Eagles วงมหาชนที่มีคนชิงชัง
ผมมั่นใจว่าถ้าถามขึ้นมาลอยๆ ว่า อัลบั้มไหนคืออัลบั้มที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมดนตรีอเมริกา นักฟังเพลงชาวไทยส่วนใหญ่จะตอบไม่ถูก คนน่าก็เดากันไปต่างๆ นาๆ และชื่อที่คนนักถึงกันก็น่าจะหนีไม่พ้น Elvis Presley, The Beatles, Michael Jackson หรือกระทั่ง Taylor Swift
อย่างไรก็ดีจริงๆ อัลบั้มที่ขายดีที่สุดในอเมริกาตั้งแต่มีการบันทึกมาคืออัลบั้ม Their Greatest Hits (1971-1975) ของ Eagles ที่ขายได้ 38 ล้านก็อปปี้ ซึ่งนั่นมากกว่า Thriller ของ Michael Jackson ที่อยู่อันดับสองไปหลายล้านก็อปปี้อยู่ และถ้ายังคิดว่าโหดไม่พอ อัลบั้มขายดีเป็นอันดับสามในประวัติอุตสาหกรรมดนตรีของอเมริกา ก็คือ Hotel California ของ Eagles อีก
เห็นสถิตินี้ เราอาจงงว่า Eagles ดังขนาดนั้นเลยเหรอ คือเราทุกคนก็คงรู้ว่ามันดัง แต่ดังขนาดนั้นเลยเหรอ
คำตอบคือ “ดัง” และยัง “ดัง” อยู่ เพราะถ้าดูการจัดอันดับรายได้ของนักดนตรี/วงดนตรีในอเมริกาแล้ว แม้แต่ปี 2020 ที่โควิดบุกเมือง Eagles ก็มีรายได้เป็นอันดับ 4 แพ้ไปแค่ Taylor Swift, Post Malone และ Celine Dion เท่านั้น
ดังนั้นในอเมริกา Eagles ยิ่งใหญ่มาก และจะบอกว่ามันเป็น “วงร็อคอเมริกันที่ขายดีสุดตลอดกาลในตลาดอเมริกาก็ได้” ตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า “ทำไม” ทำไมวงมันยิ่งใหญ่ขนาดนั้น? แต่ประเด็นคือ ถ้าจะถามเอา “ความยิ่งใหญ่” มันก็คงหลายๆ ปัจจัย ทั้งเพลงดี และอยู่ถูกที่ถูกเวลาก็ว่ากันไป ไม่ได้ต่างจากวงอื่นๆ
แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ วงดนตรีวงนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “วงที่คนเกลียดที่สุด” วงแรกๆ ของอเมริกา เรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของ Nickelback และเราขอคัดพาดหัวจากสื่อหลายเจ้ามาให้ดูเป็นหลักฐานว่าวงนี้คนไม่ชอบเยอะจริงนะครับ Salon เคยลงบทความชื่อ “เลิกปกป้อง Eagles ได้แล้ว พวกเขาก็แค่ทำเพลงห่วยแตกเท่านั้นแหละ” Daily News เคยลงบทความชื่อ “ความตายของ Glenn Frey มันน่าเศร้า แต่ Eagles ก็เป็นวงที่เลวร้ายจริงๆ นั่นแหละ”
The Irish Times เคยลงบทความชื่อ "อัลบั้ม “Greatest Hits” ของ Eagles คือดนตรีสำหรับคนที่ไม่ชอบดนตรี” หรือกระทั่ง Billboard ก็เคยลงบทความชื่อ “ทำไมคนเกลียด Eagles กันนัก?: คำอธิบายว่าด้วยวงยอดนิยมที่หลายคนคงไม่เห็นด้วย” และนี่เป็นเพียงแค่บางตัวอย่างที่ค้นได้เร็วๆ จากสื่อรายใหญ่ๆ เท่านั้น รายเล็กๆ กว่านี้มีอีกสับไม่ถ้วน
พูดอีกแบบคือสำหรับนักวิจารณ์จำนวนมาก Eagles คือวงที่นักฟังเพลง “มีหน้าที่” ที่จะเกลียดเลยแหละ หรือพูดอีกแบบ นักวิจารณ์ในโลกภาษาอังกฤษมันคิดว่าคนที่ชอบ Eagles “ไม่มีรสนิยม” และเราจะไม่พบกับความจงเกลียดจงชังระดับเดียวกันอย่างแน่นอนกับวงดนตรีร่วมสมัยระดับคลาสสิกวงอื่นๆ
ตรงนี้ คำถามว่าทำไม คนถึงเกลียด Eagles มากขนาดนั้นจึงน่าสนใจ เพราะเซนส์แบบเดียวกันนี้ไม่มีนอกอเมริกาเท่าไร และที่อื่นๆ ในโลก Eagles ก็ดังจริง แต่ไม่ได้ดังขนาดที่มันดังในอเมริกาแน่ๆ
ซึ่งถ้าจะเข้าใจว่าทำไมคนถึงเกลียดขนาดนั้น ไปฟังเพลงอย่างเดียวมันไม่เก็ตหรอกครับ แต่มันต้องเข้าใจบทเพลงในบริบทของมันในหลายๆ มิติ และในที่นี้เราจะมีบริบทในมิติต่างๆมาเล่าให้เห็นภาพว่าทำไม Eagles ถึงเป็นวงที่คนเกลียดขนาดนั้นในอเมริกา
---วงดนตรีที่ปิดฉากเพลงประท้วง---
Eagles คือวงดนตรีของยุคต้นและกลาง 1970’s แท้ๆ ซึ่งถ้าใครรู้บริบทตอนนั้นก็จะรู้ว่ามันคือยุคสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม คือมันเป็นยุคที่อเมริกาตัดสินใจถอนทหารจากเวียดนามแล้ว ก่อนจะนำไปสู่ตอนที่ “ไซ่ง่อนแตก” ในปี 1975
ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนฝ่ายไหนสงครามเวียดนามคือความอัปยศของอเมริกาแท้ๆ และถ้าคนจะล้อว่าอเมริกา “แพ้สงคราม” ได้เน้นๆ สักครั้ง ก็คงจะสงครามเวียดนามนี่แหละ (ซึ่งจะยอมรับว่า “แพ้” มั้ยก็ขึ้นอยู่กับว่าถามใคร)
ซึ่งอีกด้านหนึ่ง คนก็ไม่ได้เบื่อแค่สงคราม แต่คนก็เบื่อพวกฮิปปี้และเพลงประท้วงจากพวกเขาเช่นกัน โดยความเบื่อหน่ายนี้จริงๆ มันเริ่มชัดมาตั้งแต่จากการที่คนอเมริกันเลือก Richard Nixon เป็นประธานาธิบดีอย่างถล่มทลายในสนามเลือกตั้งในปี 1968 ซึ่งประธานาธิบดีผู้นี้มีท่าทีชัดเจนไม่ได้เป็นมิตรกับพวกฮิปปี้ที่ประท้วงสงครามเลย และเขาหาเสียงโดยการเล่นกับความ “เบื่อม็อบ” ของคนอเมริกันตลอดจนเลือกตั้งชนะอย่างล้นหลาม
และถ้ายังไม่ชัด คือตอน Nixon เป็นประธานาธิบดี เขาจะมีคำเรียกฐานเสียงของเขาเลยว่า “คนส่วนใหญ่ที่ไม่โวยวาย” (silent majority) และนัยยะก็คือ จริงๆ ไอ้พวกฮิปปี้ทั้งหลายน่ะ คนมันน้อย แต่เสียงมันดังเท่านั้นเอง คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เหมือนไอ้พวกนี้
ชัยชนะของ Nixon เปลี่ยนบรรยากาศทางการเมืองในอเมริการุนแรงมาก และถ้านึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงตอน Donald Trump ชนะเลือกตั้ง และทำให้อเมริกาเปลี่อนไปพอควรเลยตอนเขาเป็นประธานาธิบดี แต่ความต่างคือ Nixon ชนะถล่มทลายกว่าเยอะ และชนะต่อกัน 2 สมัยด้วย
ชัยชนะของ Nixon ทำให้มันชัดเลยว่าในช่วง 1970’s คนมันไม่เอาอีกแล้วเพลงประท้วง คนมันไม่เอาอีกแล้วพวกฮิปปี้ และ “คำตอบ” ของอุตสาหกรรมดนตรีที่มีให้กับบรรยายกาศทางสังคมแบบใหม่นี้ก็คือ Eagles ที่เอาจริงๆ วงนี้ไม่ได้มีรูปแบบดนตรีต่างจากวงยุคก่อนนัก คือพวกเขาเป็นวงดนตรีลูกทุ่งแบบคนเมืองใหญ่ที่ก่อนหน้านี้เอาแค่จากลอสแองเจลิสเองมันมีวงอย่าง The Byrds กับ Crosby, Stills, Nash & Young บุกเบิกมาแล้ว
แต่ความต่างกันชัดๆ ของ Eagles กับวงอื่นๆ ก็คือ Eagles ไม่เอา “การเมือง” เลย เพลงของ Eagles ในเชิงเนื้อหาคือการกลับไปยุคแคลิฟอร์เนียชิลๆ สายลมแสงแดด แบบยุค Beach Boys และทำราวกับยุคสมัยแห่งเพลงประท้วงไม่เคยดำรงอยู่
แต่ความชิลล์ ความต้องการลืมการเมือง และความเจ็บช้ำของสงครามเวียดนามก็อาจเป็นสิ่งที่สังคมอเมริกันต้องการแล้ว และก็ไม่น่าแปลกใจนักที่เพลงดังเพลงแรกของ Eagles คือ "Take It Easy" คนอเมริกันดูจะไม่ต้องการความซีเรียสของการเมืองอีกแล้ว และวงก็ดูจะโผล่มาถูกที่ถูกเวลาพอดี
ซึ่งความดังของ Eagles อันล้นหลามก็แทบจะเปลี่ยนทิศทางอุตสาหกรรมดนตรีเลย คือมันพิสูจน์ชัดแล้วว่ายุค 1970’s เพลงการเมืองมัน “ขายไม่ออก” และหลังจากนั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมดนตรีก็ไม่พยายามดัน “เพลงการเมือง” มาขายอีก และก็ไม่แปลกเช่นกันที่กลุ่ม “ดนตรีการเมือง” ในยุคหลังนั้นจะจงเกลียดจงชัง Eagles มาก โดยเฉพาะกลุ่มพังค์
แต่ก็ไม่ใช่แค่พวกพังค์ที่เกลียดวงขายดีวงนี้ เท่านั้นยังไม่มากพอที่จะทำให้วงนี้กลายเป็นวงที่คน “รักจะเกลียดมากที่สุด”
---เพลงลุกทุ่งโดยคนเมืองที่ขี่ม้าต้อนวัวไม่เป็น---
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบเพลงของ Eagles ยุคแรกๆ คือ “เพลงลุกทุ่งอเมริกัน” ชัดๆ อย่างน้อยๆ คนนอกอเมริกาเองก็ฟังเป็นแบบนั้น แต่ในอเมริกาเอง คนจำนวนมากที่ชอบฟังเพลงลูกทุ่งกลับไม่ชอบ Eagles มากๆ มาแต่แรก
ในอเมริกา จารีตเพลงลูกทุ่งนั้นเป็นจารีตของรัฐทางฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะในโซนที่ไม่ติดทะเลหรือจะเรียกว่าโซน “บ้านนอก” ก็ได้ ซึ่งโซนนี้จนถึงทุกวันนี้ก็ยังถือว่าเป็นโซนที่เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมที่สุด และในอเมริกา ความ “หมั่นใส้” กันระหว่างรัฐก็เรื่องจริง พวกที่ชอบลูกทุ่งสไตล์แนชวิลล์ที่ถือว่าเป็น “ลูกทุ่งแบบดั้งเดิม” ของอเมริกาจะไม่ชอบ Eagles ซึ่งเหตุผลก็คือ “ความรู้สึก” ว่า “วงนี้มันลูกทุ่งปลอม”
การเป็น “ศิลปินลูกทุ่ง” ในอเมริกา มันโยงกับ “คาวบอย” แบบเลี่ยงไม่ได้ และก็ไม่แปลกที่ความเป็นคาวบอยกับความเป็นลูกทุ่งมันแทบจะไม่แยกกัน แต่ Eagles ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย และทำให้คนเหน็บวงนี้เสมอว่า ขี่ม้าก็ยังขี่ไม่เป็น วัวก็เลี้ยงไม่เป็น ยังสะเออะมาเล่นลูกทุ่ง (ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงประมาณด่าว่าจะมาร้องเพลงลูกทุ่งได้ไงถ้าไม่เคยขี่ควายทำนา)
และ “ปัญหา” ที่มากกว่านั้นก็คือ Eagles นี่เล่นดนตรีไม่เหมือน “คาวบอยเล่นดนตรี” ความขาดๆ เกินๆ ความอิมโพรไวซ์แทบจะไม่มีในวงนี้ แต่พวกเขาพยายามจะเล่นสดให้เหมือนที่เขาอัดมาในสตูดิโอเป๊ะๆ ซึ่งมันก็ทำให้คนด่าว่าพวกเขา “เป๊ะเกินกว่าจะเป็นลูกทุ่ง”
อย่างไรก็ดี ก็ดังที่บอก นี่ไม่ใช่วง “ลูกทุ่งคนเมือง” วงแรกของแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นไอ้ประเด็นว่าไม่เคยเลี้ยงวัวก็ดูจะเป็นข้ออ้างที่ยกมาด่าไปเรื่อยมากว่า และก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าการเล่นดนตรีออกมาเหมือนในสตูดิโอเป๊ะๆ นี่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะยกมาด่ากันแน่ๆ ในภาวะปกติ
อย่างไรก็ดีถ้าจะบอกว่าวงนี้ทำผิดอะไรในฐานะที่เป็นวงลูกทุ่ง เอาจริงๆ ก็คงจะเป็นเรื่องเนื้อเพลงที่มัน “ผิดผี” ไปจากจริตของลูกทุ่งจริงๆ เพราะเพลงลูกทุ่งอเมริกาดั้งเดิมมันคือเพลงที่สะท้อนชีวิตคนแถว “บ้านนอก” ที่เป็นเกษตรกร ชีวิตไม่ชิลล์เท่าไรแน่ๆ แต่สิ่งที่ปรากฎในเพลงของ Eagle มันคือชีวิตแบบ “สบายๆ” สไตล์สายลมแสงแดดของแคลิฟอร์เนีย มันไม่มีความยากลำบากและความขุ่นข้องหมองใจในสารบบ และบางทีนี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนหมั่นไส้ที่สุด
---วงที่ดังที่สุดจากรัฐที่คนเกลียดที่สุด---
เวลาอเมริกามีการให้รัฐต่างๆ บอกว่ารัฐไหนน่ารังเกียจที่สุด แคลิฟอร์เนียแทบจะไม่เคยตกไปจาก Top 3 เลย ซึ่งเหตุผลมันก็น่าจะมาจากความ “ประหลาด” ของรัฐนี้ที่มีมาช้านาน รวมไปจนถึงความภาคภูมิในความเป็น “ชาวแคลิฟอร์เนีย” ของคนรัฐนี้ด้วย
จริงๆ ชาวแคลิฟอร์เนียชอบสะท้อนวิถีชีวิตตัวเองมาในบทเพลงแบบไม่เกรงใจรัฐอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุคของดนตรีเสิร์ฟที่เอาจริงๆ เพลงมันร้องเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำได้ในไม่กี่รัฐในอเมริกาให้คนทั้งประเทศฟัง และก็ยังไม่ต้องพูดถึงความหมกมุ่นในการพูดถึงเมืองของตัวเองระดับต้องเอ่ยชื่ออย่างแอลเอหรือกระทั่งการพูดถึงรัฐแคลิฟอร์เนียในบทเพลง
และ Eagles ก็ไม่ได้ต่างจากวงแคลิฟอร์เนียทั่วไป คืออะไรพวกนี้มันแทรกอยู่ในบทเพลงไปหมด หรือ ให้ตรงกว่านั้นที่คนรู้สึกว่ามัน “น่ารำคาญ” ก็คือมันเขียนถึงสิ่งต่างๆ ด้วย “มุมมองแบบชาวแคลิฟอร์เนีย” และด้วยความดังขนาดนี้ก็ไม่แปลกว่า คนจะมองว่าวงมันเป็นตัวแทนของรัฐ และก็เกลียดวงตามเกลียดรัฐด้วย
และถ้าจะบอกว่าทำเพลงแบบนี้ มันก็ต้องร้องแบบนี้ คำถามคือมันจริงเหรอ วงรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง Lynyrd Skynyrd นี่ไม่เห็นจะต้องมาแต่งเพลงเชิดชูบ้านเกิดอย่างฟลอริดาเลย (ยังไม่นับว่า เพลงอย่าง Sweet Home Alabama ทำให้คนจำนวนมากนึกว่าวงนี้มาจากรัฐอลาบามาด้วยซ้ำ) แต่ Eagles นี่ถึงกับทำอัลบั้มชื่อ Hotel California และมันก็ดังเป็นอัลบั้มหนึ่งที่ขายดีสุดในประวัติศาสตร์อเมริกาอีกอย่างที่เล่า
แน่นอน Eagles ไม่ใช่วงแรกจากแคลิฟอร์เนียที่บ้าใส่ความเป็นแคลิฟอร์เนียไปในเพลง และก็ไม่ใช่วงสุดท้ายด้วย แต่วงมันดังที่สุด และก็ไม่แปลกเลยทีจะเป็นเป้าของการเกลียดและหมั่นไส้
---Babyboomer และ Eagles ของพวกเขา---
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ Eagles อาจฟังดูแย่มากๆ แต่ประเด็นที่พยายามจะเล่าก็คือ ไม่ว่าคุณจะคิดว่าเพลงของพวกเขาดีแค่ไหน คิดว่าพวกเขาไม่หน้าหมั่นไส้แค่ไหน คนอเมริกันก็มีเหตุผลมากมายที่จะเกลียดวงนี้
ซึ่งอีกด้าน เรายังไม่อธิบายเท่าไรเลยว่าทำไมพวกเขาถึงดังได้ขนาดนี้ แน่นอน เราจะพูดถึงความดีงามทางดนตรียังไงก็ได้ แต่จริงๆ แล้วประเด็นพื้นฐานก็กลับมาที่แคลิฟอร์เนียน่ะแหละ
แคลิฟอร์เนียคือรัฐที่ประชากรมากที่สุดในอเมริกา และมีรายได้ของรัฐสูงที่สุดในอเมริกามาช้านาน มันคือรัฐแห่งความฝัน รัฐที่เป็นตัวแทนของ “อเมริกันดรีม” มาตั้งแต่ยุคตื่นทองตอนกำเนิดรัฐแรกๆ มา ยุคที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เฟื่องฟูและเป็นหน้าเป็นตาให้สหรัฐอเมริกา มาจนถึงทุกวันนี้ที่ยอดฝีมือสาย IT จากทั่วโลกไปทำงานรับรายได้สูงลิบกันที่ Silicon Valley สำหรับคนอเมริกัน คนแคลิฟอร์เนียเป็นพวกหัวสูง ชอบอะไรเริ่ดๆ และที่สำคัญคือ “รวย” มากๆ
ซึ่งก็คงไม่ต้องอธิบายมากกว่า คนที่ทั้งรวยและหัวสูงนี่จะเป็นที่หมั่นไส้แค่ไหนกับคนอื่นๆ แค่ไหน แต่ในอีกด้านหนึ่ง นี่หมายถึงคนที่แสนจะน่าหมันไส้พวกนี้ก็คือคนที่มีกำลังซื้อที่มากมายมหาศาลด้วย และจะว่าไปแล้ว แคลิฟอร์เนียเป็นแบบนี้ได้ก็เพราะ คนที่มาที่นี่ในบรรลุอเมริกันดรีมแทบทุกราย หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือ ถ้าคุณไม่บรรลุอเมริกันดรีม คุณจะไม่มีปัญญาอยู่ในรัฐนี้ เพราะทุกอย่างมันแพงไปหมด ระดับที่คนรัฐอื่นมันแทบจะรู้สึกว่าราคาของในแคลิฟอร์เนียมันทำให้รู้สึกว่าเหมือนอยู่กันคนละประเทศ
Eagles น่าจะเป็นตัวแทนอันถ่อมตัวอย่างโอหังของอเมริกันดรีมแท้ๆ สิ่งที่วงทำมาตลอดแม้ว่าจะไม่เคยพูดถึงอเมริกันดรีมเลยแม้แต่ครั้ง แต่วงมันก็ทำตัวราวกับว่ามีชีวิตอยู่ในศูนย์กลางของอเมริกันดรีมมาตลอด ทุกอย่างมันเรียบง่ายได้ ชิลล์ได้ เพราะเรารวย เรายิ่งใหญ่
แน่นอนว่าทัศนะคติแบบนี้น่าหมั่นไส้ แต่ใครจะไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ และอย่างน้อยๆ สำหรับคนรุ่นหนึ่งการแสดงออกแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่รับได้ในสังคม และคนรุ่นนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก Baby Boomer อเมริกัน เพราะอย่างน้อยๆ คนรุ่นนี้ก็คือคนที่ยังมีฝัน ยังมีโอกาสที่จะรวยจะยิ่งใหญ่ได้ และก็กลายมาเป็นเศรษฐีมาตั้งไม่รู้เท่าไร
ซึ่งมองในแง่นี้ ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Eagles ถึงเป็นวงดนตรีอันดับ 1 ของอเมริกา เพลงของพวกเขาพูดถึงชีวิตที่พึงปรารถนาในอเมริกันดรีม และกลายมาเป็นซาวน์แทร็คชีวิตของคนรุ่น Baby Boomer และก็ไม่แปลกเลยที่เอาจริงๆ ในภาพใหญ่ คนที่จะเกลียด Eagles กันจริงจังคือคนรุ่นหลังจากนั้นทั้งนั้น
ถ้าเรามองปรากฎการณ์ภาพใหญ่เราก็คงจะเห็นได้ไม่ยากว่ามันมีกระแสการเกลียดคนรุ่น Baby Boomers มาพักใหญ่แล้วในอเมริกา ตั้งแต่ Gen Y เริ่มมามีปากเสียงในสังคม จนทุกวันนี้ Gen Z ก็เกลียดเช่นกัน และก็ไม่แปลกเลยที่ Eagles ที่ถือว่าเป็นวงดนตรีที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นนี้ก็จะถูกเกลียดในทำนองเดียวกัน
Guest Writer : FxxkNoEvil