ส่องความหมาย "Dandelion and Burdock" เครื่องดื่มหายากที่ปรากฏในเพลง "Suck It and See" ของ Arctic Monkeys
"Suck It and See" ของวง Arctic Monkeys ปล่อยให้ฟังครั้งแรกเมื่อปี 2011 แต่งโดยฟรอนต์แมน ‘อเล็กซ์ เทอร์เนอร์’ ซึ่งเป็นบทเพลงที่บรรยายความรู้สึกของการตกหลุมรักคนที่อาจไม่มีใจให้เขา
แม้ว่าการพูดเรื่องความรักในบทเพลงจะเป็นเรื่องซ้ำซากจำเจ แต่สำหรับอเล็กซ์แล้ว เขาเลือกใช้เทคนิคการเปรียบเปรยด้วยสำนวนต่างๆ จนทำให้เพลงรักของวง Arctic Monkeys มีความงดงามราวกับบทกวี
อเล็กซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากปล่อยเพลง "Suck It and See" มักมีคนมาถามเขาว่า “dandelion and burdock” ซึ่งอยู่ในท่อนเวิร์สแรกของเนื้อเพลงคืออะไร
“…You're rarer than a can of dandelion and burdock
And those other girls are just post-mix lemonade…”เธอนั้นหายากยิ่งกว่า dandelion and burdock
ส่วนผู้หญิงคนอื่นๆ ก็เป็นเพียงแค่น้ำมะนาวทั่วไป
จริงๆ แล้ว Dandelion and Burdock ก็คือดอกแดนดิไลอ้อนและหญ้าเจ้าชู้ เป็นชื่อของเครื่องดื่มโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคกลางบริเวณหมู่เกาะอังกฤษ โดยมีประวัติว่าบาทหลวง Thomas Aquinas เริ่มนำพืชทั้ง 2 ชนิด มาสกัดเป็นเครื่องดื่ม เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
จนกระทั่งในปี 1871 โรงงานแห่งหนึ่งในเมืองฮัดเดอส์ฟีลด์ ได้ทำเครื่องดื่มรสชาติ Dandelion and Burdock ต่อมามีหลายบริษัททำตาม โดยจะต้องนำเข้าวัตถุดิบซึ่งก็คือพืชทั้งสองชนิดนี้จากไอร์แลนด์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Dandelion and Burdock ไม่ใช่เครื่องดื่มที่หาซื้อได้ง่าย เรียกว่าเป็น ‘สินค้าแรร์’ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะผลิตโดยโรงงานเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ครั้งหนึ่งอเล็กซ์บอกว่าเขามีโอกาสได้ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ “ผมไม่สามารถอธิบายรสชาติของมันได้เลย รู้แค่ว่าไม่ใช่สิ่งที่จะได้ชิมบ่อยๆ หรอก"
อเล็กซ์นำเครื่องดื่มเก่าแก่ตั้งแต่สมัยยุคกลางมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง เพื่อบรรยายถึงหญิงสาวที่ทำให้เขารู้สึกว่า “คนแบบเธอน่ะหายากมากๆ” เหมือนกับเครื่องดื่ม Dandelion and Burdock นั่นแหละ ส่วนผู้หญิงคนอื่นๆ ก็เหมือนกับน้ำมะนาวที่มีขายทั่วไป
นอกจากนี้เคยมีแฟนเพลง Arctic Monkeys ตามหาเครื่องดื่มชนิดนี้มาลิ้มลอง โดยบอกว่ารสชาติเหมือนกับหมากฝรั่ง ซึ่งการจะได้ดื่มแบบรสชาติออริจินัลในยุคนี้นั้นแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว
สำหรับใครที่อยากชิมเครื่องดื่มหายาก Dandelion and Burdock ปัจจุบันมีจำหน่ายในเว็บไซต์ ebay ราคาตั้งแต่ 400-2,000 บาท
Story By: ตติ