ประวัติศาสตร์เพลงคันทรี่ ดนตรีมหาชนบ้านนอกอเมริกัน
อเมริกาเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมป็อปของโลกในศตวรรษที่ 20 ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็ยากจะปฏิเสธว่าไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือดนตรีที่ที่เสพกันทั้งโลก มันก็ผลิตจากอเมริกาทั้งนั้น
ในกรณีของภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ที่ฮิตในอเมริกาก็มักจะฮิตกันในโลกด้วย แต่ในทางดนตรี ถ้าเราคิดว่า “คนอเมริกัน” นิยมฟังเพลงเหมือนดนตรีอเมริกันที่ชาวโลกฟัง มันก็คงจะเป็นสิ่งที่ผิดพอสมควร เพราะแนวดนตรีที่ฮิตสุดในอเมริกาในภาพรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันน่าจะเป็นแนวดนตรีที่ทุกวันนี้เรียกร่วมๆ ว่า “คันทรี่”
ซึ่งถ้าลองไปดูการสำรวจว่ารัฐแต่ละรัฐนิยมแนวดนตรีไหนสุดก็จะพบว่า เอาจริงๆ คันทรี่ขึ้นมาอันดับ 1 เลย หรือถ้าไปดูจำนวนสถานีวิทยุที่แยกกันตามแนวดนตรี เราก็จะพบว่าอเมริกามีสถานีวิทยุที่เปิดเพลงคันทรี่มากที่สุด
แต่ทำไมพวกเราถึงไม่มองว่าคันทรี่มันดังอะไรขนาดนั้น? คำตอบพื้นฐานคือเวลาเราเสพวัฒนธรรมอเมริกันเรามักจะเสพวัฒนธรรมจากเมืองใหญ่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ศูนย์กลางมันก็คือแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ค และในเขตเมืองใหญ่ๆ แบบนี้เพลงคันทรี่มันไม่ฮิต แต่จริงๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกามัน “บ้านนอก” สุดๆ
แม้แต่ในทุกวันนี้ ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจข้อเท็จจริงตรงจุดนี้ เราก็จะงงในผลการเลือกตั้งในปี 2016 ที่ Donald Trump ชนะเลือกตั้งได้ ทั้งๆ ที่สื่อฝั่งอเมริกาที่เราติดตามกันทั่วไป ก็ดูจะประสานเสียงด่า Trump ทั้งนั้น และ Trump มักจะได้ฐานเสียงจากคนบ้านนอกอเมริกา ซึ่งคนพวกนี้ก็จะเสพสื่อคนละชุดกับสื่ออเมริกันที่เราคุ้นเคย
ก่อนอื่นให้เราลืมภาพของอเมริกันชนหัวสมัยใหม่ไร้ศาสนาเปิดกว้างทางเพศอะไรพวกนี้ไปเลย เพราะคนอเมริกาส่วนมากที่อยู่อาศัยกับตามบ้านนอกค่อนข้างจะมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมในทุกด้านตั้งแต่เรื่องศาสนายันเรื่องเพศและครอบครัว และคนพวกนี้แหละที่ฟังเพลง “คันทรี่” นี่คืออเมริกาในมุมที่เราไม่ค่อยเห็น แต่คือสิ่งที่เป็นจริงๆ
“เพลงคันทรี่” คือเพลงของคนขาวบ้านนอก และนั่นเองที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “เพลงคันทรี่” มีจักรวาลของมันเองที่ใหญ่โตมากไม่แพ้จักรวาลของดนตรีร็อค คือมี “แนวย่อย” โคตรเยอะ คือจะอะไรดีล่ะครับ จะคันทรี่คาวบอยตะวันตกโบราณ อย่าง Hank Williams ที่ 1 จะเพลงคาวบอยผสมแจ๊สยุคสวิง อย่าง Bob Willis จะคันทรี่ชาวเขาอัปปาเลเชี่ยนโบราณอย่าง Bill Monroe จะคันทรี่คนเมืองผสมร็อคแอนด์โรลอย่าง Johnny Cash จะคันทรี่ยุคคลาสสิคแบบสไตล์แนชวิลล์อย่าง Jim Reeves
จะคันทรี่สไตล์เบเกอร์ฟิลด์ของฝั่งแคลิฟอร์เนียแบบ Buck Owens จะคันทรี่โดยคนขับสิบล้อเพื่อคนขับสิบล้ออย่าง Dave Dudley จะคันทรี่ผสมความขบถของฮิปปี้แบบ Waylon Jennings จะคันทรี่โฟล์คมหาชนแบบ John Denver จะคันทรี่ผสมดนตรีเม็กซิกันแบบ Freddy Fender จะคันทรี่แนว “กลับสู่รากเหง้า” จนดังไประดับโลกแบบ Garth Brooks จะคันทรี่ผสมอัลเทอร์เนทีฟร็อคอย่าง Uncle Tupelo
จะคันทรี่ป็อปยุคคลาสสิคอย่าง Dolly Parton หรือจะเป็นคันทรี่ป็อปร่วมสมัยอย่าง Taylor Swift และนี่ก็ยังไม่ได้พูดถึงพวกคันทรี่ที่เป็นแนวบรรเลงกีต้าร์ที่คนฟังคันทรี่ปกติอาจไม่ฟังกันกว้างขวางอย่าง Danny Gatton หรือพวกตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเล่นคันทรี่หรือพังค์ดีอย่าง The Long Ryders
ประเด็นที่อยากจะกล่าวคือจักรวาลของเพลงคันทรี่มันใหญ่โตมาก ถ้านับประวัติศาสตร์อย่างที่เคลมๆ กัน มันเป็นดนตรีที่อายุเกือบ 100 ปี
คันทรี่อยู่มาตั้งแต่ดนตรีแจ๊สยังเป็นกระแสหลัก มันอยู่ผ่านยุคร็อคเป็นดนตรีกระแสหลัก และตอนนี้ดนตรีฮิปฮอปเป็นดนตรีกระแสหลักไปแล้ว คันทรี่มันก็ยังคงอยู่ดี อยู่มานานขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่มันแบ่งแนวแยกย่อยเยอะสุดๆ และแต่และแนวย่อยๆ มันก็มีเรื่องราวของมันระดับแยกเป็นบทความได้เลยด้วยซ้ำ
จุดร่วมของเพลงคันทรี่อันหลากหลาย
ณ ตรงนี้สิ่งที่คนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับดนตรีพวกนี้ควรจะรู้ก่อนก็คืออะไรคือ “แก่นสาร” ของเพลงคันทรี่? มันคือเสียงกีต้าร์ Telecaster ใสกิ๊ง? มันคือการร้องเสียงเหน่อๆ เหรอ? มันคือเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตในชนบทเหรอ? หรือมันแค่ใส่หมวกคาวบอยร้องก็ถือว่าคันทรี่แล้ว?
เอาจริงๆ ถ้าใครเคยฟังเพลงคันทรี่หลากหลายแบบที่ไม่เคยฟังมาก่อน สิ่งที่ชวนให้มึนงงที่สุดก็คือ เพลงจำนวนมากที่ได้ชื่อว่าเป็น “คันทรี่” มันฟังดูเป็น “เพลงโฟล์ค” “เพลงบลูส์” “เพลงร็อค” หรือกระทั่ง “ฮาร์ดร็อค” โดยเฉพาะถ้าใครฟังคันทรี่ร่วมสมัย เราก็จะรู้สึกว่ามันคือเพลงป็อปร็อคสไตล์อเมริกันดีๆ นี่เอง เพียงแต่คนร้องใส่หมวกคาวบอย ซึ่งในบางกรณีที่ถอดหมวกคาวบอยออก เราฟังไปเราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือเพลงที่นักฟังเพลงคันทรี่เรียกว่าคันทรี่
พูดอีกแบบ ถ้าเราดูทุกวันนี้ เราจะหา “ลักษณะทางดนตรี” เพื่อแยกดนตรีคันทรี่ออกนี่เอาจริงๆ มันยาก เพราะคันทรี่อเมริกันก็เหมือน “เพลงลูกทุ่ง” ไทย ที่อยู่มานาน มีพลวัตรมาก เอาดนตรีโน่นนี่เข้ามาผสมเต็มไปหมด (เพราะถ้าใครฟังลูกทุ่งไทยใหม่ๆ ก็จะเห็นว่าขนาดเอา K-Pop มาผสมยังมีเลย)
แล้วอะไรคือ “เพลงคันทรี่”? เราอาจต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้น เพราะคำๆ นี้จริงๆ มันเป็นคำรวมๆ เรียก “เพลงของคนขาวที่ไม่ใช่คนเมือง” เท่านั้นและคำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาใน “ยุคแรกของเพลงคันทรี่” ด้วยซ้ำ
ดนตรีของเมืองและดนตรีของบ้านนอก
ในประวัติศาสตร์ทางการของเพลงคันทรี่ มันเกิดมาในยุค 1920s โดยมีนักร้องนักกีตาร์นามว่า Jimmie Rogers ได้รับขนานนานว่าเป็น “บิดาแห่งเพลงคันทรี่” แต่ในความเป็นจริง ในยุคนั้น หรือกระทั่งอีก 20 ปีต่อมามันก็ยังไม่มีใครใช้คำว่า “คันทรี่ “ในการเรียก “เพลงของคนขาวที่ไม่ใช่คนเมือง”แต่อย่างใด
ในยุคโน้นเพลงพวกนี้คือเพลงโฟล์คหรือให้ตรงก็คือเพลงพื้นบ้าน ซึ่งมีความต่างกันไปในแต่ละถิ่น โดยหลักๆ แล้วเพลงพวกนี้จะชุกชุมอยู่ในเขตชานเมืองยากจนในทางตอนใต้ๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งโซนพวกนี้คือโซนทำการเกษตรที่เศรษฐกิจไม่พัฒนาเท่าไร ซึ่งต่างจากโซนทางตอนเหนือของอเมริกาที่สังคมพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมกันหมด
แต่ถามว่ามันแค่นั้นเหรอ? ก็ไม่ใช่ เพราะจริงๆ ในยุคโน้น โซนเดียวของอเมริกาที่พัฒนาและมีความเป็นเมืองมากๆ มันมีแต่ตรงส่วนหย่อมเล็กๆ ตรงตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่ในการตั้งรกรากดั้งเดิมของคนขาวเท่านั้น ลงใต้ลงมา หรือไปทางตะวันตกมันไม่พัฒนาเท่าไรถ้าเทียบกันกับโซนที่ว่า
พูดอีกแบบ สำหรับสังคมอเมริกัน 100 ปีที่แล้ว “คนบ้านนอก” คือคนที่ไม่ใช่อยู่ในโซนตะวันออกเฉียงเหนือที่ว่านี้ และสำหรับ “คนเมือง” พวก “คนบ้านนอก” ที่ว่ามันมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่างจากพวกเขาในสารพัดด้าน
ซึ่งที่ชัดในยุค 1920s คือดนตรี เพราะสำหรับคนเมืองหัวทันสมัย ดนตรีที่ทันสมัยในยุค 1920s คือดนตรีแจ๊สที่ยุคนั้นเรียกว่า Swing ซึ่งมันต้องเล่นด้วยวงใหญ่ๆ เครื่องดนตรีเยอะๆ ใช้เครื่องเป่าสารพัด ให้เสียงดังอลังการ และก็ต้องเข้าใจวาดนตรีแจ๊สสมัยนั้นแม้ว่าฟัง ณ ตอนนี้มันจะ “เชย” แค่ไหน แต่ตอนโน้นสถานะทางสังคมมันล้ำและ “ทันสมัย” รวมทั้ง “วัยรุ่น” สุดๆ
ในยุค 1920s แจ๊สคือ “เสียงของเมือง” แต่อีกด้าน สำหรับคนชนบท พวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่มันเงียบๆ ไม่มีเสียงจอแจและคุ้นเคยกับดนตรีพื้นบ้านเท่านั้น ซึ่งดนตรีพวกนี้จะเป็นวงเครื่องสายขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นกีต้าร์ แบนโจ แมนโดลิน หรือกระทั่งไวโอลิน (พวกกีต้าร์ไฟฟ้าและเบสไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึง ยุคโน้นยังไม่มี) มันจะไม่มีเครื่องเป่าใดๆ ประกอบ และที่สำคัญที่สุดมันไม่มีกลองชุด
ซึ่งเพลงแบบนี้แหละที่เขาเคลมว่าเป็น “เพลงคันทรี่” ในยุคแรก ทั้งๆ ที่จริงๆ ในยุคโน้นมันไม่มีชื่อเรียก มันก็เป็นแค่เพลงพื้นบ้านของคนขาวบ้านนอก ที่พวกเขาเองก็ไม่ได้มีชื่อเรียกอะไร แต่พวกคนเมืองจะเรียกเพลงพวกนี้รวมๆ ว่า “เพลงชาวเขา” (Hillbilly Music) ไม่ได้เรียกว่า “คันทรี่” แต่อย่างใด
ชาวเขาและคาวบอย
สำหรับคนเมืองในแถวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ อะไรที่ไกลไปกว่าโซนที่พวกเขาอยู่คือ “บ้านนอก” หมด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้แยกแยะ เพราะ ถัดมาจากชายฝั่งตะวันออก มันคือเทือกเขาอัปปาเลเชี่ยน ซึ่งดั้งเดิมตอนที่อเมริกาตั้งประเทศ คนที่ห่างจากจากชายฝั่งทะเลที่เจริญและมาอยู่แถวๆ เทือกเขานี่ก็ “บ้านนอก” แล้ว เพราะบริเวณนั้นแทบไม่มีคนอยู่อาศัย
แต่หลังจากนั้น ตลอดศตวรรษที่ 19 อเมริกาได้มีการขยายดินแดนไปจนสุดฝั่งทวีปจนเจอมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแถวที่ขยายดินแดนไปใหม่นี่ตอนสมัยต้นศตวรรษที่ 20 มันก็ยัง “บ้านนอก” สุดๆ ขนาดแคลิฟอร์เนียที่ทุกวันนี้รวยที่สุดในอเมริกาสมัยโน้ยยังเป็น “บ้านนอก” อยู่ถ้าย้อนไปราวๆ ร้อยปีที่แล้ว
ในทางประวัติศาสตร์ คนอเมริกันเรียกพื้นที่ที่เลยเทือกเขาอัปปาเลเชี่ยนว่า “ตะวันตก” หมด และคำว่า “ชาวตะวันตก” ในสายตาพวกนิวยอร์กเกอร์สมัยก่อนก็คือพวก “บ้านนอก เช่นกัน แต่มันคนละ “บ้านนอก” กับพวก “ชาวเขา” เพราะในทางวิถีชีวิตพวก “ตะวันตก” มันแนวพวก “คาวบอย”
พวกคาวบอยที่ว่านี้บางทีก็อยู่ใน “เมือง” แต่ก็ต้องเข้าใจว่า “เมือง” ในตะวันตกในที่นี้ก็ไม่ใช่เมืองใหญ่ๆสไตล์มหานครแบบพวกชายฝั่งตะวันออก แต่มันเป็นเมืองเล็กๆ บ้านๆ ซึ่งถ้าจะให้นึกตามง่ายๆ แล้ว อยากให้นึกถึง “อำเภอเมือง” ของจังหวัดในไทยที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ว่ามันเป็น “เมือง” น้อยกว่าอำเภอเล็กๆ ขอบๆ กรุงเทพฯ ด้วยแค่ไหน
และเวลาพูดถึง “เมือง” ในโซนตะวันตกของอเมริกายุคนัน เซนส์มันคือแบบนี้ มันไม่ได้เถื่อนแบบในหนังคาวบอยหรอก แต่มันคนละเรื่องกับนิวยอร์กแน่ๆ
พวกเมืองในโซน “ตะวันตก” มันจะมีพวกโรงเหล้าของคาวบอยอยู่ ซึ่งโรงเหล้าพวกนี้ก็จะเสียงดังๆ บางทีก็จะเป็นซ่องไปในตัวด้วย โรงเหล้าพวกนี้มันมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และคนเรียกมันว่า Honky-tonk ซึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พวกโรงเหล้าพวกนี้ก็จะมีดนตรีในแบบเฉพาะ
คือเป็นดนตรีพื้นบ้าน ที่เพิ่มเปียโนเข้าไป พร้อมทั้งกลองชุดเข้าไปให้เสียงดังขึ้น และเล่นรวมออกมาดังๆ ไม่งั้นมันก็ฟังไม่ได้ยิน เพราะที่นี่คือโรงเหล้า (อยากให้นึกภาพยุคที่ยังไม่มีระบบขยายเสียงเครื่องดนตรีใช้กันแพร่หลาย และบนเวทีมีแค่คนร้องที่มีไมค์ การใช้เครื่องดนตรีอคูสติกประสานกันเยอะๆ คือทางเดียวที่จะทำให้เพลงมันดังพอสำหรับร้านใหญ่ๆ)
ดนตรีพวกนี้ไม่เหมือนดนตรีของพวกชาวเมือง แต่ก็ไม่เหมือนดนตรีของพวกชาวเขา มันก็เลยต้องการชื่อเรียกที่ต่างออกไป และในยุคนั้น ที่ๆ คุณจะฟังดนตรีแบบนี้ได้มันมีแต่โรงเหล้าคาวบอยที่เรียกกันว่า Honky-tonk เท่านั้น เพลงพวกนี้ก็เลยถูกเรียกว่า Honky-tonk ไปโดยคนท้องถิ่น
ส่วนคนเมืองในแดนไกลที่มองเพลงพวกนี้เป็นเพลงของคนบ้านนอกที่อยู่แถบตะวันตกกันไกลโพ้น ขี่ม้า ใส่หมวกคาวบอยบางทีก็จะเรียกเพลงพวกนี้รวมๆ ว่า “เพลงคาวบอย” หรือ Western
ดังนั้นถ้าจะอธิบายง่ายๆ ช่วงประมาณ 1920s-1940s มันไม่มีคำว่า “คันทรี่” ใช้กันแพร่หลาย หรือให้ตรงกว่านั้น มันไม่มีใครเรียกเพลงชนิดใดว่าคันทรี่ และเพลงของคนบ้านนอกมันจะถูกแบ่งเป็นเพลงของพวกชาวเขาไม่ก็พวกคาวบอย
กำเนิดคำว่าคันทรี่
ช่วง 1940s บทเพลงของพวกคนขาวบ้านนอกขยายตัวขึ้นไปพร้อมๆ กับคลิ่นวิทยุสำหรับดนตรีเพื่อคนบ้านนอก ซึ่งยุคนั้นมันเป็นคลื่นที่จะฟังกันในท้องถิ่นซะเยอะ แต่ ณ ตอนนี้ตลาดมันขยายตัวมาจนอุตสาหกรรมดนตรีเริ่มสนใจ “ตลาด” คนขาวบ้านนอกนี้
และสื่อของอุตสาหกรรมดนตรีอย่างนิตยสาร Billboard ก็เลยสร้างชาร์ตใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Country & Western Records Most Played By Folk Disk Jockeys ในปี 1949 เพื่อตอบรับตลาดนี้ และนี่เป็นครั้งแรกที่คนทั่วอเมริกานั้นเริ่มรู้ว่าในโลกของ “เพลงคนบ้านนอก” เขาฟังอะไรกัน
เพราะก่อนหน้านี้ ก็อย่างที่เล่า เพลงพวกนี้ฟังกันอยู่ในท้องถิ่นเท่านั้น คุณอยู่ที่นิวยอร์คหรือนิวเจอร์ซีย์ คุณไม่รู้หรอกว่าคนที่เทนเนสซี่หรือเท็กซัสเขาฟังเพลงอะไรกัน
อยากให้สังเกตชื่อชาร์ตว่าหลักใหญ่ใจความมันคือมันต้องการจะจัด “อันดับเพลงฮิต” โดยพวก DJ ของคลื่นวิทยุบ้านนอก (Folk Disk Jockey) โดยมันเรียกชื่อดนตรีของคนบ้านนอกรวมๆ ว่า Country & Western และนี่ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่คำว่า Country ถูกใช้ในการเรียกดนตรีที่ช่วงก่อนเรียกกันรวมๆ ว่า “เพลงของชาวเขา” หรือ Hillbilly Music
ทำไม Billboard ถึงใช้คำว่า Country แทน Hillbilly? หลักๆ คำว่า Hillbilly เป็นคำที่ใช้แบบเหยียดๆ อยู่แล้ว จะใช้เรียกจริงจังเป็นชื่อแนวเพลงก็ไม่งาม ดังนั้นใช้คำว่า Country ดีกว่า โดยจริงๆ คำนี้ถ้าไปถามนักนิรุกติศาสตร์เขาก็จะบอกว่าจริงๆ มันเพิ่งปรากฎในช่วงต้นๆ 1940s เท่านั้นเอง โดย Billboard ก็ได้หยิบยืมคำๆ นี้มาใช้ในปี 1949 เพื่อเรียกเพลงของคนขาวบ้านนอก
ซึ่งข้อสังเกตคือในปีเดียวกันนิตยสาร Billboard ก็ได้เปลี่ยนชื่อชาร์ตของเพลงคนดำจาก Race Music มาเป็น Rhythm & Blues Records ด้วย เพื่อให้มันฟังดูไม่ “เหยียด” จนเกินไปในมาตรฐานของยุคอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังนั้นมันก็ไม่แปลกเท่าไรที่มันจะมีการเปลี่ยนศัพท์แสงในการเรียกดนตรีของคนขาวบ้านนอกแบบเคารพขึ้น เพราะแม้แต่เพลงของคนดำมันก็มีการเปลี่ยนศัพท์แสงเช่นกัน
และก็นี่แหละครับต้นกำเนิดของ “คันทรี่” เบื้องต้น ถ้าพูดในภาษาปัจจุบัน คือมันเป็นคำที่ “ถูกต้องทางการเมือง” (Politically Correct) ของคำว่า “ชาวเขา” (Hillbilly) นั่นเอง
แต่ตรงนี้ สิ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ ณ ตอนนี้ คำว่า Country กับ Western ยังเป็นดนตรีคนละแบบกัน และกว่า Billboard จะเปลี่ยนชื่อชาร์ตเป็น Hot Country Singles หรือตัดคำว่า Western ออก ก็ปาเข้าไปปี 1962
และระหว่างนั้นเอง “เพลงคันทรี่” แบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันก็เกิดขึ้น ซึ่งคันทรี่แบบใหม่นี้มันเป็นคันทรี่แบบมหาชนคนบ้านนอกที่ก้าวข้ามความต่างระหว่างชาวเขากับคาวบอย ดังนั้นมันจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเรียก “คันทรี่เวสต์เทิร์น” อีก และเรียก “คันทรี่” เฉยๆ ก็พอ เป็นที่รู้กันว่าคือเพลงของคนขาวบ้านนอก และถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบสั้นๆ คือร็อคแอนด์โรล
กำเนิดเพลงคันทรี่ในฐานะกระแสต้านร็อคแอนด์โรล
ในช่วง 1950s สิ่งมหัศจรรย์ทางดนตรีได้เกิดขึ้น ดนตรีร็อคแอนด์โรลในเวอร์ชั่นแรกที่เรียกว่าร็อกอะบิลลี่ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งดนตรีแบบนี้ถ้าจะอธิบายง่ายๆ มันคือการเอาดนตรีของคนชายขอบของสังคมอเมริกัน 2 อย่างมารวมกัน คือเอาเพลงของ “ชาวเขา” กับเพลงของ “คนดำ” มารวมกัน หรือพูดง่ายๆ คือเอา “คันทรี่” ของคนขาวมาผสมกับพวกบลูส์แบบสนุกๆ ของคนดำ
สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ดนตรีแบบใหม่นี้ดังระเบิดในเมืองใหญ่ๆ ที่ตอนนั้นคนเบื่อแจ๊สกันแล้ว แต่ปัญหาคือคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกคนเมืองที่เป็นคนขาวไม่แฮปปี้เลย เพราะคนดำก็รู้สึกว่าคนขาวขโมยเอาดนตรีตัวเองไป ส่วนคนขาวบ้านนอกก็รู้สึกว่าคนขาวเมืองขโมยดนตรีของตัวเองไปเช่นกัน
และที่มัน “รบกวนจิตใจ” ของเหล่าคนขาวบ้านนอกมากๆ คือกลุ่มคนฟังดั้งเดิมเพลงคันทรี่นั้นมักจะเป็นคนหัวอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนา แต่พอเกิดร็อคอะบิลลี่ มันคือเอาเอาเพลงในแบบที่คนหัวอนุรักษ์ชอบฟังไปรับใช้ค่านิยมทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ไปจนถึงเรื่องเพศยันยาเสพติด
พูดในมุมคนบ้านนอกอเมริกันก็คือ พวกคนเมืองเหมือนเอารูปแบบเพลงพื้นบ้านที่มีความสำรวมในจารีตไปใส่เนื้อร้องที่ทะลึ่งของพวกหัวสมัยใหม่ และที่สำคัญกว่านั้น คือการเต้นแบบที่ไม่สำรวมแน่ๆ อันเป็นจุดขายสำคัญสุดๆ เลยของดนตรีร็อคแอนด์โรล แต่ทำยังไงได้ สุดท้ายร็อคแอนด์โรลมันดันดังระเบิด ไม่ใช่แค่ในอเมริกา แต่มันดังไปทัวโลก
ความดังของร็อคแอนด์โรลนั้นทำให้การร้องแบบติดลูกคอและองค์ประกอบต่างๆ ของเพลงคันทรี่ดั้งเดิมกระจายไปทั่วโลกด้วย แต่ชาวโลกไม่ได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้คิดว่ามันคือการร้องแบบคันทรี่ และนี่ทำให้ “เพลงคันทรี่” เกิดวิกฤติด้านตัวตนสุดๆ เพราะมันมีแนวดนตรีรุ่นน้องโผล่มาจากไหนไม่รู้ ที่หยิบยืมองค์ประกอบของคันทรี่ไป และสร้างดนตรีที่ดังไปทั่วโลกในที่สุด
วิกฤติตัวตนนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายว่าเพลงคันทรี่ควรจะไปทางไหน โดยพวกหนึ่งก็บอกว่าต้องกลับไปหาจารีต คือจะไม่ใช้กลองชุด ไม่ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าพวกร็อคร็อคแอนด์โรล อีกพวกก็บอกว่า เราก็เล่นดนดนตรีแบบเดิมไปแหละด้วยเครื่องดนตรีใหม่ๆ หรือพูดอีกแบบก็คือต้องยอมรับอิทธิพลร็อคแอนด์โรล ยอมรับเครื่องดนตรีไฟฟ้า ยอมรับว่าดนตรีต้องมีกลองชุด และต้องทำให้ดนตรีคันทรี่ทันสมัย
ผลสุดท้าย พวกที่ชนะดูจะเป็นพวกหลังโดยฐานของพวกหลังอยู่ที่เมืองแนชวิลล์รัฐเทนเทนซี่ โดยพวกนี้มองว่าคันทรี่ต้องเข้าสู่ยุคใหม่ จะร้องเหมือนเดิมก็ได้ แต่ต้องเรียบเรียงกีต้าร์ไฟฟ้าใส่ลงไป เบสไฟฟ้าใส่ได้ก็ใส่ และแน่นอนจะไม่มีกลองในเพลงอีกต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มาตรฐานปัจจุบันยังไงดนตรีมันต้องมี แต่ก็ตีเบาๆ ไปเพื่อรักษาความสำรวมและนุ่มนวลของคันทรี่ไว้ โดยที่สำคัญที่สุด การบันทึกเสียงจะต้องทำให้มันออกมาชัดแจ๋ว โปรดักชั่นต้องดีไม่แพ้เพลงของพวกคนเมือง ไม่ใช่บันทึกเสียงออกมาดิบๆ บ้านๆ แบบยุคก่อนๆ
ซึ่งผลคือพวกคันทรี่สไตล์แนชวิลล์กลายมาเป็น “คันทรี่มหาชน” ครั้งแรกช่วงต้นยุค 1960s หรือพูดอีกแบบก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่มันมีเพลงคันทรี่แบบเดียวที่คนชนบททั่วอเมริกาฟังร่วมกัน ไม่ใช่ฟังเพลงต่างกันไปตามพื้นถิ่นแบบยุคก่อนหน้า และมันก็ดังระเบิดจริงๆ
และที่เป็นแบบนี้ก็ไม่ใช่เพราะระบบผลิตเพลงที่แนชวิลล์มันดีเท่านั้น แต่เพราะในอเมริกา การกระจายคลื่นวิทยุช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ดีขึ้นมากและมันทำให้เกิดคลื่นวิทยุที่สามารถฟังได้ทั่วอเมริกาเป็นครั้งแรก และนี่เลยทำให้เพลงคันทรี่รูปแบบใหม่ที่ดังในช่วงนั้นแบบสไตล์แนชวิลล์กลายมาเป็นปรากฎการณ์ระดับชาติ และทำให้แนชวิลล์น่าจะกลายเป็น “เมืองหลวงของคันทรี่” อย่างเป็นทางการ
การขึ้นมามีอำนาจกำหนดทิศทาง “เพลงคันทรี่” ของแนชวิลล์ในช่วง 1960s มีความสำคัญมาก เพราะมันทำให้เพลงที่เคย “หลากหลาย” สุดๆ กลายมาเป็นมีมาตรฐานเดียว และมาตรฐานที่ว่าก็คือมาตรฐานของอุตสาหกรรมผลิตเพลงคันทรี่ที่แนชวิลล์
บทสรุปคันทรี่ที่หลากหลาย
อุตสาหกรรมดนตรีคันทรี่ที่แนชวิลล์ทรงพลังมากๆ ตลอด 1960s มันทำให้เพลงคันทรี่มีมาตรฐานเดียวหรือจะเรียกว่าเป็น “ยุคคลาสสิค” ก็ได้
อย่างไรก็ดี ถึงจุดหนึ่ง แนวทางการผลิตดนตรีแบบนี้มันมีแต่ความซ้ำซาก และนักดนตรีกลุ่มหนึ่งก็ออกมา “ประกาศอิสรภาพ” ไม่ขึ้นกับอุตสาหกรรมดนตรีที่แนชวิลล์อีก โดยขบวนการของนักดนตรีกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในภายหลังในชื่อ Outlaw Country ในช่วงต้น 1970s
Outlaw Country ไม่ใช่แนวดนตรีเท่ากับการปฏิเสธการมี “มาตรฐานเดียว” ของคันทรี่ของแนชวิลล์ ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่าคันทรี่สไตล์แนชวิลล์มันอยู่ได้ด้วยความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับ “ดนตรีร็อค” ตลอดยุค 1960s เพราะในขณะที่นักดนตรีร็อคจะผมยาวรุงรัง หนวดเคราเฟิ้ม เล่นกีต้าร์เสียงแตก ร้องเพลงเกี่ยวกับยาเสพติด พวกคันทรี่ในยุคเดียวกันจะหวีผมเรียบ ไร้หนวดเครา ใส่สูท แต่งตัวเรียบร้อย ดนตรีจะไม่มีความอีกทึกคึกโครม กีต้าร์เสียงแตกไม่มี มีแต่ความนุ่มนวล
สิ่งที่ Outlaw Country ทำก็คือก็องค์ประกอบของดนตรีร็อคและวัฒนธรรมดนตรีร็อคมาใส่ในเพลงคันทรี่ หรือพูดอีกแบบคือ ในขณะที่พวกนี้เล่นดนตรีเพื่อขายคนชนบท พวกนี้จะไม่ยอมใส่สูทและทำตัวเรียบร้อยอีกแล้ว แต่จะทำตัวที่ดูภายนอกเป็น “ชาวร็อค” เลย คือผมยาว มีหนวดเครา ดื่มเหล้าเมายาและเขียนเพลงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ โดยทำดนตรีที่ดุเดือดขึ้น (แน่นอนว่าในมาตรฐานคันทรี่)
การประกาศอิสระภาพนี้คงไม่มีใครสนใจถ้ามันไม่เปลี่ยนเป็นยอดขาย แต่ในความเป็นจริงอัลบั้มรวมเพลง Wanted! The Outlaws ในปี 1976 ที่ประกาศศักดาของแนวทาง Outlaw Country มันเป็นอัลบั้มคันทรี่แรกของอเมริกาที่ขายได้ 1 ล้านแผ่น หรือพูดง่ายๆ นี่คือการหันไปชูนิ้วกลางใส่อุตสาหกรรมคันทรี่ที่แนชวิลล์อย่างสวยงาม ทำให้คนรู้สึกว่าการเป็นคันทรี่ในรูปแบบตายตัวมันต้องจบ มันต้องเป็นอะไรก็ได้
และนับแต่ Wanted! The Outlaws เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ราว 45 ปี เพลงคันทรี่ก็แตกแขนงไปสารพัด คือมันไม่มีมาตรฐานหรือศูนย์กลางการผลิตเพลงคันทรี่แบบยุคแนชวิลล์แล้ว เพลงคันทรี่มีความหลากหลายและคาบเกี่ยวกับแนวอื่นๆ เต็มไปหมด โดยจุดร่วมมันหลักๆ มีอย่างเดียวคือมันเป็นดนตรีที่ทำมาขาย “คนบ้านนอก” อเมริกันที่มีวิธีคิดและวิถีชีวิตต่างจากคนในเมืองใหญ่ๆ
และถามว่าทำไมดนตรี “คันทรี่” มันถึงดูอยู่ยงคงกระพันในสังคมอเมริกันยิ่งกว่าดนตรีแนวอื่นๆ ทั้งก่อนหน้ามันอย่างแจ๊สและหลังจากมันอย่างร็อค คำตอบก็กลับไปเรื่องวิถีคิดและทัศนคติที่ต่างกันของ “คนบ้านนอก” กับ “คนเมือง” ที่ยังไม่หายไปไหน
เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่หายไป ดนตรีของคนเมืองนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใดก็ย่อมไม่มีทางตอบโจทย์คนบ้านนอก และดนตรีคันทรี่ก็ยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับสถาบันที่ค้ำจุนมันมาตลอดอย่างโรงเหล้าทางใต้ไปจนถึงสถานีวิทยุเพลงคันทรี่
Guest Writer : FxxkNoEvil