GEMS พื้นที่ผลักดันแร็ปเปอร์หน้าใหม่ พิสูจน์ตัวเองผ่านผลงานเพลง
หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในวงการดนตรีคือ 'พื้นที่' สำหรับการแสดงออกและนำเสนอผลงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ได้รับการรู้จักมากขึ้น ซึ่งศิลปินเหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนและสร้างสีสันในวงการต่อไป
หากพูดถึงวงการฮิปฮอป หนึ่งในสื่อที่มีบทบาทและเป็นที่รู้จักมายาวนานคือ RAP IS NOW ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักจากรายการแร็ปแบทเทิลสุดดุเดือดที่มีแร็ปเปอร์เข้าร่วมมากมาย และถือเป็นจุดกำเนิดของแร็ปเปอร์หลายคนที่ยังคงอยู่ในวงการจนถึงทุกวันนี้
จากแร็ปแบทเทิล RAP IS NOW ได้ต่อยอดเป็นโปรเจกต์ต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคืองานมอบรางวัลให้กับแร็ปเปอร์ไทยในชื่อ RIN AWARDS โดยมีสาขารางวัลพิเศษที่สำคัญคือ HIDDEN GEMS ซึ่งมอบให้กับแร็ปเปอร์น่าจับตามองที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
แม้ว่าปัจจุบันงานมอบรางวัล RIN AWARDS จะไม่ได้จัดต่อไปแล้ว แต่คอนเซปต์การผลักดันแร็ปเปอร์หน้าใหม่ในสาขารางวัลพิเศษอย่าง HIDDEN GEMS ได้ถูกนำมาต่อยอด และก่อกำเนิดเป็นโปรเจกต์ใหม่ที่ชื่อว่า GEMS
GEMS คือโปรเจกต์คัดเลือกแร็ปเปอร์ที่น่าสนใจมาทำเพลงตัวเองเพื่อนำเสนอตัวตน ทางโปรเจกต์จะปล่อยเพลงของแร็ปเปอร์เหล่านี้ผ่าน YouTube ทุกสัปดาห์จนครบทุกคน โดยมีเป้าหมายผลักดันพวกเขาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
สำหรับ GEMS รุ่นแรก ประกอบด้วย SEXSKI, UNLITLED, BIGSLP, FTP Southboy, I'TA, ZIXMYDXCK666, $LUTTY P, 6PSYMON, PQR, EDITs, SANSANG และ 2K ซึ่งทุกคนได้พิสูจน์ฝีมือ ด้วยการปล่อยเพลงตัวเองภายใต้โปรเจกต์ GEMS เป็นเรียบร้อย
นอกเหนือจากนั้นพวกเขากำลังมีอีเวนต์ RAP IS NOW : GEMS ที่อัดไลน์อัพแน่นๆ จากแร็ปเปอร์ในโปรเจ็กต์ GEMS ที่จะขึ้นแสดงด้วยกันเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายนนี้ ณ NAI LEK SPACE โดยบัตรจำหน่ายแล้วทาง www.eventpop.me
เสพย์สากลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณฮอคกี้ (HOCKHACKER) หนึ่งในผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ GEMS เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของโปรเจกต์ กระบวนการคัดเลือก อุปสรรคต่างๆ ที่เผชิญ ความสำคัญของการให้พื้นที่แก่ศิลปินหน้าใหม่ และความคาดหวังถึงโปรเจกต์นี้
เล่าถึงจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของโปรเจกต์ GEMS ให้ฟังหน่อยครับ
ก่อนที่จะเล่าถึง GEMS ต้องย้อนกลับไปถึงจุดมุ่งหมายของ RAP IS NOW ในการจัดงานมอบรางวัล RIN AWARDS ก่อนครับ เริ่มต้นหลายคนรู้จักเราที่เป็นแร็ปแบทเทิล ซึ่งทุกคนก็รู้ดี แต่ความจริงคือไม่ใช่แร็ปเปอร์ทุกคนจะเก่งแรปแบทเทิล บางคนถนัดทำเพลง หรือมีสไตล์การแรปที่ไม่เหมาะกับเวทีแบทเทิล
เราเลยนึกถึงการมอบรางวัล 'New Face' สำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่น่าจับตามองในตอนนั้น นอกจากนี้ เรายังมีรางวัล Hidden Gems สำหรับอีกกลุ่มที่ทีมงานเรา ในฐานะคิวเรเตอร์ เห็นว่าพวกเขามีของดี มีสกิล มีเนื้อหาและการนำเสนอที่ดี แต่อาจไม่ได้อยู่ในกระแสความนิยมแบบ mass บางคนมีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมในอนาคต แต่ตอนนั้นยังเป็นอัญมณีที่ซ่อนอยู่
ความพิเศษของรางวัล Hidden Gems คือเป็นรางวัลเดียวที่ทุกคนที่ได้รับการเสนอชื่อจะได้รับรางวัลกลับบ้าน ไม่เหมือนรางวัลอื่นที่ต้องผ่านการโหวต เพราะแร็ปเปอร์ Hidden Gems ส่วนใหญ่ยังไม่มีฐานแฟนคลับมากนัก เราอยากมอบรางวัลเป็นกำลังใจ เพื่อบอกพวกเขาว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มีคุณภาพ มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ แม้วันนี้อาจไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก เป็นการเติมไฟให้พวกเขา ย้ำเตือนว่ามีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่
แต่หลังจากนั้น RIN AWARDS ก็หยุดไปใช่ไหมครับ
งานมอบรางวัล RIN AWARDS หยุดไปตั้งแต่ปี 2021 ถ้าผมจำไม่ผิดนะ ที่หยุดก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในทีม RAP IS NOW เอง พอดีช่วงนั้นวงการแร็ปไทยเริ่มมาแรง แร็ปเปอร์หลายคนดังขึ้น และอุตสาหกรรมเพลงฮิปฮอปในบ้านเราก็เติบโตแบบฉุดไม่อยู่ ทีมผู้ก่อตั้ง RAP IS NOW เลยอยากทำอะไรใหม่ๆ บ้าง ก็เลยไปตั้งค่ายเพลง YUPP ขึ้นมา
ปัญหาคือทีมงานต้องสวมหมวกสองใบไปพร้อมๆ กัน ทั้งเป็น YUPP ที่ทำธุรกิจเพลง และเป็น RAP IS NOW ที่ผลักดันวงการแร็ปใต้ดินกับจัดแร็ปแบทเทิลเลยมีคนเริ่มวิจารณ์ว่าการเลือกคนเข้าชิงรางวัลอาจจะไม่แฟร์เท่าไหร่ เพราะมันเหมือนมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างค่ายเพลงที่มีศิลปินส่งเข้าประกวดกับทีมคนจัดงาน RAP IS NOW เอง
มาถึงจุดนี้เรารู้แล้วว่า RIN AWARDS ยังไม่พร้อมทำ แร็ปแบทเทิลก็หยุดไปก่อน เราเลยคิดว่า 'เฮ้ย หรือเราทำ compilation รวมศิลปินอันเดอร์กราวด์รุ่นใหม่ๆ ดีกว่า?' เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของเรา
พอคิดไปคิดมา เราก็รู้สึกว่าน่าจะหยิบคอนเซ็ปต์ Hidden Gems กลับมาใช้ แล้วทำให้ชัดเลย เราเลยคิดว่าทำเป็น GEMS ไปเลยดีกว่า เลือกตัวที่เราชอบเลย ไม่ต้องออดิชันอะไรแล้ว
แล้ววิธีการเลือกแร็ปเปอร์เข้าสู่ GEMS ใช้เกณฑ์อะไรบ้าง
พูดถึงวิธีการเลยนะ เราตัดสินใจเลือกเองเลย ซึ่งมันก็ดีที่เราได้หาคนรุ่นใหม่ หาศิลปินใหม่ที่เราอยากผลักดัน
ยกตัวอย่างพวกเราในทีมอยากดันเด็กที่มีสไตล์แบบนี้ให้คนรู้จักเยอะขึ้น หรือให้คนฟังกันมากขึ้น อย่างน้องคนนี้เนี่ย เราแบบอยากให้มีคนรู้จักเพิ่มเยอะๆ จังวะ เพราะชอบสไตล์เขามาก ก็เลยช่วยกันเลือกเข้ามา
ตอนแรกมีชื่อเยอะแยะเลย มีคนถอนตัวด้วย จริงๆ ตอนเซ็ตแรกเนี่ย มีตั้งเยอะก่อนที่เราจะมาตัดกัน ใส่ไว้ประมาณเกือบๆ 20-30 คนได้มั้ง ประมาณนั้นแหละ
พอมาเลือกกัน ก็แบบ 'เฮ้ย โยนชื่อมาให้หน่อยดิ' แล้วเอาชื่อพวกนั้นมานั่งคุยกัน เปิดเพลงฟังไปด้วยเลย 'ชอบคนนี้ไหม? ชอบคนนี้มั้ย?' แล้วก็ค่อยๆ ตัดกันจนเหลือ 11 คนที่เห็นตอนนี้
จริงๆ มี 13 ตัว แต่บางคนมาเป็นดูโอ้ ก็เลยรวมเป็น 11 ศิลปินนั่นแหละ
ถ้าเป้าหมายของเราคือการค้นหาศิลปินหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง อายุมีผลต่อการคัดเลือกหรือไม่ และเราควรใช้เกณฑ์อายุอย่างไรในการตัดสิน?
มันเกี่ยวกับจังหวะและความน่าสนใจ บางคนยังเด็กและเพิ่งทำเพลงได้ไม่นาน เราไปเจอพวกเขาเข้า แต่บางคนก็โตแล้ว อายุยี่สิบกว่าแล้ว แค่ยังไม่มีพื้นที่ปล่อยของ หรือบางทีเขาอาจจะไปโฟกัสอย่างอื่นมาก่อน
มีคนนึงที่เป็นคนเบื้องหลัง เคยแต่งเพลงให้คนอื่นมาตลอด แต่เพลงตัวเองกลับไม่ค่อยได้ทำ พอเราไปเจอเข้า 'เฮ้ย คนนี้มีของจริงว่ะ' เราก็เลยชวนเข้าโปรเจกต์
ศิลปินในโปรเจกต์ GEMS ต้องอยู่ในกรอบดนตรีไหนเป็นพิเศษไหม
เราไม่ได้ครอบเรื่องทิศทางหรือสร้างธีมอะไรเลย แต่ด้วยความที่ทุกอย่างเริ่มต้นจาก RAP IS NOW ทุกคนเป็นฮิปฮอปแน่นอน คือมันต้องมีความเป็นแร็ปเปอร์อยู่ ไม่ใช่อาร์แอนด์บีมาร้องจ๋าๆ
เราไม่เคยบอกพวกเขาว่า คุณต้องทำเพลงป๊อปนะ หรือต้องไปทางไหน เพราะสุดท้ายเราอยากฟังสไตล์ที่เราตกหลุมรักจนต้องเลือกเขามา เราชอบเขายังไง ก็อยากให้เขาทำแบบนั้นแหละ
มีแทร็ปก็เยอะนะ เพราะมันเป็นที่นิยมในหมู่เด็กรุ่นใหม่ แต่ก็มีหลากหลายสไตล์มาก ทั้งสายไกรม์ (Grime) มีไทยสไตล์ มีสายคลับปาร์ตี้ด้วย มีสายโอลด์สคูลด้วย จริงๆ แล้วใน 11 ศิลปินนี่ มีแนวที่ต่างกันประมาณ 7-8 แนวเลยนะ อาจจะมีที่ซ้ำกันแค่ไม่กี่คน
เนื่องจากความหลากหลายของสไตล์เพลงของแร็ปเปอร์ในโปรเจกต์ แล้วใครเป็นคนที่รับผิดชอบดูแลทิศทางเพลงโดยรวมของ GEMS ครับ
ถ้าถามว่าใครเป็นโปรดิวเซอร์คุมธีม ผมคงเป็นคนนั้นแหละ แต่เราไม่ได้ไปคุมละเอียดถึงขนาดแก้งานของพวกเขาทั้งหมดนะ แต่ก็มีบางคนที่ถูกแก้บ้าง เพราะเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหา อย่างฮิปฮอปที่อาจจะรุนแรงเกินไป ก็มีขอให้แก้
ส่วนเพลง ผมบอกพวกเขาว่า 'ทำสไตล์ที่คุณถนัดในเนื้อหาที่อยากสื่อสารได้เลย' แต่ผมขอไม่เอาเพลงรักแบบป๊อปนะ อยากให้มัน represent attitude ฮิปฮอปจริงๆ ถึงเนื้อหาที่อาจจะเป็นความรักคล้ายบางอย่าง แต่มันต้องเป็น attitude ที่มีความขบถอยู่ในตัวด้วย
เนื่องจากแร็ปเปอร์แต่ละคนมีประสบการณ์การทำเพลงที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาร่วมงานในโปรเจกต์ GEMS มีอุปสรรคหรือความท้าทายอะไรบ้างครับ
พอผมได้ทำงานในอุตสาหกรรมเพลง และได้ร่วมงานกับศิลปินที่อยู่ในวงการอย่างจริงจัง ทำให้ผมเข้าใจอุปสรรคที่ทำให้ฮิปฮอปไทยยังไม่พุ่งไปสักที เช่น เรื่องเนื้อหาที่อาจมีคำฟุ่มเฟือยบางอย่างที่ไม่จำเป็น
ผมว่าปัญหาใหญ่ของแร็ปเปอร์อันเดอร์กราวด์และแร็ปเปอร์อิสระคือการไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาส่งออกไป แฟนเพลงจะฟังหรือเปล่า พวกเขายึดความเป็นอินดี้มากเกินไป นำเสนอในแบบของตัวเอง โดยไม่คิดว่าคนส่วนใหญ่จะรับได้ไหม แค่คิดว่า 'กูอยากทำแบบนี้แหละ จะรับได้หรือเปล่า กูไม่สน'
แต่พอมาทำโปรเจกต์นี้ เราอยากให้เพลงย่อยง่ายขึ้นอีกนิดนึง เลยมีข้อกำหนดว่าทุกเพลงที่จะลงต้องมีเนื้อเพลงให้ด้วย เพราะปัญหาของคนฟังคือฟังเนื้อไม่ออก พอเราขอเนื้อเพลง ปรากฏว่าบางคนไม่ได้จดเนื้อเพลงของตัวเองไว้ หรือแก้เนื้อหน้าไมค์แล้วไม่ได้เก็บไว้ สุดท้ายต้องมานั่งแกะเพลงตัวเองอีกรอบ
ฮิปฮอปเป็นแบบนั้นเพราะมันมีความ freestyle สูง ตอนอยู่หน้าไมค์บางทีศิลปินเปลี่ยนคำที่แต่งไว้ แก้ตรงนั้นเลย แล้วพอเสร็จก็ลืมจดลืมพิมพ์เก็บไว้
ผมเคยไปอยู่ใน session อัดของน้องบางคน แม่งแต่งใหม่ตรงนั้นเลย แล้วก็ไม่ส่งเนื้อที่แก้ใหม่มาให้ผม กลับส่งเนื้อเก่ามา ผมก็เลยต้องถาม 'เฮ้ย คำนี้มันไม่เห็นมีในเพลงที่ส่งมาเลยนะ' เขาก็บอก 'ผมแก้หน้าไมค์ครับพี่'
นี่แหละปัญหา ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเราต้องรู้เลยว่า ถ้าคุณแก้เนื้อเพลงหน้าไมค์ โอเคไม่มีปัญหาหรอก แต่คุณต้องจดเก็บไว้ด้วย
เราทำกันแบบ independent แต่เราลืมนึกถึงว่าถ้าสมมติเพลงมันดังขึ้นมา คนฟังเขาจะไปแกะเนื้อเพลงมึงผิดๆ ถูกๆ ถึงขนาดบางคนไปเช็กเนื้อเพลงใน Spotify แล้วมาบ่นว่า 'พี่ครับ ทำไมเนื้อเพลงผมผิด?’ (เอ้า! ก็มึงไม่ได้ส่งแก้)
โปรเจกต์ GEMS ใช้วิธีการออกผลงานด้วยการทยอยปล่อยเพลงสัปดาห์ละหนึ่งเพลงจนครบ ตรงนี้มีกลยุทธ์การโปรโมทอะไรอยู่เบื้องหลังไหม
จริงๆ มันไม่ได้ซับซ้อน เราหวังว่าอัลกอริทึมจะช่วยเรา ผมทำงานหลังบ้านกับระบบยูทูป ผมก็จะรู้ว่ามันมีเรื่องของ suggest วิดีโอที่ใกล้เคียงกันจะแสดงผลให้คนที่ดูวันนี้จบแล้วคลิกอันนี้ต่อ
ถ้าเราเว้นนานเกินไป มันอาจจะหลุด เพราะว่าเพลงเราไม่ใช่เพลงจากศิลปินดังแน่ๆ เรามีโอกาสหลุดไปจากอัลกอริทึมเยอะถ้าปล่อยห่างกันเกินไป โอกาสที่เพลงในโปรเจกต์เราจะแนะนำกันเองก็จะช้า ความรู้สึกไม่ต่อเนื่อง
ในระบบเราก็เซ็ตให้มันรีเลทกันไว้ให้แนะนำกันไว้ด้วย สแตรทจีนี้มันเหมาะกับศิลปินที่มีแคตตาล็อกเพลงของตัวเองเยอะ หมายถึงศิลปินที่ขยันทำเพลง อันนี้เราพูดถึงในฐานะโปรเจกต์ GEMS ซึ่งระบบนี้เหมาะกับการแนะนำศิลปินใหม่ๆ
เราเรียงเพลงที่มีการผสมผสาน ไม่ใช่แนวเดียวต่อกัน เรียกว่าเป็น "ความหลากหลาย" (differential) ในคอนเทนต์ก็แล้วกัน การนำเสนอจะน่าสนใจมากขึ้นถ้าเรามีเนื้อหาหลากหลายแนว แทนที่จะเป็นแนวเดียวกันตลอด นี่คือกลยุทธ์ของเรา โดยจะปล่อยเพลงออกมาทุกสัปดาห์ไปเรื่อยๆ จนถึงไฮไลต์สำคัญในที่สุด เพลงสุดท้ายของโปรเจกต์ GEMS ที่ทุกคนมาทำเพลงด้วยกัน
พูดถึงเพลงสุดท้ายที่เป็นไฮไลต์ของโปรเจกต์ GEMS
ผมอยากทำ cypher รวมศิลปินโดยมีแนวคิด "hidden gems" ว่าทุกคนเป็นอัญมณีที่ซ่อนอยู่ในวงการฮิปฮอปปัจจุบัน และกำลังจะถูกผลักดันให้เป็นที่รู้จัก โดยรูปแบบจะเป็น cypher ง่ายๆ คือให้แร็ปเปอร์มาแร็ปต่อกัน โปรเจกต์นี้มีศิลปินรวม 11 คน จากทั้งหมด 13 คนที่เราเชิญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมปกติในวงการแร็ป มันคือการมา represent ในสิ่งที่ ตัวเองจะโชว์ความเป็นตัวเอง
หลังจากปล่อยครบทุกเพลง GEMS จะมีโชว์เป็นของตัวเองใช่ไหมครับ
เราอยากจัดโชว์ที่มีไลน์อัพให้มันต่อเนื่อง ในวันนึงก็คือออกมาเป็นฟีลลิ่งเหมือนปาร์ตี้ครับ ก็คือแร็ปเปอร์ทั้งหมดใน GEMS ทั้งหมดจะมาเล่นในงานงานเดียวกัน
เราอยากวัดเหมือนกันว่าถ้าจะขายแค่ตัวที่เฉพาะเจมส์ มันจะบัตรมันจะหมดหรือเปล่า ซึ่งเราไม่ได้จัดใหญ่ เราจัดแบบอบอุ่น
จริงๆ แล้ว ผมว่านี่คือโปรเจกต์ที่มีวงจรชัดเจน จากการพรีเซนต์ตัวตนผ่านเพลง และสุดท้ายจะไปจบที่การแสดงสด ผมอยากให้มีการแสดงสดเป็นตัวปิดท้าย หลังจากที่ทุกคนได้ทำเพลงลงออนไลน์แล้ว เราก็อยากเห็นศักยภาพในการแสดงสด
หลังจากนั้น ถ้าเพอร์ฟอร์แมนซ์หรือตัวศิลปินเหล่านี้ได้รับการตอบรับที่ดี เราอาจจะจัดกลุ่มพาไปแสดงที่อื่นๆ ด้วย อย่างเช่นต่างจังหวัด ตอนนี้เรากำลังพูดคุยกับเครือข่ายต่างๆ รวมถึงกลุ่มแร็ปเปอร์ด้วย สิ่งสำคัญคือการผลักดันศิลปินหน้าใหม่ ไม่ใช่แค่ในซีนเฉพาะกลุ่ม แต่เราจะพยายามขยายให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ
ทุกปีเราได้เห็นแร็ปเปอร์คลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของคุณฮอคกี้ อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้แร็ปเปอร์หน้าใหม่สามารถยกระดับและยืนหยัดในวงการได้
เริ่มต้นที่เพลงก่อน ผมไม่อยากทิ้งความสำคัญเรื่องเรื่องเพลง เราต้องดูที่เพลงเป็นอันดับแรกว่าศิลปินมีกลุ่มผู้ฟังที่ชัดเจนหรือยัง พวกเขาทำเพลงให้ใครฟัง และเพลงอยู่ในตลาดไหน ถ้าเพลงมีฐานแฟนที่ชัดเจนแล้ว นั่นคือผ่านด่านแรก
สิ่งที่เหลือคือเรื่องวินัยส่วนตัว พฤติกรรม และความเป็นมืออาชีพ รวมถึงการรับมือกับอุปสรรค เช่น เมื่อเจอดราม่าหรือกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แล้วผ่านไปได้ นั่นคือบททดสอบสำคัญ
ผมเข้าใจว่าหลายคนผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาด้วยความบอบช้ำทางจิตใจ จากการพูดคุยกับแร็ปเปอร์หลายคน อย่างกรณีของ SARAN ที่หยุดไปพักหนึ่งเพราะถูกวิจารณ์จากการทำ Documentary บอกว่าอายุยังน้อยทำไมต้องมีสารคดีด้วย แต่เขาผ่านเหตุการณ์แบบนี้ไปได้ ก็แสดงว่ากำลังจะก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งแล้ว
เชื่อไหมแร็ปเปอร์ที่ประสบความสำเร็จมีวินัยกันหมด แม้บางคนจะมีภาพลักษณ์ชอบปาร์ตี้ แต่พวกเขาก็มีวินัยทั้งนั้น เราอาจเห็นเพียงภาพลักษณ์ผ่านโซเชียลมิเดีย แต่ไม่รู้เบื้องหลัง ผมไม่แน่ใจว่าเรียกสิ่งนี้ว่าวินัยหรือไม่ บางทีมันคือความหลงใหล (Passion)
สุดท้ายแล้วอยากให้ทุกคนมองภาพ GEMS ว่าอย่างไร
ผมหวังว่า GEMS จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กที่เพิ่งหัดแร็ป หรือพวกที่เริ่มลุยในเลเวลเริ่มต้น
เราก็อยากทำต่อไปเรื่อยๆ นะ พูดตรงๆ เราอยากทำมาก แต่ทุกอย่างต้องพร้อมก่อน ถ้าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เราอาจจะมีทางเลือกอื่นเป็นพื้นที่แสดงออก เพราะสิ่งสำคัญสำหรับศิลปินอิสระ หรือศิลปินทุกคน คือการมีพื้นที่แสดงออกทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
ในขณะที่แนวเพลงอื่นๆ มีเวทีประกวดร้องเพลงหรือพื้นที่คัฟเวอร์เพลงลงยูทูป แต่ฮิปฮอปแทบไม่มีเวทีประกวดเฉพาะทาง คุณไม่สามารถไปแร็ปในการประกวดร้องเพลงชื่อดังได้เลย แน่นอนว่าไม่มีใครรับ ยกเว้นคุณจะมีทักษะการร้องเพลงป็อป
สำหรับผม วงการฮิปฮอปยังค่อนข้างแคบ ดังนั้นถ้ามีคนบอกว่า อยากเข้า GEMS ปีหน้า นั่นแหละคือ success ของพวกเรา
ชมวิดีโอทั้งหมดในโปรเจกต์ GEMS ที่นี่