คนทุกวันนี้จะรู้จัก แต่เขาเรียกได้ว่าเป็นกีตาร์ฮีโร่คนท้ายๆ ของค่าย Sharpnel ที่เป็นความใฝ่ฝันของเด็กหนุ่มที่เล่นกีตาร์เก่งในยุค 1980’s ที่จะได้ออกอัลบั้มเดี่ยวกีตาร์กับค่ายนี้สักอัลบั้ม
แน่นอนในปี 1990 ค่ายกีตาร์ฮีโร่ในตำนานนี้ก็แทบจะได้ยินการเล่นกีตาร์มาทุกแบบแล้ว แต่คนอย่าง Michael Lee Firkins ก็ยังทำให้ค่ายประหลาดใจได้ จนค่ายออกอัลบั้มแรกให้เขากับในวัย 23 ปี
ซึ่งถามว่า Michael Lee Firkins ประหลาดกว่าคนอื่นยังไง คำตอบคือ เพราะอิทธิพลทางเทคนิคกีตาร์เขามาสายคันทรี่ล้วนๆ เพราะแทนที่จะบูชา Eddie Van Halen และ Yngwie J. Malmsteen แบบคนอื่นๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน เขากลับบูชา Chet Atkins, Albert Lee และ Danny Gatton
ซึ่งการเอาเทคนิคแบบคันทรี่มาเล่นร็อคเน้นๆ นี่แหละที่ทำให้ทางโน๊ตของเขาประหลาดไม่เหมือนใครจนค่ายกีตาร์ฮีโร่ในตำนานเห็นว่าเขาโดดเด่นในยุคที่กีตาร์ฮีโร่มีเต็มบ้านเต็มเมือง และนี่ก็เลยทำให้อัลบั้มที่ปกเชยสุดๆ นี้เป็นหนึ่งในอัลบั้มกีตาร์ “สายปั่น” ที่คลาสสิคระดับติด Top 10 มาเรื่อยๆ มีมาการจัดอันดับ
10. Shawn Lane – Powers of Ten
เราคงจะจบลิสต์นี้ด้วย “อัจฉริยะผู้อาภัพ” ที่ชาวไทยไม่น่าจะรู้จักเท่าไร Shawn Lane น่าจะเป็น “กีตาร์ฮีโร่คนสุดท้าย” ของยุครุ่งเรือง เขาเป็นคนรุ่นเดียวกับ Yngwie (เกิด 1963 เหมือนกัน) แต่กว่าจะมาดังคือปลายยุคกีตาร์ฮีโร่แล้ว ตอนอายุปาไป 29 ปี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคนจะดังได้ในยุคนี้ก็ต้องไม่ธรรมดา เพราะต้องเล่นในสิ่งที่คนไม่เคยเล่นมาก่อนในยุคที่คนมันเล่นมาเกือบทุกอย่างแล้ว แต่ Shawn Lane ก็ทำได้
ซึ่งพื้นฐานของ Shawn Lane ก็ประหลาดจริงๆ เขาเป็นนักเปียโนมาก่อนแล้วเขาเอาสไตล์ที่เขาเล่นบนเปียโนมาเล่นบนกีตาร์ โดยฮีโร่ของเขาไม่ใช่มือกีตาร์คนอื่นๆ เท่ากับ Franz Liszt ยอดนักเปียโนจากศตวรรษที่ 19 นี่เป็นเหตุผล “ทางโน๊ต” ของ Shawn เขาประหลาดสุดๆ แบบไม่เหมือนคนอื่นเลย ซึ่งพอบวกกับการเล่นที่ชัดเจน มันเลยทำให้เขาโดดเด่นในโลกกีตาร์ได้ในยุคที่คนไม่คิดแล้วว่าคนจะเล่นอะไรใหม่ๆ ออกมาได้
แต่เขาก็อาภัพจริงๆ อัลบั้มเขาออกปีเดียวกับ Nevermind ของ Nirvana และกระแสดนตรีในอเมริกาก็เปลี่ยนชั่วข้ามคืน ไม่มีใครสนใจกีตาร์ฮีโร่อีกแล้ว ถนนทุกสายไม่ว่าจะค่ายเพลงใหญ่หรือวงดนตรีก็มุ่งแต่ “อัลเทอร์เนทีฟ” ดังนั้นยอดฝีมือรายนี้ก็ไม่มีใครสนใจ ก่อนที่เขาจะต้องสู้กับอาการเจ็บป่วยสารพัดจากโรค “ภูมิแพ้” ประหลาดและจากโลกไปอย่างสงบในที่สุดในปี 2003
Guest Writer : FxxkNoEvil